จากกรณีแนวคิดการสร้างเขื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาสารพิษในแม่น้ำกก จ.เชียงราย ล่าสุด วันนี้ (22 พ.ค.2568) รศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.นเรศวร กล่าวว่า แนวคิดของการแก้ปัญหาสารปนเปื้อนในแหล่งน้ำผิวดินในลำห้วย หรือแม่น้ำ จากกรณีปนเปื้อนจากเหมืองแร่ในอุตสาหกรรมวิธีการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนที่ถูกต้องสามารถทำได้
- "องค์กรแม่น้ำฯ" จี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหา "เหมืองแรร์เอิร์ธ" ก่อนมลพิษแม่น้ำกกจะวิกฤต
- "แม่น้ำกก" วันนี้เหมือน "คลิตี้" ในวันวาน
- ด่วน! สคพ.1 ตรวจพบ “สารหนู” แม่น้ำกก อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่
จุดสำคัญ คือ แก้ด้วยการหยุดการปลดปล่อยการรั่วไหลจากแหล่งกำเนิด ถ้าสามารถทำได้ควรทำสิ่งนี้ก่อน เช่น กรณี บ.คลิตี้ จ.กาญจนบุรี ก็เริ่มหยุดจากแหล่งกำเนิดเหมืองแร่ให้ได้ก่อน
กรณีแม่น้ำกก ถ้าต้นน้ำมาจากทางเมียนมา ต้องหยุดการปลดปล่อยหรือรั่วไหลให้ได้ก่อน ถ้าจะสร้างอะไรกักเก็บต้องไปสร้างในฝั่งเมียนมา
ควรสร้างบริเวณต้นน้ำใกล้เหมืองไม่ให้ไหลเข้าสู่ประเทศไทย และมากักที่ไทย ถ้ามองตามหลักวิชาการสิ่งที่ไหลปนเปื้อนในแหล่งน้ำก็ต้องมีวิธีการจัดการ
รศ.ดร.ธนพล กล่าวถึงวิธีการแก้สารพิษในแม่น้ำ หรือ ลำห้วย มี 2 วิธี คือ วิธีแรก คือ การครอบตะกอนปนเปื้อนไว้ใต้ดิน และวิธีที่ 2 คือ การทำตัวดักตะกอนโดยสามารถทำได้ทั้ง 2 แบบ

กรณีเหมืองคลิตี้ เป็นการปนเปื้อนปล่อยของลงมาลำห้วยมี โดยมีตะกั่ว 20,000 - 40,000 ตัน และเมื่อมาผสมกับตะกอนดินจะมีปนเปื้อนรวมมากกว่า 200,000 ตัน ประเด็นในขณะนั้นบ่อแร่ของคลิตี้ยังรั่วหรือไม่ ถ้ายังรั่วตะกั่วก็ยังมีต่อซึ่งจะทำให้มีฝายดักตะกอนทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพเพราะยังปนเปื้อนต่อไปเรื่อย ๆ
ประเด็นของฝายดักตะกอน คือ การออกแบบ ถ้าเทคโนโลยีไม่สามารถทำงานได้ ก็ต้องออกแบบให้ถูก
กรณี บ.คลิตี้ ใช้การออกแบบฝายดักตะกอนขนาดใหญ่ทั้งหมดทั่วไป ซึ่งตะกอนที่รั่วมาจาก บ.คลิตี้ เป็นตะกอนขนาดเล็กมากอยู่ในระดับไมครอนจึงทำให้ฝายไม่สามารถตักได้ทั้งหมดทำให้ตะกั่วเล็ก ๆ หลุดมาได้ และเกิดการปนเปื้อน เมื่อเกิดน้ำหลาก ตะกอนที่โดนดักไว้สามารถฟุ้งกระจายได้ และการดูดก็ไม่สามารถดูดตะกอนได้ทันเวลาเมื่อตั้งงบประมาณมาดูดตะกอนก็ไม่สามารถดูดได้ตามระยะเวลาจึงมีการแพร่กระจายของตะกอนสารพิษเกิดขึ้น
คำถามฝายของคลิตี้ ดักตะกอนได้หรือไม่ คำตอบ คือ ดักได้แต่อาจจะดักได้เป็นตะกอนขนาดใหญ่และขนาดกลาง แต่ขนาดเล็กที่มีตะกั่วปนเปื้อนสูงก็หลุดรอดมาตามลำห้วยได้
สารหนูละลายน้ำ ฝายหรือเขื่อนไม่สามารถช่วยได้
รศ.ดร.ธนพล กล่าวอีกว่า กรณีการสร้างฝายดักตะกอนในแม่น้ำกกต้องถามว่าถ้ากังวลเรื่องสารหนู ก็ตั้งคำถามว่า เป็นสารหนูละลายน้ำ หรือ สารหนูเป็นอนุภาค ถ้าเป็นสารหนูที่เป็นอนุภาคขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่เป็นข้อมูลที่ยังขาดอยู่ในตอนนี้ ถ้าเป็นตะกอนที่เป็นอนุภาคสารหนูอนุภาคขนาดใหญ่อาจใช้ฝายดักตะกอนดักได้ แต่ถ้าเป็นขนาดเล็กระดับไมครอนต้องเป็นฝายขนาดใหญ่และต้องออกแบบดี ๆ และคำนวณว่าต้องสามารถดักได้ดี ๆ
ถ้าเป็นสารหนูละลายน้ำตรงนี้จบเลย ไม่สามารถดักสารหนูได้เลย หรือ จะทำคล้าย ๆ ฝายดูดซับสารหนู ที่สามารถกรองได้ ถ้าเป็นตัวที่ละลายน้ำที่สำคัญสุดต้องออกแบบให้ถูกให้เหมาะสมกับขนาดพื้นที่ด้วย
ปัญหาที่ บ.คลิตี้ ไม่มีการออกแบบคำนวณทางวิศวกรรม ประสิทธิภาพจึงไม่ดีทำให้ฝายดักตะกอนทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพหรือไม่สามารถแก้ปัญหาได้

ส่วนกรณีภาครัฐเสนอการสร้างเขื่อน ส่วนตัวมองว่า เสนอเป็นแนวคิดคงได้แต่ต้องเทียบเรื่องของการออกแบบเขื่อนตัวนี้สามารถตักได้ขนาดไหน แต่ถ้าเป็นสารหนูที่ละลายน้ำยืนยันว่า เขื่อนไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาได้ หรือเป็นสารหนูที่มีขนาดเล็กมากเขื่อนก็ไม่สามารถช่วยดักสารพิษเหล่านี้ รศ.ดร.ธนพล กล่าว
“ตั้งรับจนล้น “รัฐบาลไร้แผนหยุดสารพิษข้ามแดน “ฝาย” ไม่ได้แก้ต้นเหตุ
ด้าน ดร.สืบสกุล กิจนุกร อาจารย์ประจำสำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง แสดงความกังวลถึงแนวทางที่รัฐบาลไทยใช้ในการรับมือกับปัญหามลพิษข้ามพรมแดนจากแม่น้ำกกและแม่น้ำสายใน จ.เชียงราย โดยชี้ว่า มาตรการของรัฐเป็นเพียง “การตั้งรับ” และยังขาดความมุ่งมั่นในการแก้ไขที่ต้นเหตุอย่างแท้จริง
รัฐบาลไทยเสนอแผนแก้ปัญหาใหญ่ 2 แนวทาง คือ ปรับปรุงเหมืองในประเทศเมียนมาให้ได้มาตรฐาน และสร้างเขื่อนกรองสารพิษในแม่น้ำแต่ ดร.สืบสกุล ตั้งข้อสังเกตว่า ทั้ง 2 แนวทางเป็นเพียงวาทกรรมเชิงนโยบาย ที่พยายามหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยยอมรับว่าปัญหานี้ “ซับซ้อนเกินไป” ที่จะแก้ไขผ่านการเจรจา ซึ่งสะท้อนถึงความไม่กล้าตัดสินใจและขาดเจตจำนงทางการเมืองในการเข้าจัดการต้นตอปัญหา
ต้นตอเหมือง ใครคือผู้ก่อมลพิษตัวจริง ?
การทำเหมืองต้นน้ำในฝั่งเมียนมาเกิดขึ้นโดยไร้การควบคุม ไม่ชัดเจนว่า เป็นฝีมือของเมียนมา กลุ่มชาติพันธุ์ หรือกลุ่มทุนใด แต่มีข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมชี้ว่า บริษัทจากจีน มีบทบาทสำคัญ โดยเริ่มจากรัฐคะฉิ่น แล้วค่อย ๆ ย้ายฐานการผลิตลงสู่รัฐฉานซึ่งติดกับพรมแดนไทย
จีนเคยประสบปัญหาสิ่งแวดล้อมจากเหมืองแร่ภายในประเทศ และเมื่อรัฐบาลจีนเข้มงวดกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น บริษัทต่าง ๆ จึงย้ายฐานไปยังประเทศที่กฎหมายหลวมกว่า และมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์อย่างเมียนมา
ดร.สืบสกุลจึงตั้งคำถามว่า “เมื่อจีนไม่อยากทำแล้ว เหตุใดไทยจึงหวังจะให้จีนหรือเมียนมาปรับปรุงเหมืองให้ได้มาตรฐาน ?”
เขื่อนกรองสารพิษแค่นวัตกรรมบนกระดาษ
แนวคิดสร้าง “เขื่อนกรองสารพิษ” หรือ “ฝายดักตะกอน” ที่รัฐไทยเสนอ ยังไม่มีต้นแบบหรือนวัตกรรมที่ชัดเจนว่าใช้ได้จริง แม้จะฟังดูดีในทางทฤษฎี แต่ไทยเองก็มีบทเรียนจากการทำเหมือง เช่น กรณีเหมืองทองคำ ที่ยังสร้างผลกระทบแม้จะมีกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวด
ตัวอย่างจาก ลำห้วยคิตตี้ล่าง จ.กาญจนบุรี แสดงให้เห็นว่า แม้จะมีการขุดตะกอนปนเปื้อนกว่า 40,000 ตัน แต่ก็ยังไม่สามารถจัดการได้ดี คล้ายกับสถานการณ์ในลำน้ำกก และแม่น้ำสาย ซึ่งมีสารโลหะหนักปนเปื้อนตลอดแนวยาวกว่า 100 กม. แต่กลับไม่มีแผนการจัดการสารพิษเหล่านี้อย่างเป็นระบบ
ขาดข้อมูลสำคัญอุปสรรคการเจรจาระดับนานาชาติ
ดร.สืบสกุลเน้นว่า รัฐบาลไทยยังขาดข้อมูลพื้นฐาน 3 ด้านหลัก ที่จำเป็นต่อการแก้ปัญหาและการเจรจา คือ ข้อมูลพื้นที่เหมืองและชนิดของแร่ ภาพถ่ายดาวเทียมจากจิสด้า แม้จะแสดงพื้นที่เหมือง แต่ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าเป็นแร่ชนิดใด และปล่อยสารพิษอะไรออกมาบ้าง

ดร.สืบสกุล กิจนุกร อาจารย์ประจำสำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
ดร.สืบสกุล กิจนุกร อาจารย์ประจำสำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
ข้อมูลห่วงโซ่แร่ ต้องรู้ว่าใครเป็นผู้ขุด ใครส่งออก ใครนำเข้า เส้นทางแร่เดินทางไปประเทศใด เพื่อระบุตัวผู้รับผิดชอบต่อผลกระทบ
ข้อมูลการนำเข้าแร่ผ่านไทย เช่น แร่ตะกั่วและแมงกานีสที่ผ่านด่านแม่สาย หากสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าแร่มาจากแหล่งใด และมีสารปนเปื้อนตรงกับที่พบในลำน้ำ ก็จะเป็นหลักฐานสำคัญในการเจรจากับประเทศต้นทาง
ปัญหาสิ่งแวดล้อมจาก “เทคโนโลยีสีเขียว”
การขุดแร่ Rare Earth และแร่โลหะหนักเพื่อรองรับอุตสาหกรรม “เทคโนโลยีสีเขียว” กลับก่อมลพิษข้ามพรมแดน ซึ่งขยายตัวอย่างเงียบๆ ทั้งในแม่น้ำกก แม่น้ำสาย และแม่น้ำโขง ส่งผลต่อหลายประเทศในภูมิภาคอุษาคเนย์
นี่ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะเมียนมา แต่มันกลายเป็นปัญหาระดับโลก
ดร.สืบสกุลย้ำว่า ไทยจำเป็นต้อง เปลี่ยนจากการตั้งรับ เป็นการเจรจาเชิงรุกกับทั้งเมียนมา จีน และประเทศที่เกี่ยวข้อง พร้อมเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส และเปิดใจกว้างต่อการร่วมมือทุกฝ่าย รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีบทบาทในพื้นที่
หากรัฐบาลไทยยังไม่เปลี่ยนท่าที และยกระดับการเจรจาต่อรองอย่างจริงจัง วิกฤตมลพิษข้ามพรมแดนนี้จะยิ่งทวีความรุนแรง และส่งผลกระทบในระดับภูมิภาคอย่างไม่อาจควบคุมได้
อ่านข่าว : "ภูมิธรรม" ดันสร้างเขื่อนแม่น้ำกก-สาย ป้องกันสารปนเปื้อน
สธ.เฝ้าระวัง "สารหนู-ตะกั่ว" ปนเปื้อน "แม่น้ำกก" พบเกินมาตรฐานหลายจุด
นายกฯ สั่งด่วนเร่งแก้สารปนเปื้อน "แม่น้ำกก"