ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

อธิบดีกรมน้ำ สั่งเร่งออกแบบ "ฝายดักตะกอน" ในแม่น้ำกก

สิ่งแวดล้อม
22 พ.ค. 68
15:06
454
Logo Thai PBS
อธิบดีกรมน้ำ สั่งเร่งออกแบบ "ฝายดักตะกอน" ในแม่น้ำกก
อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ สั่งเร่งออกแบบ "ฝายดักตะกอน" ในแม่น้ำกก ลดความเข้มของสารหนูในน้ำก่อนไหลผ่านชุมชน เน้นต้องสำเร็จในการลดตะกอน-ไม่กระทบระบบนิเวศ ขณะที่นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต แนะรัฐควรเร่งเจรจาแก้ปัญหา

นายธีระชุณ บุญสิทธิ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กล่าวถึงการแก้ปัญหาการปนเปื้อนสารหนูและโลหะหนักในแม่น้ำกก แม่น้ำสาย และแม่น้ำโขงในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย ว่า กรมทรัพยากรน้ำและกรมการบินพลเรือน ได้ขึ้นบินสำรวจแนวลำน้ำของแม่น้ำกก เพื่อนำข้อมูลทั้งหมดมารวมกับของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ในการวางแนวทางการออกแบบฝายดักตะกอนใต้น้ำ ให้สอดคล้องกับความเร็วลำน้ำและท้องน้ำว่าจุดไหนจะดูดซับสารหนูมีประสิทธิภาพมากที่สุดในพื้นที่ฝั่งประเทศไทย เช่น จะสร้างกี่จุด เว้นระยะห่างกี่เมตร

อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า กรณีนี้ไม่ใช่การสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำกก และไม่ได้สร้างให้สันฝายสูงกั้นปริมาณน้ำในแม่น้ำ แต่เป็นการทำเพื่อกรอง หรือดักตะกอน ลดความเข้มของสารหนูในน้ำ ก่อนไหลผ่านชุมชนต้องมีค่าอยู่ในระดับมาตรฐาน

ส่วนบริเวณหน้าฝายจะเป็นตะกอนสารหนูที่ดักไว้ได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างออกแบบและหาวิธีการที่เหมาะสมให้เร็วที่สุด เพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชนในพื้นที่ โดยจะเร่งติดตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อสังเกตการไหลของน้ำ และสีความขุ่นของแม่น้ำ

อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ย้ำว่า จำเป็นต้องดูสภาพความเป็นไปได้ในการดักตะกอนแล้วเกิดผลสำเร็จและไม่กระทบระบบนิเวศ โดยเฉพาะการไปเปลี่ยนทิศทางการไหลของน้ำจนเกิดการเซาะตลิ่งกระทบระบบนิเวศอื่น ๆ ด้วย

แนะรัฐเร่งเจรจาแก้ปัญหา

ด้านนายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต กล่าวว่า กรณีจะสร้างเขื่อนเพื่อเก็บกักสารพิษในแม่น้ำกก จ.เชียงราย ส่วนตัวมองว่ารัฐบาลไม่ควรนึกถึงเป็นอันดับแรก พร้อมเสนอให้แก้ที่ต้นเหตุสารพิษที่อาจเกิดจากเหมืองแร่

การสร้างเขื่อนอาจซ้ำเติมปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น กระทบพื้นที่ทำกิน ที่อยู่กลุ่มชาติพันธุ์

ส่วนการสร้างเขื่อนดักตะกอนจะเป็นการแก้ปัญหาระยะยาวได้หรือไม่ หลายส่วนต้องคิดอย่างรอบด้าน แต่สิ่งที่รัฐบาลควรต้องทำคือเร่งเจรจา อาจจะต้องพูดถึงสนธิสัญญาหรือข้อกฎหมายระหว่างประเทศ ที่จะต้องใช้แม่น้ำร่วมกัน หรือผลประโยชน์จากแม่น้ำร่วมกัน ทั้งการดูแลและรักษา รวมถึงสร้างความเป็นธรรมในการใช้แม่น้ำในพื้นที่ติดกับชายแดนไทย ลาว จีน

นายสมเกียรติ ย้ำว่ากรณีเหมือง บ.คลิตี้ การฟื้นฟู การสร้างฝายดักตะกอนเป็นกรณีศึกษา แม้ขนาดพื้นที่จะเล็กมาก ๆ เมื่อเทียบกับพื้นที่แม่น้ำกก ซึ่งปัญหาลุกลามใช้ระยะเวลายาวนานและสะสม ส่วนตัวคิดว่าเร็วเกินไปที่จะนำมาเป็นบทเรียนแก้สารพิษแม่น้ำกก

อ่านข่าว : มุมมองวิศวกรรม บทเรียนฟื้นเหมืองคลิตี้ ถึงการสร้างเขื่อนแก้สารพิษแม่น้ำกก จ.เชียงราย 

"ภูมิธรรม" ดันสร้างเขื่อนแม่น้ำกก-สาย ป้องกันสารปนเปื้อน 

พบปลาน้ำกก-น้ำโขง เป็นตุ่ม หวั่นสารพิษทำลายระบบนิเวศปลา จ.เชียงราย 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง