วันนี้ (26 พ.ค.2568) สำนักงานกรมชลประทานที่ 12 คาดว่าจะมีน้ำเหนือไหลเข้าเขื่อนเจ้าพระยา 500-700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้ท้ายเขื่อนเจ้าพระยามีระดับน้ำเพิ่มขึ้น 1 เมตร และอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ที่อาศัยริมน้ำ
พร้อมแจ้งเตือน 7 จังหวัดภาคกลาง คือ จ.อุทัยธานี, ชัยนาท, สิงห์บุรี, อ่างทอง, สุพรรณบุรี, ลพบุรี และ จ.พระนครศรีอยุธยา เฝ้าระวังน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลาก ตั้งแต่วันที่ 26-30 พ.ค.

ขณะที่ ต.หาดอาษา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาน้ำท่วมซ้ำซาก จึงติดตั้งหอเตือนภัย แต่จากการตรวจสอบพบว่าไม่มีการทดสอบสัญญาณมากว่า 5 เดือนแล้ว ชาวบ้านต้องการให้แก้ไขก่อนจะถึงฤดูน้ำหลาก
ส่วนพื้นที่รับน้ำอย่างชุมชนมัสยิดท่าอิฐ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เป็นชุมชนริมน้ำ ทุกครั้งที่ฝนตกหนัก น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาจะทะลักท่วมบ้านเรือน โดยเฉพาะพื้นที่ต่ำ ขณะนี้น้ำยังไม่ล้นตลิ่ง แต่ชาวชุมชนเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
ล่าสุด อบต.ท่าอิฐ ได้ติดตั้งสัญญาณไฟสำหรับแจ้งเตือนประชาชน โดยสีเขียว หมายถึงระดับน้ำปกติ, สีเหลือง ให้เตรียมตัว-เฝ้าระวัง และสีแดง เป็นสัญญาณเตือนน้ำท่วม-ล้นตลิ่ง โดยเจ้าหน้าที่เตรียมความพร้อมเข้าช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง

เฝ้าระวังน้ำป่า-น้ำจากเขาใหญ่ หลังฝนตกหนัก
ขณะเดียวกันมีน้ำป่าที่หลากลงมาในพื้นที่บ้านหนองโสมง หมู่ 6 ต.อุดมทรัพย์ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ยังทิ้งร่องรอย น้ำสีขุ่นแดงลดระดับลง แต่ยังต้องเฝ้าระวัง เพราะยังมีฝนตก ในพื้นที่เขาซับภูและเขาซับเต่า อุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำ
ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหนองโสมง เปิดเผยว่า หมู่บ้านได้รับผลกระทบจากน้ำป่าแล้ว 3 ครั้งภายใน 1 เดือน มีผู้เสียชีวิต 1 คน ขณะนี้ยังมีฝนตกในพื้นที่ จึงประสานข้อมูลกับผู้นำหมู่บ้าน ในพื้นที่ต้นน้ำ แจ้งข้อมูลปริมาณฝนและจะประกาศเสียงตามสายจากหอกระจายข่าว เพื่อแจ้งเตือนชาวบ้าน

ส่วนบ้านคลองเพล ต.หมูสี อ.ปากช่อง ซึ่งเป็นหมู่บ้านแรกติดกับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และมีคลองรับน้ำมาจากเขาใหญ่ ผ่านตลาดปากช่อง ก่อนไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำลำตะคอง
ผู้ใหญ่บ้านคลองเพล กล่าวว่า ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพราะฝนตกในป่าเขาใหญ่ติดต่อกัน 4-5 วัน แต่น้ำบนเขาใหญ่ยังไม่ไหลลงมา น้ำในคลองเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จึงตรวจสอบข้อมูลจากเครื่องวัดปริมาณน้ำฝน หากมีมวลน้ำจะแจ้งเตือนชาวบ้านแอปพลิเคชันไลน์ทันที

กรมอุทยานฯ เฝ้าระวังป่าต้นน้ำ-แจ้งหน่วยงานเตือนภัย
ด้านนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์น้ำป่าท่วมบางพื้นที่ของภาคเหนือ ได้สั่งการให้ทุกอุทยานฯ ที่เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ ทั้งใน จ.เชียงใหม่, เชียงราย, น่าน และ จ.แม่ฮ่องสอน เฝ้าระวังน้ำป่าไหลหลากตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมประสานข้อมูลกับหน่วยงานที่ทำข้อมูลด้านน้ำ เพื่อแจ้งเตือนอย่างทันท่วงที
ส่วนนักพัฒนาแบบจำลองของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ คาดการณ์จากแบบจำลองทั่วประเทศ พบว่า หลายพื้นที่ยังมีฝนตกหนัก ทั้งภาคเหนือตอนบน ภาคเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออก ส่วนภาคกลางยังไม่น่ากังวล ขณะเดียวกันพื้นที่ฝนตกหนักอาจต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก
อ่านข่าว
สั่งปิดน้ำตก 3 แห่งในอุทยานฯ ดอยสุเทพ-ปุย น้ำป่าไหลหลาก
สทนช.ประกาศเตือน 27 จังหวัดเฝ้าระวังน้ำท่วม-ดินถล่ม 26-30 พ.ค.