ทำไมต้องมีเงินสำรองฉุกเฉิน คำถามที่หลายคนสงสัย ? สถาบันการเงินในประเทศไทยหลายแห่งให้ข้อมูลสอดคล้องในทางเดียวกันว่า เงินสำรองฉุกเฉินคือเงินออมก้อนแรกที่ทุกคนควรมี โดยเป็นเงินเก็บที่สามารถนำมาใช้ได้ทันทีหากมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น หรือมีเหตุจำเป็นต้องใช้เงินอย่างกะทันหันเร่งด่วนซึ่งไม่สามารถวางแผนล่วงหน้าได้
ลักษณะสำคัญของเงินก้อนนี้คือ ต้องมีสภาพคล่องสูง และ สามารถเบิกถอนได้ในทันที ตัวอย่างเหตุการณ์ที่ต้องใช้เงินสำรองฉุกเฉิน เช่น การเข้าโรงพยาบาล, การเกิดอุบัติเหตุ, การซ่อมรถยนต์, การตกงานกะทันหัน, หลังคาบ้านรั่ว, ผ่าตัดไส้ติ่ง หรือแม้กระทั่งเงินเดือนไม่พอใช้ระหว่างเดือน

ภาพประกอบข่าว
ภาพประกอบข่าว
พนักงานธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง ให้ข้อมูลกับไทยพีบีเอสออนไลน์ ชี้ให้เห็นว่า การวางแผนทางการเงิน โดยที่ไม่มีเงินสำรองฉุกเฉินอยู่ในแผน จะทำให้ไม่มีมาตรการรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด และส่งผลต่อการสูญเสียโอกาสในด้านต่าง ๆ เช่น โอกาสในการหารายได้, การไม่สามารถเลี้ยงดูครอบครัว, หรือการสูญเสียโอกาสในการศึกษาของลูก ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาทางการเงินที่แก้ไขได้ยาก
การมีเงินสำรองเอาไว้สำหรับเหตุฉุกเฉินจึงถือเป็นทางออกที่สำคัญ โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจซบเซาหรือเกิดวิกฤต ที่แม้รายได้จะหดหาย แต่ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นยังคงอยู่
นอกจากนี้ ยังได้ขยายความถึงความสำคัญของเงินสำรองฉุกเฉินในหลายด้าน
ประการแรกคือ ช่วยลดความเครียดด้านการเงิน หลายคนมักมองข้ามการเก็บเงินสำรองฉุกเฉินเพราะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่เมื่อเกิดปัญหาขึ้นจริง จำเป็นต้องนำเงินส่วนอื่นมาใช้ ทำให้แผนการใช้เงินต้องเปลี่ยนแปลงฉับพลันและเกิดความเครียดทางการเงินในใจตัวเองขึ้นได้
ประการที่สอง ช่วยควบคุมการใช้จ่าย การหักเงินบางส่วนไว้เป็นเงินสำรองฉุกเฉินทันทีที่ได้รับเงิน จะทำให้รู้จำนวนเงินที่เหลืออยู่มีจำกัด ซึ่งจะช่วยให้คิดและไตร่ตรองในการใช้จ่ายมากขึ้น
ประการที่สาม ช่วยให้วางแผนทางการเงินดีขึ้น ด้วยการแบ่งแยกกองเงินสำรองฉุกเฉินไว้ตั้งแต่แรก จะช่วยให้ภาพรวมของการเก็บออมมีโอกาสสำเร็จตามเป้าหมายมากกว่าคนที่ไม่วางแผน หากเกิดเหตุไม่คาดฝัน คนที่มีเงินสำรองฉุกเฉินจะไม่จำเป็นต้องหยิบยืมเงินจากกองเงินอื่น ๆ
ประการสุดท้าย ช่วยไม่ให้มีหนี้สินเพิ่ม เพราะการมีเงินสำรองฉุกเฉิน ทำให้ไม่จำเป็นต้องหยิบยืมเงินหรือกู้ยืมจากใครในยามคับขัน อย่าลืมนะว่าการกู้ยืมมักมาพร้อมค่าธรรมเนียมหรือดอกเบี้ยสูง ทำให้หนี้สินเพิ่มพูนและจัดการได้ยากขึ้นไปอีก

ภาพประกอบข่าว
ภาพประกอบข่าว
แล้วเราควรเก็บเงินสำรองฉุกเฉินในรูปแบบไหนดี ?
- บัญชีเงินฝากออมทรัพย์
- บัญชีเงินฝากออมทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์
- หน่วยลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ สภาพคล่องสูง เช่น หน่วยลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น
- หน่วยลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงิน
- ทรัพย์สินลงทุนความเสี่ยงต่ำประเภทกองทุนตราสารหนี้ เช่น พันธบัตรรัฐบาล หรือ หุ้นกู้เอกชน
เงินสำรองฉุกเฉิน เท่าไหร่ถึงเรียกว่า "พอ"
คำตอบคือ "ไม่ตายตัว" แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และความมั่นคงของอาชีพ นักวางแผนการเงิน CFP คนหนึ่งแนะนำว่า ในช่วงสถานการณ์ปกติ ควรมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน ยกตัวอย่างเช่น หากมีค่าใช้จ่ายเดือนละ 10,000 บาท ควรมีเงินสำรอง 30,000 - 60,000 บาท
แต่ในยามไม่ปกติ เช่น ช่วงวิกฤต COVID-19 อาจต้องเตรียมเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินอย่างน้อย 8-10 เดือนของค่าใช้จ่าย ซึ่งหมายความว่า หากค่าใช้จ่ายเดือนละ 10,000 บาท ควรมีเงินสำรอง 80,000 - 100,000 บาท
The Bangkok Insight ได้ให้รายละเอียดการคำนวณเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินตามกลุ่มอาชีพ ดังนี้
- ข้าราชการ และ รัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีความมั่นคงในหน้าที่การงานสูง โอกาสตกงานต่ำ แนะนำให้สะสมเงินเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายรายเดือนในอนาคต สัก 2-4 เดือนก็ถือว่าเพียงพอ เช่น หากมีค่าใช้จ่ายต่อเดือน 20,000 บาท ควรมีเงินสำรอง 40,000 - 80,000 บาท
- พนักงานเอกชน ที่มีความมั่นคงในระดับหนึ่ง แต่อาจเผชิญภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวหรือความไม่มั่นคงในหน้าที่การงานได้ แนะนำให้สะสมเงินสำรองฉุกเฉิน 3-6 เดือนเป็นอย่างน้อย เช่น หากมีค่าใช้จ่ายรายเดือน 30,000 บาท ควรมีเงินสำรอง 90,000 - 180,000 บาท
- อาชีพอิสระ แนะนำให้วางแผนสำรองเงิน อย่างน้อย 6-12 เดือน เพื่อป้องกันความยากลำบากในการหางาน และสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนในอนาคต เช่น หากมีค่าใช้จ่ายต่อเดือน 15,000 บาท ควรมีเงินสำรอง 90,000 - 180,000 บาท
ทั้งนี้ยังให้ข้อแนะนำเพิ่มเติมเพื่อความปลอดภัยว่า ไม่ว่าจะอาชีพไหน ก็ควรที่จะมีเงินสำรองฉุกเฉินอย่างน้อย 6-12 เดือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากต้องดูแลคนในครอบครัวสอดคล้องกับนักวางแผนการเงิน ที่มักแนะนำลูกค้าให้เก็บเงินสำรองฉุกเฉินไว้ประมาณ 6 เดือนสำหรับผู้มีงานประจำ และอย่างน้อย 1 ปีสำหรับฟรีแลนซ์

ภาพประกอบข่าว
ภาพประกอบข่าว
3 วิธีเก็บเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินให้เพียงพอ
คอนเซปต์คือ เริ่มต้นลงมือเก็บเงินตั้งแต่วันนี้! วางเป้าหมายว่าจะเก็บเท่าไหร่ในแต่ละเดือน เช่น ร้อยละ 5 ของเงินเดือน เป็นต้น และ ควรเก็บทุกเดือนอย่างสม่ำเสมอ
1.ออมเงิน ทันทีที่เงินเดือน หรือ รายได้ เข้าบัญชี ให้หักเงินจำนวนหนึ่งราวร้อยละ 20 ใส่ไว้ในบัญชีสำหรับเป็นเงินสำรองฉุกเฉินทันที หากยังไม่เคยเก็บเงินเลย ให้เริ่มต้นออมแต่น้อยก่อนในช่วงแรก อาจจะเริ่มต้น ร้อยละ 5-10 แล้วค่อยเพิ่มขึ้นต่อไป ที่สำคัญ บัญชีเงินสำรองฉุกเฉินควรเป็นคนละส่วนกับบัญชีเงินออม
2.จัดการค่าใช้จ่ายที่จำเป็น และควบคุมค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น การซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากจ่ายด้วยบัตรเครดิตแบบชำระขั้นต่ำ ซึ่งดอกเบี้ยจะทวีคูณและส่งผลเสียต่อสุขภาพการเงินในระยะยาว ให้แยกแยะระหว่างรายจ่ายที่ไม่จำเป็นกับรายจ่ายเพื่อเสริมความมั่นคงในชีวิต เช่น การเป็นหนี้เพื่อที่พักอาศัย ซึ่งถือเป็นสินทรัพย์ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้
3.ใช้บัตรเงินด่วน วงเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน วิธีนี้ให้ใช้สำหรับผู้ที่มีเงินสำรองไม่มากนัก เพื่อเสริมสุขภาพทางการเงินและเป็นวงเงินสำรองสำหรับใช้ในเหตุการณ์ฉุกเฉินในอนาคต อย่างไรก็ตาม ควรเบิกเท่าที่จำเป็นจริง ๆ และต้องมั่นใจว่าสามารถจ่ายคืนได้ ย้ำว่า เงินก้อนนี้ควรนำออกมาใช้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจริง ๆ เท่านั้น

ภาพประกอบข่าว
ภาพประกอบข่าว
รู้หรือไม่ ทำไมต้องเก็บเงินต้องในกระปุกหมู ? เพราะในยุคกลาง อุตสาหกรรมปศุสัตว์เจริญรุ่งเรือง หมูเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่ง และเด็ก ๆ มักเลี้ยงหมูเพื่อขาย จึงเกิดธรรมเนียมเก็บเงินในกระปุกหมูเพื่อฝึกการออม!
ที่มา : The Bangkok Insight, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารกสิกรไทย
อ่านข่าวอื่น :
ศาลสั่งจำคุก "เดวิด" 1 เดือนไม่รอลงอาญา คดีทำร้ายหมอ
กรีนพีซ แนะสอบเหมืองแร่ต้นตอปล่อยสารพิษปนเปื้อนแม่น้ำกก จี้รัฐแก้ปัญหา