ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ถอดบทเรียนแผ่นดินไหว ทดสอบความแข็งแรงอาคารและช่องโหว่ กม.

สังคม
27 พ.ค. 68
19:20
117
Logo Thai PBS
ถอดบทเรียนแผ่นดินไหว ทดสอบความแข็งแรงอาคารและช่องโหว่ กม.

นักวิชาการด้านแผ่นดินไหว เหตุการณ์แผ่นดินไหวเสมือนเป็นบททดสอบความแข็งแรงของอาคาร ซึ่งส่วนใหญ่อาคารสูงใน กทม.ผ่านบททดสอบนี้ มีเพียงแห่งเดียวที่พังถล่มลงมาและรอการตรวจสอบ พร้อมเสนอปรับแก้กฎหมาย โดยเฉพาะการเพิ่มให้มีการตรวจสอบผู้ออกแบบ เนื่องจากปัจจุบันกฎหมายยังมีช่องโหว่ในการเอาผิด

ผ่านมาเกือบ 3 เดือนแล้ว สำหรับเหตุการณ์แผ่นดินไหว บริเวณตอนกลางของประเทศเมียนมาที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มี.ค.2568 แรงสั่นสะเทือนสร้างความเสียหายต่ออาคารจำนวนมากในประเทศไทย ผศ.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ภาควิชาวิศวกรรมโครงสร้าง สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ กล่าวว่า กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวในระยะไกล ได้มากกว่าปกติถึง 3 เท่า และอาคารสูงจำนวนมากเกิดการโยกไหวแรงทำให้เกิดความเสียหาย

ซึ่งถ้าออกแบบตามมาตรฐานแผ่นดินไหวตามหลักวิศวกรรม จะไม่เห็นความเสียหายรุนแรง ส่วนใหญ่ความเสียหายจะเป็นบริเวณผนัง ฝ้าเพดาน ลิฟต์ ไม่อยู่ในสภาพใช้งาน จากเหตุการณ์ดังกล่าวมีอาคารพังเสียหาย 1 หลัง ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวน

การเกิดเหตุถือว่า เป็นการทดสอบซึ่งอาคารส่วนใหญ่สอบผ่าน มีสอบตกเพียงหลังเดียว อาคารที่เตรียมพร้อมไม่ดีเสียหายรุนแรง แต่หลังจากนี้ข้อสอบหรือการเกิดแผ่นดินไหวจะเหมือนเดิมหรือไม่ มันจะไม่เหมือนเดิม ตำแหน่งอาจเหมือนเดิม แต่พีค 3-5 วินาทีอาจมีความรุนแรงมากขึ้น

ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ไทย มีความก้าวหน้าอย่างมาก ในด้านมาตรฐานการออกแบบสำหรับอาคารใหม่ จากการออกกฎกระทรวงและมาตรฐานการออกแบบอาคารต้านทานแผ่นดินไหว ที่เข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะกฎกระทรวงปี 2564 กฎหมายนี้บังคับให้การก่อสร้างอาคารใหม่ต้องมีมาตรฐานความปลอดภัยที่สูงขึ้น มีประเภทอาคารที่หลากหลายขึ้น นอกจากนี้โครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่ ที่สร้างขึ้นภายใต้กฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคาร ในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ.2564 และมาตรฐาน มยผ. 1301/1302-61 นับว่ามีมาตรฐานความปลอดภัยที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ขณะเดียวกันเสนอว่า อาจจะต้องปรับแก้กฎหมาย เกี่ยวกับการออกแบบบางส่วนเพื่อเป็นมาตรฐานในอนาคต ซึ่งต้องมีการตรวจสอบการก่อสร้าง ทั้งผู้รับเหมาที่ควบคุมงาน และจุดที่ยังเป็นช่องโหว่โดยเฉพาะ จุดอ่อนเรื่องคนออกแบบที่ไม่มีคนตรวจสอบแม้กฎหมายจะมีการตรวจสอบแต่ทางปฏิบัติไม่มีการตรวจสอบอย่างจริงจัง การออกแบบอาคารสูง จึงควรมีทั้งการตรวจสอบผู้ตรวจสอบและผู้ออกแบบอย่างจริงจัง

พร้อมเสนอว่า อนาคตการออกแบบโครงสร้างหลักของอาคารให้มีความเหนียวในการโยกตัวมากขึ้น แม้ว่าปัจจุบันผู้ประกอบการรายใหญ่ส่วนใหญ่ จะให้ความสำคัญและปฏิบัติตามมาตรฐาน โดยนำเทคโนโลยีและวิธีการออกแบบที่ทันสมัย เข้ามาใช้ในช่วงที่ผ่านมา แต่อนาคตผู้ประกอบการควรนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาใช้ เช่น อุปกรณ์ที่ช่วยดูดซับพลังงานการสั่นไหวของอาคาร เช่น Viscous Dampers หรือ Oil Dampers ที่นิยมใช้กันแพร่หลายในประเทศญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศ มาช่วยลดระดับการโยกตัว และการสั่นไหวของอาคารในประเทศไทย

ด้านนายอุทัย อุทัยแสงสุข กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทมีประสบการณ์กว่า 40 ปี ในการพัฒนาธุรกิจคอนโดมิเนียม ผ่านการสร้างโครงการแนวสูง 225 โครงการ รวมกว่า 90,000 ยูนิต ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวก็มีการดูแลลูกค้า โดยผลการตรวจสอบความปลอดภัยโครงการคอนโดมิเนียมครบ 100% ซึ่งทีมวิศวกรยืนยันว่า โครงสร้างอาคารแข็งแรง ปลอดภัยสามารถเข้าพักได้

ไม่ได้ตรวจเพียงโครงสร้างแต่ตรวจความเสียหายอื่นๆ เช่น ลิฟต์ 200 กว่าตัวที่มีปัญหา ตอนนี้เหลือ 9 ตัวที่มีปัญหาอยู่ เนื่องจากต้องสั่งอะไหล่จากต่างประเทศ คาดว่าจะแล้วเสร็จกลางปีหน้า รวมถึงไฟฟ้า ประปา ที่บางอาคารพบปัญหาท่อ ไฟฟ้าที่สายไฟผิดปกติ ส่วนสถาปัตยกรรมทุกอาคารมีปัญหา เช่น วัสดุอุดผิวหลุด ผนังมีรอยร้าว

นายวีระศักดิ์ วานิชวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฑีฆาก่อสร้าง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้อาจไม่ใช่ครั้งสุดท้าย แต่เราสามารถทำให้ครั้งต่อไป ให้ไม่เป็นวิกฤติ ถ้าเรายกระดับความพร้อมอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่วันนี้ สำหรับฑีฆามองว่าการออกแบบงานที่ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม รวมทั้งใช้วัสดุที่มีคุณภาพแข็งแรงปลอดภัยตามหลักวิชาการ ระบบการทำงานต้องมีคุณภาพและความปลอดภัยทุกขั้นตอนในการทำงาน โดยต้องตรวจสอบการทำงานทั้งหมด และต้องสร้างจิตสำนึกความปลอดภัยให้กับวิศวกร แรงงานก่อสร้าง ให้ตระหนักถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นทุกเวลา จะนำมาสู่มาตรฐานการก่อสร้างที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ นวัตกรรมที่อยากเห็นในวงการก่อสร้างคือการใช้วัสดุก่อสร้างสำเร็จรูปมากขึ้น เช่น ผนังน้ำหนักเบาโครงโลหะ ที่มีความแข็งแรงรับแรงและกันเสียงได้ดี ซึ่งเมื่อเกิดการแตกร้าว อาทิ จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว จะสามารถซ่อมแซมได้ง่ายกว่าผนังปูน พร้อมกับอยากเห็นภาครัฐและเอกชนร่วมมือกัน เพื่อพัฒนานวัตกรรมด้านความปลอดภัยอย่างจริงจัง

นายวิญญู อังศุนิตย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มีจำนวนการเคลมที่เข้ามาอย่างมากถือว่าเป็นความท้าทาย โดยเฉพาะจากลูกค้ารายย่อย โดยได้เร่งกระบวนการพิจารณา และจ่ายสินไหมทดแทน เน้นการสำรวจความเสียหาย และอนุมัติการจ่ายเคลมอย่างเป็นธรรม นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการควบคุมราคาค่าซ่อมแซม โดยเจรจากับผู้รับเหมาเพื่อให้มั่นใจว่าค่าใช้จ่ายสมเหตุสมผลและเป็นประโยชน์สูงสุดพร้อมทั้ง ขยายความร่วมมือกับหลากหลายภาคส่วน ประกอบไปด้วย ภาครัฐโดยทำงานใกล้ชิดกับสำนักงาน คปภ. และสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเรื่องประกันภัยและภัยธรรมชาติให้แก่ประชาชน

ด้านนายโสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส เปิดเผยว่า การเปิดตัวที่อยู่อาศัยในเดือนเมษายน 2568 มีทั้งหมด 10 โครงการ ทำให้สถิติการเปิดตัวที่อยู่อาศัยน้อยที่สุดรอบ 20 ปี หรือตั้งแต่ปี 2548 นอกจากนี้ ยังเป็นจำนวนโครงการน้อยกว่าเดือนมีนาคมที่ผ่านมาถึง 8 โครงการ

ประกอบด้วย จำนวนหน่วยขายเปิดใหม่รวมทั้งสิ้น 688 หน่วย ลดลง 2,863 หน่วย หรือ -80.5% จากเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สำหรับประเภทที่อยู่อาศัยที่มีจำนวนหน่วยเปิดขายใหม่มากที่สุดในเมษายน ได้แก่ อันดับ 1.บ้านเดี่ยว 79.4% อันดับ 2.ทาวน์เฮ้าส์ 16.7% และอันดับ 3 อาคารพาณิชย์ 16.3%

สาเหตุการเปิดตัวที่อยู่อาศัยลดน้อยลงมาก เป็นผลจากเดือนเมษายนมีวันหยุดยาวต่อเนื่องจำนวนมาก เหตุการณ์แผ่นดินไหวในกรุงเทพเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จึงทำให้ผู้ประกอบการชะลอการเปิดตัวใหม่ในเดือนนี้ โดยเฉพาะอาคารชุด หรือคอนโดมิเนียมที่ได้รับผลกระทบจากผู้บริโภคขาดความไม่มั่นใจในความปลอดภัยยังคงมีอยู่ต่อเนื่องหลังเกิดแผ่นดินไหว ที่สำคัญ ในเดือนเมษายนไม่มีการเปิดตัวอาคารชุดเลย

ด้านมูลค่ารวมของโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่เปิดใหม่ในเดือนเมษายน 2568 พบว่า มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 12,506 ล้านบาท ลดลง จากเดือนมีนาคมจำนวน 8,499 ล้านบาท หรือ -40.5% สำหรับมูลค่าการพัฒนาที่อยู่อาศัยในเดือนเมษายนสูงสุด คือ อันดับ 1. บ้านเดี่ยว 91.6% อันดับ 2.บ้านแฝด 6.2% และอันดับ 3 คือ อาคารพาณิชย์ 1.3% ของมูลค่าการพัฒนาทั้งหมด

การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่ในเดือนเมษายน ปรากฏว่า ในกลุ่มบ้านเดี่ยว จะเป็นราคาตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป ส่วนบ้านแฝดและทาวน์เฮ้าส์มีราคา 5-10 ล้านบาทเป็นหลัก สาเหตุจากเน้นกลุ่มเป้าหมายที่มีกำลังจ่ายสูง และไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในขณะนี้ ดังนั้น ราคาเฉลี่ยต่อหน่วยยังคงเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากที่อยู่อาศัยแนวราบที่มีระดับราคาปานกลางค่อนข้างสูงถึงระดับราคาสูง

ทำให้แนวโน้มการพัฒนาที่อยู่อาศัยในเดือนเมษายนเน้นกลุ่มผู้ที่มีรายได้สูง มีความต้องการซื้อเพื่อการอยู่อาศัยจริง และต้องการบ้านแนวราบที่ตั้งอยู่ในเขตเมืองชั้นกลาง และเขตติดต่อเมือง ซึ่งสามารถเดินทางเข้าสู่เขตกรุงเทพชั้นในได้สะดวก

อ่านข่าว :

ค่าครองชีพพุ่ง-กำลังซื้อหด ฉุดตั้งบริษัทใหม่ 4 เดือน ลด 4.39%

เปิดเดินรถไฟทางคู่ "ลพบุรี-ปากน้ำโพ" เส้นทางใหม่เพื่อการเดินทางที่รวดเร็วขึ้น

เปิดเกมเที่ยวไทย เจาะตลาด"ยุโรป-อินเดีย" แทนนักเที่ยวแดนมังกร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง