ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ลุ้น “สมศักดิ์” เห็นชอบหรือวีโต้ ปมทักษิณชั้น 14 ก่อนดีเดย์ 13 มิ.ย.

การเมือง
14:27
115
ลุ้น “สมศักดิ์” เห็นชอบหรือวีโต้ ปมทักษิณชั้น 14 ก่อนดีเดย์ 13 มิ.ย.
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

คณะกรรมการ 10 คน ที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ในฐานะสภานายกพิเศษแห่งแพทยสภา แต่งตั้งเพื่อพิจารณามติของแพทยสภาให้ลงโทษแพทย์ 3 คน กำหนดส่งความเห็นเสนอนายสมศักดิ์ ภายในบ่ายวันที่ 27 พ.ค. เพื่อลงนามส่งกลับไปยังแพทยสภาภายใน 15 วัน จะครบ 30 พ.ค.

ล่าสุด นายสมศักดิ์ยอมรับว่า คณะกรรมการชุดดังกล่าว ได้ส่งความเห็นมาให้แล้ว แต่ตนยังไม่ได้ทำการพิจารณา และคาดว่าช่วงเย็นจะพิจารณา โดยจะอิงกับแนวทางความเห็นของกรรมการ เนื่องจากเป็นชุดที่ตนเองตั้งขึ้น ทำให้ยังต้องลุ้นกันต่อ

เพราะหากเห็นชอบตามมติแพทยสภา ต่อไปจะเป็นประกาศผลลงโทษ แต่หากวีโต้ ต้องไปลุ้นเสียงของบอร์ดแพทยสภา 2 ใน 3 จากทั้งหมด 70 คนเพื่อให้เป็นผลในทางปฏิบัติ

หลังจากประชุมนัดแรก วันที่ 26 พ.ค. ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ที่เป็นคนใกล้ชิด และช่วยงานนายสมศักดิ์มานาน แถลงยอมรับว่า แพทยสภา ไม่ได้ส่งเอกสารอย่างครบถ้วน ไปให้กรรมการประกอบการพิจารณา ทั้งที่ร้องขอไปถึง 2 ครั้ง จึงเปรียบเสมือนทำงาน 10 ขั้นตอน แต่หายไป 1 ขั้นตอน

อย่างไรก็ตาม ย้ำว่า กรรมการจะพิจารณาตามข้อมูลที่มีและได้รับ แม้อาจมีผลต่อการพิจารณาของกรรมการมากน้อยแตกต่างกัน

สำหรับเอกสารที่ขอเพิ่มเติมจากแพทยสภา คือ คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองผลการสอบสวน และเอกสารรายงานการประชุมของกรรมการกลั่นกรองการสอบสวนทั้งหมด ทั้งนี้ จะทำให้ทราบรายชื่อและรู้ว่า กรรมการกลั่นกรอง มีความเห็นอย่างไร เพราะข่าววงในระบุชัดว่า กรรมการกลั่นกรองการสอบสวน มีความเห็นตรงกันว่าควรลงโทษแพทย์ทั้ง 3 ราย

ต่างจากกรรมการสอบสวนที่เสียงข้างมากเห็นว่า ควรลงโทษตักเตือน ส่วนเสียงข้างน้อยเห็นว่า ควรลงโทษพักใบอนุญาต ทำให้มติสลับกัน

การยื่นเรื่องร้องเรียนไปยังแพทยสภา จะมี 4 ขั้นตอน คือเริ่มจากอนุกรรมการจริยธรรม ขั้นตอนที่ 2 กรรมการสอบสวนความผิด ขั้นตอนที่ 3 กรรมการกลั่นกรองการสอบสวน ก่อนจะถึงขั้นตอนสุดท้าย เป็นบอร์ดแพทยสภาชุดใหญ่ ที่มีรวม 70 คน

สำหรับกรรมการกลั่นกรองการสอบสวน แม้ไม่มีกำหนดไว้ในกฎหมาย แต่แพทยสภาเห็นว่า ควรต้องมีกรรมการอีกชุดหนึ่ง ทำหน้าที่ตรวจสอบกลั่นกรอง จากกรรมการสอบสวนความผิดอีกชั้นหนึ่งเพื่อถ่วงดุล

โดยมาจากการเชื้อเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ และมีความรู้ด้านกฎหมาย โดยเฉพาะอดีตผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่ ทำหน้าที่คล้ายที่ปรึกษา ซึ่งกรรมการกลั่นกรองดังกล่าว จะมีลักษณะการทำงานแบบเป็นอิสระ ไม่ต้องการเปิดเผยตัว เพราะเกรงจะมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ได้

แพทยสภาจึงไม่ส่งเอกสาร 2 รายการ ให้กับกรรมการที่นายสมศักดิ์ตั้งขึ้น แต่ได้ส่งเอกสาร 95 หน้า ว่าด้วยความเป็นมา ผลการสอบสวน รวมทั้งความเห็นต่าง ๆ กระทั่งมติของแพทยสภา ซึ่งถือว่าเป็นฉบับสมบูรณ์ให้ไปแล้ว เมื่อมีการขอเพิ่มเติม ได้จัดส่งเอกสารประกอบอีกเป็นพันหน้าไปให้ เนื่องจากต้องการปกป้องทั้งตัวบุคคลและความเห็นของกรรมการกลั่นกรองการสอบสวนไว้

ก่อนจะกลายเป็นประเด็นที่คณะกรรมการที่สภานายกพิเศษตั้งขึ้น นำขึ้นมาใช้เป็นข้ออ้างถึงความไม่ครบถ้วนของเอกสารที่ขอไป จะด้วยเจตนาเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนประกอบการพิจารณา ป้องกันข้อครหาใด ๆ หรือ จะโดยหวังผลอื่นใดก็ตามที

แต่สิ่งที่ถูกจับตามากกว่า คือความเห็นของกรรมการชุดนี้ ที่ต้องสรุปส่งให้นายสมศักดิ์ เพื่อให้ความเห็นว่า เห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย กับมติแพทยสภา “ให้มีการลงโทษ”

ความจริง เรื่องชั้น 14 ที่นายทักษิณถูกส่งตัวไปรักษาต่อเนื่อง กระทั่งเข้าเกณฑ์พักโทษ ประเด็นหลักไม่ได้อยู่ที่การพิจารณาโทษของแพทย์ทั้ง 3 คน เพราะเป็นเพียงส่วนหนึ่งในข้อกังขา สำหรับการได้รับสิทธิพิเศษ เป็นนักโทษแบบวีไอพีของนายทักษิณ ที่นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำอย่างชัดเจน แม้แต่ในระดับนักโทษ รวมทั้งการได้รับดูแลรักษามากกว่า

เนื่องจากปมชั้น 14 รพ.ตำรวจ เป็นหนังยาวที่มีความสลับซับซ้อน ซ่อนเงื่อนปมไว้มากมาย ตั้งแต่จัดวางคนไปไว้ในตำแหน่งสำคัญๆ ในรัฐบาลชุดต่าง ๆ เพื่อเตรียมการเอื้อประโยชน์ ตั้งแต่ผลักดันกฎหมาย ออกกฎกระทรวง และประกาศของกรมราชทัณฑ์อย่างเป็นขั้นเป็นตอนล่วงหน้าหลายปี หรือร่วมสิบปี

จึงเป็นเรื่องที่ฝ่ายตรงข้ามนายทักษิณ หรือที่ถูกมองว่าเป็น “โจทก์เก่า” พยายามเดินหน้าเต็มที่เพื่อความกระจ่างและหาความเป็นจริงในเรื่องนี้ แม้จนแล้วจนรอด ยังจะไกลจากเป้าที่คาดหวังไว้

แต่การลุ้นมติแพทยสภาจากสภานายกพิเศษ และวันนัดพร้อม 13 มิ.ย.2568 ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง สั่งไต่สวนปมบังคับโทษนายทักษิณ เป็นไปตามหมายจำคุกแล้วหรือไม่ คือ 2 เหตุการณ์สำคัญที่คนกลุ่มนี้ยังคงรอคอยอย่างมีความหวังอยู่

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส

อ่านข่าว :