วันนี้ (23 พ.ค.2568) นายธารา บัวคำศรี ที่ปรึกษากรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์การพบสารปนเปื้อนในแม่น้ำกก แม่น้ำสาย และแม่น้ำโขง ในบางพื้นที่ ว่าจากการเก็บข้อมูล เก็บตัวอย่างน้ำ ตะกอนดิน และปลาที่อยู่ในลำน้ำ ถือว่าเป็นน่ากังวล เป็นสถานการณ์ที่ค่อนข้างจะใหญ่ ซับซ้อน ละเอียดอ่อน และเป็นเรื่องที่ไม่เคยพบมาก่อน
แม่น้ำโขง มีลำน้ำสาขา ทั้งแม่น้ำกก แม่น้ำสาย ด้วยความพื้นที่มีลักษณะพิเศษเป็นลุ่มน้ำที่เป็นรอยต่อประเทศไทย เมียนมา และลาวบางส่วน อีกทั้งพื้นที่ที่เกิดปัญหาการปนเปื้อนมลพิษข้ามพรมแดน เป็นกรณีที่ค่อนข้างมีความท้าทายสำหรับการแก้ปัญหา
ทั้งนี้โลหะหนักต่างๆ ที่ปนเปื้อนสร้างความเดือดร้อน และจะกระจายไปจุดอื่นๆ หรือไม่นั้น นายธารา ระบุว่าขึ้นอยู่กับการขยายตัวของกิจกรรมเมือง ไม่ว่าจะเหมืองทอง เหมืองแร่หายาก ในต้นน้ำแม่น้ำกก แม่น้ำสาย เทียบเคียงการทำเหมืองแรร์เอิร์ธ มีรายงานถึงการขยายตัวมหาศาล ที่ทำให้แม่น้ำสาขาของแม่น้ำอิรวดีมีสารปนเปื้อนรุนแรง ซึ่งแม้แต่สัตว์เลี้ยงที่ลงไปกินน้ำ ก็ทำให้ล้มป่วยตาย ซึ่งขณะนี้แม่น้ำกก แม่น้ำสายยังไม่รุนแรงถึงขนาดนั้น
ในด้านการแก้ไข นายธารา กล่าวว่า เมื่อกลับไปดูที่ต้นทาง เขตพื้นที่ทำเหมืองเป็นพื้นที่ขัดแย้ง ซึ่งการแก้ปัญหาต้องมีกลไก OECD ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่รวมตัวกันของเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจ OECD มีแนวทางปฏิบัติเรื่องของการตรวจสอบอย่างรอบด้านของห่วงโซ่อุปทานแร่ธาตุ และห่วงโซ่อุปทานนี้ยังเน้นในเรื่องของพื้นที่ขัดแย้ง หรือพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง
สำหรับประเทศไทยมีแผนปฏิบัติการเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งสามารถใช้กลไกเหล่านี้เพื่อสอบย้อนกลับไปยังเจ้าของกิจการเหมืองในรัฐฉาน และตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมาย
ส่วนปัญหาปลายทางการแก้ปัญหาเบื้องต้น ต้องมีเครื่องมือวิทยาศาสตร์พลเมือง เครื่องมือตรวจน้ำ หรือหลายกรณีต้องทำเครื่องกรองน้ำ การตรวจติดตามสถานการณ์การปนเปื้อนโลหะหนักอย่างต่อเนื่อง รายงานให้ประชาชนได้รับทราบ เพื่อจะดูแนวโน้มของสถานการณ์
โดยเฉพาะจะเข้าฤดูน้ำหลากในช่วงฤดูฝน อาจจะรวมกับมาตรการป้องกันภัยพิบัติน้ำท่วม เป็นเครื่องมือที่เปิดให้คนในพื้นที่เข้าไปมีส่วนร่วม
ส่วนการกระทบกับความมั่นคง การท่องเที่ยว ความเป็นอยู่ของชาวบ้าน นายธารา แสดงความคิดเห็นว่า เป็นเรื่องที่ใหญ่กว่าอำนาจของจังหวัด รัฐบาลควรดึงมาตรการต่างๆ เช่นการประกาศให้พื้นที่ประสบเหตุเป็นเขตเตรียมภัยพิบัติ และลงพื้นที่ดูหามาตรการแก้ปัญหาและป้องกัน หรืออาจจะใช้ลักษณะธรรมชาติในการกรองสารพิษ เพื่อให้คุณภาพน้ำไปใช้ไปอุปโภคได้ การใช้ระบบพื้นที่ชุ่มน้ำ ใช้พืชในการดูดซับโลหะหนักในพื้นที่นั้นๆ รวมถึงการตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อดูแล เป็นหน่วยเฉพาะกิจที่จะรับมืออย่างรวดเร็ว
อ่านข่าว :
อธิบดีกรมน้ำ สั่งเร่งออกแบบ "ฝายดักตะกอน" ในแม่น้ำกก
มุมมองวิศวกรรม บทเรียนฟื้นเหมืองคลิตี้ ถึงการสร้างเขื่อนแก้สารพิษแม่น้ำกก จ.เชียงราย
"ภูมิธรรม" ดันสร้างเขื่อนแม่น้ำกก-สาย ป้องกันสารปนเปื้อน
"องค์กรแม่น้ำฯ" จี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหา "เหมืองแรร์เอิร์ธ" ก่อนมลพิษแม่น้ำกกจะวิกฤต