ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"จิสด้า"คาดภัยแล้งเริ่มคลี่คลายใน 1 -2 สัปดาห์ เหตุเข้าสู่ฤดูฝน

สังคม
14 ก.ค. 58
05:36
337
Logo Thai PBS
"จิสด้า"คาดภัยแล้งเริ่มคลี่คลายใน 1 -2 สัปดาห์ เหตุเข้าสู่ฤดูฝน

ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ระบุ ภาพรวมปัญหาภัยแล้งยังไม่วิกฤตมากนักโดยพื้นที่ 22 จังหวัดภาคกลางที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ขณะที่ในช่วงนี้มีร่องฝนขนาดเล็กช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งได้ คาดในอีก 1-2 สัปดาห์จะเข้าสู่ฤดูฝนจะมีปริมาณฝนเพิ่มและสามารถช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนต่าง ๆ ได้ ขณะที่ภาพถ่ายดาวเทียมชี้ขณะนี้พื้นที่การเกษตรยังไม่เสียหายรุนแรง

วันนี้ (14 ก.ค.2558) นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (จิสด้า) ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอสว่า ในระยะนี้เริ่มมีฝนตกในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางบางส่วนและในวันนี้คาดว่าจะมีฝนตกอีกในช่วงบ่าย สามารถบรรเทาปัญหาภัยแล้งได้ในระดับหนึ่งและอาจมีน้ำไหลเข้าเขื่อนเพิ่มขึ้นบ้าง ซึ่งปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนมีแนวโน้มเพิ่มปริมาณขึ้นทั่วประเทศแต่ยังถือว่าไม่เพียงพอเนื่องจากมีน้ำไหลอกมากกว่าน้ำไหลเข้า

ขณะที่โอกาสของการเกิดฝนในระยะใกล้ก็คือ ร่องฝนขนาดเล็กที่เกิดจากการเหนี่ยวนำของพายุและดีเปรสชัน ซึ่งไม่จำเป็นต้องผ่านเข้ามาในไทยก็สามารถทำให้เกิดฝนได้ โดยฝนที่ตกในช่วง 1-2 สัปดาห์นี้เกิดจากอิทธิพลของพายุที่เกิดในประเทศจีนซึ่งทำให้เกิดฝนแม้ว่าจะไม่ทำให้เกิดฝนมากแต่ก็เป็นฝนที่กระจายบริเวณกว้างและเป็นผลดีต่อภาคการเกษตร ขณะที่ในระยะต่อมาซึ่งเป็นฝนหลักของประเทศ ในฤดูกาลปกติจะเกิดขึ้นในช่วงเดือน ส.ค.เป็นต้นไปเนื่องจากเป็นช่วงที่ร่องมรสุมเคลื่อนที่กลับลงมาซึ่งขึ้นอยู่กับาความกดอากาศสูงจากจีนจะสามารถกดลงมาได้เมื่อใดซึ่งต้องการให้เคลื่อนลงมาช้าและตกยาวนานในพื้นที่ตอนบนซึ่งสามารถเก็บได้ในฤดูแล้ง คาดว่าจะสามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วง 1-2 สัปดาห์

ขณะที่ในช่วงฤดูแล้งหน้าในเดือน พ.ย. -  เม.ย.ปี 2559 จะต้องมีปริมาณน้ำในเขื่อนต่าง ๆ รวมกันไม่ต่ำกว่า 3,500 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งต้องดูอีกครั้งว่าในช่วงสิ้นเดือน ต.ค.จะมีปริมาณน้ำถึง 3,500 ล้านลูกบาศ์กเมตรหรือไม่

ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ  กล่าวเสริมว่า ภาวะอากาศของโลกกลไกยังคงเหมือนเดิมแต่ปรากฎการณ์เอลนิโญจะส่งผลกระทบต่อปริมษรฝนที่ตกบ้างแต่ยังไม่เคยปรากฎว่าจะทำให้ไม่เกิดฝนเลย คาดว่าจะยังมีฝนอยู่ซึ่งจากการคาดการณ์ขั้นต่ำอยู่ที่ 3,500 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่ขั้นสูงอยู่ที่ 10,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งการคาดการณ์การบริหารน้ำในฤดูแล้งมีการคาดการณ์ตามปริมาณน้ำขั้นต่ำ

นายอานนท์ กล่าวว่า ในอดีตไทยเคยประสบกับภาวะภัยแล้งมาแล้ว และในขณะนี้ที่ถือว่าอยู่ในขั้นวิกฤตคือในเขตชลประทานในพื้นที่ภาคกลาง 22 จังหวัด ขณะที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังไม่วิกฤต หากพิจารณาในภาพใหญ่ของประเทศพื้นที่นอกเขตชลประทานก็มีความใกล้เคียงกับฤดูกาลปกติ เนื่องจากฝนจะเริ่มมาในช่วงปลายเดือน ก.ค. และต้นข้าวจะเริ่มงอกในเดือนต้น ส.ค. และเก็บเกี่ยวในช่วงปลายเดือน พ.ย. ตามวงรอบของการทำนาของไทย ขณะที่พื้นที่การเกษตรที่เสียหายไปแล้วจากการพิจารณาจากภาพถ่ายดาวเทียมถือว่ายังไม่มากนัก ซึ่งความเสียหายรุนแรงยังไม่เกิดแต่อยู่ในความเสี่ยงว่าจะเกิดเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานอาจต้องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้มีมติในการลดการจ่ายน้ำไว้ก่อนแต่อาจยังไม่ต้องลดการจ่ายน้ำตามที่เสนอ ครม.ก็ได้ เนื่องจากการเสนอครม.ในการลดการปลอ่ยน้ำเป็นไปคตามระเบียบการบริหารจัดการน้ำที่กรมชลประทานจะต้องขอมติ ครม. ดังนั้นหากมีสถานการณ์ฝนตกเพิ่มเข้ามาช่วยก็อาจไม่จำเป็นต้องลดการปล่อยน้ำ และคาดว่าในช่วง 1 สัปดาห์นี้จะยังคงปล่อยน้ำในอัตราเดิมและในระยะต่อไปอาจพิจารณาเป็นรายสัปดาห์


ข่าวที่เกี่ยวข้อง