ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ไทยโชว์ “คลังข้าวโลก” ยกระดับอุตฯข้าวไทยแข่งตลาดโลก

เศรษฐกิจ
26 พ.ค. 68
16:32
176
Logo Thai PBS
 ไทยโชว์ “คลังข้าวโลก” ยกระดับอุตฯข้าวไทยแข่งตลาดโลก
อ่านให้ฟัง
09:49อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
พาณิชย์ ชู ไทยคลังข้าวโลก-ครัวโลก ตอบสนองความมั่นคงด้านอาหาร เร่งยกระดับอุตสาหกรรมข้าวไทย ผ่านเทคโนโลยี มุ่งขยายโอกาสทางการค้าในตลาดใหม่ ด้านUSDR เผยผลผลิตข้าวโลกพุ่ง 3.1 ล้านตัน ดันสต็อกทั่วโลกในปี 2024/25 เพิ่มขึ้น 1.7 ล้านตัน

วันนี้ (26 พ.ค.2568) นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการยกระดับอุตสาหกรรมข้าวไทยอย่างต่อเนื่อง เร่งผลักดันนโยบาย ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ ผ่านการพัฒนาและส่งเสริมตั้งแต่ภาคการผลิต การนำเทคโนโลยีด้านการเกษตร (Agi-Tech) และเทคโนโลยีด้านอาหาร (Food Tech) มาใช้พัฒนาในกลุ่มอาชีพที่มีความเกี่ยวเนื่องกับภาคเกษตรกรรมทั้งหมดเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

และขยายโอกาสทางการค้าในตลาดใหม่ ๆ ส่งเสริมข้าวคุณภาพหลากหลายสายพันธุ์ ทั้งข้าวหอมมะลิ ข้าวออร์แกนิก ข้าวคาร์บอนต่ำ ข้าว GI และข้าวคุณลักษณะพิเศษ รวมทั้งอาหารฮาลาล ตอบสนองตลาดที่มีกำลังซื้อสูง เช่น สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และตะวันออกกลาง ตลอดจนชูนโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลก” ในการตอบสนองความต้องการของโลกด้านความมั่นคงทางอาหาร (Food Security)

สำหรับงาน TRC 2025 เป็นโอกาสที่ไทยได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้นำด้านการผลิตและส่งออกข้าวคุณภาพของโลก โดยพันธมิตรจากทั่วโลกที่เข้าร่วมงานในครั้งนี้ ล้วนเป็นบุคคลสำคัญในวงการค้าข้าวโลก การประชุม จึงเป็นจุดเริ่มของการสร้างเครือข่าย สร้างพันธมิตรทางการค้า และเพื่อสร้างโอกาสให้มีการพบปะเจรจาธุรกิจการค้าระหว่างผู้ส่งออกข้าวไทยกับผู้นำเข้าข้าว รวมถึงผู้ค้าข้าว นำไปสู่การตกลงซื้อขายข้าว เพื่อรองรับผลผลิตข้าวไทย

ผู้ส่งออกข้าวไทยและผู้นำเข้าข้าวจากต่างประเทศ ในงานประชุมข้าวโลก ปี2568

ผู้ส่งออกข้าวไทยและผู้นำเข้าข้าวจากต่างประเทศ ในงานประชุมข้าวโลก ปี2568

ผู้ส่งออกข้าวไทยและผู้นำเข้าข้าวจากต่างประเทศ ในงานประชุมข้าวโลก ปี2568

โดยหลังจากได้หารือผู้นำเข้าข้าวรายสำคัญของโลก คาดว่าจะมีคำสั่งซื้อไม่น้อยกว่า 100,000 ตัน สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 2,000 ล้านบาท ส่วนการส่งออกข้าวไทยในปีนี้ ยังมั่นใจว่าจะส่งออกได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ที่ 7.8 ล้านตัน

นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้กรมการค้าต่างประเทศติดตามสถานการณ์ตลาดข้าวโลกอย่างใกล้ชิด หลังจากเกิดสถานการณ์ความตึงเครียดท่ามกลางความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ในหลายพื้นที่ และการประกาศใช้มาตรการทางภาษีตอบโต้ (Reciprocal tariffs) ของสหรัฐฯ เพื่อแสดงถึงความพร้อมที่ไทยจะเป็นแหล่งอาหารโลก เพื่อสนับสนุนความมั่นคงทางอาหารให้ประเทศคู่ค้าตามนโยบายของรัฐบาล

ยูเอสดีอาร์ คาดผลผลิตข้าวโลก67/68 พุ่ง 3.1 ล้านตัน

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรสหรัฐ ได้เผยแพร่รายงาน Rice Outlook: April 2025 โดย USDA, Economic Research Service ที่ระบุว่า คาดการณ์การผลิตข้าวโลกสำหรับปี 2024/25 เพิ่มขึ้น 3.1 ล้านตัน เป็น 535.8 ล้านตัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุด หรือ เพิ่มขึ้นเกือบ 3% จากปีก่อน นับเป็นปีที่ 9 ติดต่อกันที่ผลผลิตข้าวทั่วโลกสร้างสถิติใหม่โดยผลผลิตส่วนใหญ่มาจากอินเดีย รองลงมาคืออินโดนีเซีย กัมพูชา บราซิล ไต้หวัน และเวเนซุเอลา

ขณะที่สต็อกข้าวทั่วโลกในปี 2024/25 เพิ่มขึ้น 1.7 ล้านตันจากการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ เป็น 183.2 ล้านตัน การปรับขึ้นสต๊อกข้าวทั่วโลกกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่แถบอาเซียน หลักๆอยู่ที่ อินโดนีเซีย ไทย และเวียดนาม ซึ่งมีอินเดียที่มีสต๊อกเพิ่มมากที่สุดที่ 1.5 ล้านตันจากปีก่อน และแม้ว่าสต๊อกข้าวของจีนจะไม่เปลี่ยนแปลงที่ 103.5 ล้านตัน กินสัดส่วนสูงสุดของโลกที่ 56% ข้อมูลเหล่านี้ก็ทำให้ประมาณการณ์ได้ว่าสถานการณ์ข้าวทั่วโลกอยู่ในอาการ“ล้น”โกดัง

รายงาน ยังระบุถึง คาดว่าอุปทานข้าวทั่วโลกในปี 2024/25 จะอยู่ที่ 715.3 ล้านตัน ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ เพิ่มขึ้นถึง 3.1 ล้านตัน จากการคาดการณ์ครั้งก่อนอันเป็นผลจากการคาดการณ์การผลิตที่เพิ่มขึ้น 12.3 ล้านตันจากปีก่อนและเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่สอง

ดังนั้นคาดการณ์ปริมาณการค้าข้าวโลกในปีปฏิทิน 2025 เป็น 59.7 ล้านตัน ซึ่งลดลง 0.2 ล้านตันจากสถิติเมื่อปีที่แล้วที่ 59.9 ล้านตัน ส่วนคาดการณ์การส่งออกในปี 2025 สำหรับกัมพูชา อินเดีย และปากีสถาน จะมีการส่งออกที่เพิ่มขึ้นขณะที่ จีน ไทยและสหรัฐจะส่งออกได้ลดลง ขณะที่การนำเข้าคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 4 แสนตันจากบังคลาเทศ จีน และ เนปาล แต่ปริมาณการนำเข้าจะลดลงในตลาดยุโรปที่ 1.5 แสนตัน

"อินโดนีเซีย" จ่อลดนำเข้าข้าวไทย

ทั้งนี้ ตลาดอินโดนีเซียซึ่งเป็นผู้ซื้อข้าวรายสำคัญของไทย รายงานระบุว่า มีแนวโน้มการนำเข้าที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะจากไทยที่มีราคาที่สูงสูงของผู้ส่งออกในอาเซียนด้วยกัน แม้ว่าการนำเข้าของอินโดนีเซียคาดว่าจะลดลงเกือบ 3.9 ล้านตันเหลือ 800,000 ตัน เนื่องจากมีการนำเข้าจำนวนมากและการผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่อินโดนีเซียก็ยังเป็นผู้นำเข้ารายสำคัญ เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์และเวียดนาม โดยเวียดนามมีการนำเข้าข้าวจากกัมพูชาเป็นหลัก ทั้งเพื่อการบริโภคและส่งออกอีกทอดหนึ่ง

คาดการณ์ส่งออกข้าวของไทยปี 2025 จะอยู่ที่ 7 ล้านตัน ลดลง ราว 5 แสนตัน หรือ 29.2% (yoy) ส่วนอินเดียจะส่งออกได้ 24 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 33.9% ปากีสถาน ปริมาณ 5.5 ล้านตัน ลดลง 15.3% กัมพูชา 3.6 ล้านตัน ลดลง 2.7%

อินเดียยังครองแชมป์ “ส่งออกข้าว” รายใหญ่ของโลก

สำหรับราคาข้าว พบว่า อินเดีย ไทย ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงเดือนที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากอุปทานจำนวนมาก โดยฤดูฝนของอินเดียเพิ่งเก็บเกี่ยวได้ไม่นาน ฤดูฝนของไทยก็เก็บเกี่ยวเสร็จเรียบร้อยแล้ว และฤดูฝนหลักของเวียดนามก็เก็บเกี่ยวในฤดูหนาวซึ่งก็ได้ผลผลิตในระดับสูงสุด
โดยราคาส่งออกข้าว(8 เม.ย.)ของอินเดียข้าวหัก 5% ลดลง 8% (เทียบ 4 มี.ค. 2025) เหลือ 380 ดอลลาร์ต่อตัน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่ต้นเดือนพ.ย. 2022 เนื่องจากผลผลิตสูงสุด ทำให้ราคาข้าวของอินเดียแข่งขันได้

ส่วนไทย ในช่วงเวลาเดียวกัน ข้าวเกรด B 100% ของไทยลดลง 4.5% เหลือ 406 ดอลลาร์ต่อตัน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือนธ.ค. 2021 เนื่องมาจากอุปทานจำนวนมากจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตตามฤดูกาล การส่งออกที่เพิ่มขึ้นของอินเดีย และการซื้อของอินโดนีเซียที่ลดลงอย่างมาก แต่ประเทศไทยยังเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดในเอเชียในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ในส่วนรายงานRice Outlook: May 2025 ที่ออกมาคาดการณ์การผลิตข้าวทั่วโลกในปี 2025/26 คาดว่าจะสูงเป็นประวัติการณ์โดยอินเดียคาดว่าจะเก็บเกี่ยวข้าวได้เป็นประวัติการณ์เป็นครั้งที่ 10 ติดต่อกัน ส่งผลให้อุปทานข้าวทั่วโลกในปี 2025/26 คาดว่าจะอยู่ที่ 723.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 6.1ล้านตันจากปีก่อน และเพิ่มขึ้นเป็นปีที่สามติดต่อกัน

ด้านการค้าข้าวโลกในปีปฏิทิน 2026 คาดว่าจะอยู่ที่ 61.3 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.3% จากปีก่อน คาดว่าอินเดียจะยังคงเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุด โดยส่งออกข้าวได้ 24.5 ล้านตัน ซึ่งเป็นสถิติสูงสุด ส่วน ไทยจะเพิ่มการส่งออกในปี 2026 แต่ปากีสถานและเวียดนามไม่เปลี่ยนแปลงและ โดยเวียดนามเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับสองอีกครั้ง

อ่านข่าว:

 ส่งออกเม.ย.ขยายตัว10.2% สะท้อนเศรษฐกิจไทยยังเข้มแข็ง จับตาครึ่งปีหลังเสี่ยงสูง

 พลิก "Thai SELECT" เทียบ "มิชลินสตาร์" ดันไทยฟู้ดสู่ "ครัวโลก"

กำลังซื้อหด-หนี้เสียพุ่ง ฉุดยอดผลิตรถเม.ย.ต่ำสุดรอบ 44 เดือน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง