ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สภาฯ ผ่านฉลุย เปลี่ยนชื่อ "สำนักงานทรัพย์สินฯ" เป็น "พระคลังข้างที่"

การเมือง
16:05
933
สภาฯ ผ่านฉลุย เปลี่ยนชื่อ "สำนักงานทรัพย์สินฯ" เป็น "พระคลังข้างที่"
อ่านให้ฟัง
17:39อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
มติสภาฯ ผ่านฉลุย 3 วาระรวด เปลี่ยนชื่อ "สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์" เป็น "สำนักงานพระคลังข้างที่" ด้าน "ณัฐพงษ์" ยืนเดี่ยวฝ่ายค้านไม่ขัดข้องเปลี่ยนชื่อ แต่ไม่เห็นด้วย ครม.เร่งรัดกว่าปกติ ชี้กฎหมายนี้สำคัญควรรอบคอบ

วันนี้ (28 พ.ค.2568) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1 สมัยวิสามัญ เป็นพิเศษ วาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ โดยมีสาระสำคัญคือ เปลี่ยนชื่อสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เป็น สำนักงานพระคลังข้างที่ นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนคณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงหลักการและเหตุผลต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยร้องขอให้ที่ประชุมใช้กระบวนการพิจารณาแบบกรรมาธิการเต็มสภา ทั้ง 3 วาระ

ทั้งนี้ มีผู้ประสงค์จะอภิปรายเพียง 1 คน คือ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร โดยระบุว่า เมื่อได้ทราบว่า ครม. จะเสนอร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ฉบับนี้เข้าสู่สภา ก็ให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะร่างกฎหมายฉบับนี้ไปเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของแผ่นดินที่สำคัญอย่างยิ่ง คือเป็นทรัพย์สินของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว มีการประเมินไว้ว่าทรัพย์สินในส่วนนี้มีมูลค่ามากกว่า 1 ล้านล้านบาท

ชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ที่บัญญัติขึ้นตั้งแต่ยุครัฐบาล คสช. ปี 2561 ส่งผลให้การบริหารจัดการและดูแลพระราชทรัพย์เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ ตั้งแต่ชื่อเรียก Crown Property หรือทรัพย์สินของสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่เคยเรียกกันว่า ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในรัชสมัยก่อนหน้านี้ ก็ได้เปลี่ยนเป็นทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ และทรัพย์สินส่วนพระองค์ ก็เปลี่ยนเป็นคำว่าทรัพย์สินในพระองค์ รวมถึงการดูแลพระราชทรัพย์ทั้ง 2 ส่วนก็เปลี่ยนไปด้วย คือ ในรัชสมัยก่อนหน้านี้ การดูแลทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จะแยกกันกำกับดูแลจากทรัพย์สินส่วนพระองค์ คือแยกกันดู การดูแลทรัพย์สินส่วนพระองค์จะเป็นไปตามพระราชอัธยาศัย

สำหรับพระราชทรัพย์ในส่วนของสถาบันฯ นั้น เราจะมีวิธีบริหารจัดการดูแลอย่างไร ให้สถาพรที่สุดเพื่อธำรงไว้ซึ่งพระเกียรติยศและพระราชสถานะ ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ไม่ใช่ประเด็นที่จะมาถกเถียงกันในวันนี้ เพราะร่างกฎหมายที่รัฐบาลเสนอมาวันนี้ไม่ได้มีเนื้อหาที่จะกระทบ กับการเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการพระราชทรัพย์ทั้ง 2 ส่วน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญที่ตนได้กล่าวมานี้นั้น ได้ทำไปเสร็จสิ้นแล้วตั้งแต่ยุครัฐบาล คสช.

สาระสำคัญจริงๆ ของกฎหมายฉบับนี้เป็นเพียง การเปลี่ยนชื่อจากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ตามกฎหมายปี 2561 ไปเป็นสำนักงานพระคลังข้างที่แต่เพียงเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ พวกตนไม่ได้มีประเด็นอะไรที่จะคัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้ ที่รัฐบาลเสนอมา

แต่อย่างไรก็ตาม ในฐานะผู้แทนราษฎรคนหนึ่ง อยากให้การเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นไปตามกระบวนการนิติบัญญัติปกติ ไม่อยากให้เสนอกฎหมายฉบับนี้ด้วยกระบวนการพิเศษ เช่น การพิจารณา 3 วาระรวดผ่านกรรมาธิการเต็มสภา ให้จบเพียงแค่ 1 วัน ที่ ครม.เสนอมา เพราะถ้ายิ่งเป็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันที่เป็นพระประมุขของชาติ สภาของเรายิ่งต้องควรพิจารณาอย่างถี่ถ้วนรอบคอบ ต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัย หรือการตั้งคำถามในหมู่พี่น้องประชาชน

"ขอยืนยันว่าผู้แทนราษฎรของพรรคประชาชน จะทำหน้าที่พิทักษ์ปกป้องระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ Constitutional Monarchy หรือประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ เราจะระมัดระวังไม่ให้กฎหมายใดถูกติฉินนินทา หรือมีข้อครหาได้ว่า มีใครที่มีความพยายามทำให้หลุดพ้น ไปจากกรอบที่ว่านี้ ที่พระมหากษัตริย์ต้องทรงปกเกล้า แต่ไม่ปกครอง อันเป็นการรักษาพระราชสถานะของประมุข ให้ปราศจากจากการเมืองอย่างแท้จริง" นายณัฐพงษ์ระบุ

ดังนั้น ถึงแม้พวกตนจะสามารถรับหลักการในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ แต่ก็ไม่อาจเห็นด้วยกับกระบวนการที่ ครม. เสนอให้มีการใช้คณะกรรมาธิการเต็มสภา เพื่อเร่งรัดกระบวนการในการพิจารณากฎหมายฉบับนี้ พร้อมเสนอประธานสภาตามข้อบังคับการประชุมที่ 120 วรรค 2 อาจจะมีการเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรที่วรรคตอนไม่ชัดเจน ที่เขียนไว้ว่าเมื่อ ครม. ร้องขอ หรือ สส. 20 คนเสนอญัตติ และที่ประชุมอนุมัติ อยากเสนอให้ประธานทำหน้าที่วินิจฉัยให้เด็ดขาด ว่าคำว่า "และที่ประชุมอนุมัตินี้" บังคับใช้กับกรณีที่ ครม. เสนอมาด้วยหรือไม่ ต้องเกิดความชัดเจนในเรื่องนี้ เพื่อให้การผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้มีความรอบคอบและรัดกุม

ด้านนายจุติ ไกรฤกษ์ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ลุกขึ้นอภิปรายต่อโดยขอใช้สิทธิ์เห็นต่าง ตนเองเคารพความเห็นของผู้นำฝ่ายค้าน แต่ตนเองโตมาในระบบที่เชื่อและเคารพในอุดมการณ์ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ สำคัญต่อระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างยิ่ง ตนเองไม่เคลือบแคลงใน พ.ร.บ.ฉบับนี้แม้แต่น้อย เนื้อหากฎหมายฉบับนี้หลายคนอาจจะเห็นว่าเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ แต่ทั้งหมดเป็นไปเพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชน

คำที่ว่า "บริหารทรัพย์สินตามพระราชอัธยาศัย" ประวัติศาสตร์ ชี้ให้เห็นว่า คนไทยทั้งประเทศได้ประโยชน์ เนื่องจากรัฐบาลอาจจะมีงบประมาณไม่เพียงพอดูแลไม่ทั่วถึง โดยยกตัวอย่างเด็กชาติพันธุ์ตามตะเข็บชายแดน จำนวน 37,000 คน พระมหากษัตริย์ก็ทรงดูผ่านมูลนิธิและพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์

ส่วนเครื่องพิสูจน์ว่าการบริหารงานนั้นโปร่งใสหรือไม่ จะเห็นได้จากกรณีที่โรงพยาบาลสมเด็จพยุพราชเดชอุดมเกิดเหตุไฟไหม้ รัฐบาลยังไม่ได้ส่งอะไรไปช่วย แต่ท่านได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ไปช่วยเหลือแล้ว 20 กว่าล้านบาท เพื่อให้โรงพยาบาลกลับมาเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและอำเภอใกล้เคียง

นอกจากนี้ การบริหารตามพระราชอัธยาศัย มีบันทึกไว้ของกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุขว่า โรงพยาบาลและสถานราชทัณฑ์ 44 แห่งได้รับพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ 2,852 ล้านบาท และสิ่งที่พระองค์ไม่ประสงค์ให้คนไทยรู้คือ รถตรวจเชื้อและวิเคราะห์ผลโควิด-19 กว่ากระทรวงสาธารณสุขจะประกาศ TOR คนไทยคงติดเชื้อตายกันเป็นเบือ ท่านทอดพระเนตรเห็นว่าเหตุการณ์เช่นนั้นจะเกิดขึ้น หากไม่เข้ามาช่วยเหลือ

ประเทศมหาอำนาจที่ผลิตวัคซีนและยาแก้โรคติดต่อมีคนเสียชีวิตมากกว่าคนไทย 25 เท่า มีคนติดเชื้อโควิด-19 มากกว่าประเทศไทย 35 เท่า ต้องขอบคุณกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุข แพทย์ พยาบาล ทหารที่ช่วยให้วิกฤตดับลงไปได้

นายจุติ ถามในที่ประชุมว่ามีใครทราบหรือไม่ รถเก็บเชื้อโควิด-19 สามารถเก็บเชื้อจากคนไทยได้ 313,000 คน ซึ่งมีรถพระราชทาน 20 คัน มีรถขนด่วนภายใน 3 ชั่วโมง ช่วยจำกัดการกระจายของโรคได้อย่างรวดเร็ว เงินกี่พันล้านที่รักษาประโยชน์ของคนไทยไว้ได้

พ.ร.บ.นี้ ไม่ใช่แค่เปลี่ยนชื่อเฉย ๆ แต่ธำรงไว้ซึ่งความที่ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข พิสูจน์แล้วว่า ไม่สงสัยเคลือบแคลงในกฎหมายฉบับนี้ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนแน่นอน

ต่อมา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นอภิปรายว่า ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ผู้เสนอมีหลักการและเหตุผลตามที่ ครม.ได้นำเสนอต่อรัฐสภา ที่แจ้งต่อสภาตามข้อบังคับ 120 กรณีที่จะพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ ครม. ขอให้สภามีมติพิจารณา 3 วาระ คือ ตั้งกรรมาธิการเต็มสภา เป็นการพิจารณาไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่เคยรองรับไว้ วาระที่ 1 รับหลักการ วาระที่ 2 ชั้นกรรมาธิการ และวาระที่ 3 ชั้นให้ความเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้หรือไม่ ก่อนที่จะส่งไปให้วุฒิสภาพิจารณาต่อ

โดยการทำตามลำดับขั้นตอนนี้ แม้ในที่ประชุมรัฐสภาจะมีมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับการตั้งกรรมาธิการเต็มสภา หรือการพิจารณา 3 วาระในคราวเดียวกัน อาจจะต้องขอมติ เพราะมีสมาชิกไม่เห็นด้วยที่จะพิจารณา 3 วาระ ให้เป็นไปตามกระบวนการปกติ และควรจะพิจารณา 3 วาระ ซึ่งต้องขอความเห็นว่าจะพิจารณาโดยอาศัยกรรมาธิการเต็มสภา ให้สมาชิกทุกคนเป็นหรือไม่ หากเห็นชอบจะพิจารณาในชั้นกรรมาธิการเต็มสภา

ดังนั้น ต้องขอความเห็นว่าเห็นชอบกับการพิจารณา โดยตั้งกรรมาธิการเต็มสภาหรือไม่ และเมื่อเข้าสู่การพิจารณาต้องเข้าสู่วาระที่หนึ่ง ชั้นรับหลักการจะมีผู้อภิปรายเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบก็เป็นหน้าที่ของสภา หากสภาไม่มีผู้อภิปรายหรือมีผู้เห็นชอบตลอดกาล ก็ต้องถามมติว่าเห็นชอบต่อหลักการหรือไม่ หรือไม่เห็นชอบ และต่อกรรมาธิการเต็มสภา

ตามที่มีมติ และจะเข้าสู่วาระที่สาม จะเห็นชอบกับการเสนอร่าง แม้จะต้องเต็มสภาก็ต้องทำตามระเบียบวาระ ทำตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้ว่า การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ต้องพิจารณา 3 วาระ

นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า การพิจารณาด้วยกรรมาธิการเต็มสภา พิจารณาในวาระที่ 1 และ 2 ในคราวเดียวกัน เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้หลักการที่เสนอเข้ามาโดย ครม. เป็นเพียงการเปลี่ยนแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561 เพื่อเปลี่ยนชื่อสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เป็นสำนักงานพระคลังข้างที่ และโอนกิจการของสำนักพระราชวัง เฉพาะส่วนงานพระคลังข้างที่ เป็นของสำนักพระคลังข้างที่ ซึ่งมีอยู่ 6 มาตรา

"ดังนั้น การพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ ช่วยกันพิจารณาได้ ไม่ยุ่งยากซับซ้อนอะไร ไม่เกี่ยวเนื่องกับการบริหารทรัพย์สินใดๆ ประเด็นที่มีสมาชิกพูดถึงการบริหารทรัพย์สิน ใช้ประโยชน์ทรัพย์สิน การจัดการทรัพย์สิน เป็นการพูดนอกประเด็น ประธานสภา ต้องระมัดระวังอะไรที่นอกประเด็น ไม่ควรให้อภิปราย ต้องอยู่ในประเด็นเท่านั้นจะให้เปลี่ยนหรือไม่ให้เปลี่ยน ถ้าไม่เห็นด้วยก็บอกไม่เห็นด้วย ให้กลับไปเป็นสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เหมือนเดิมก็ว่าไป แต่จะก้าวล่วงการบริหารทรัพย์สิน มันคือเรื่องนอกประเด็น" นพ.ชลน่านกล่าว

นพ.ชลน่าน ย้ำว่า ตนเห็นด้วยกับการตั้งกรรมาธิการเต็มสภา ไม่มีอะไรซับซ้อนอยู่ในตัวบททั้งหมด

ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน

ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน

ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน

นายณัฐพงษ์ขอใช้สิทธิชี้แจง เพราะเกรงว่าจะมีความเข้าใจผิด ซึ่งตนเองพูดชัดเจนว่าสาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้คือการเปลี่ยนชื่อเท่านั้น ผู้ที่อภิปรายนอกประเด็นมากกว่า อาจเป็นนายจุติ ไกรฤกษ์ มากกว่า ขอยืนยันว่าพวกเราไม่ได้คัดค้าน และเห็นด้วยกับการรับหลักการร่าง พ.ร.บ.นี้ เพียงแต่ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการที่ ครม. จะเร่งรัดเท่านั้น ขอบคุณ นพ.ชลน่าน ที่ทำให้ชัดเจนมากขึ้นว่า การบังคับใช้ข้อบังคับที่ 120 วรรค 2 จะต้องอาศัยมติของที่ประชุม

จากนั้น นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุมขณะนั้น จึงเรียกให้มีการลงมติ ผลการลงมติของสมาชิกที่ประชุม 453 เสียง เสียงเห็นชอบ 451 เสียง และงดออกเสียง 2 เสียง

นายชูศักดิ์ชี้แจงว่า ในชั้น ครม.ที่พิจารณาเรื่องนี้ก็ได้พูดคุยกันพอสมควร ว่าจะให้สภาฯ พิจารณาแบบกรรมาธิการเต็มสภา 3 วาระ จะสมควรหรือไม่ประการใด เพราะข้อบังคับ 120 นอกจาก ครม.แล้ว ยังเปิดให้สมาชิกเสนอได้ แต่ในท้ายสุด ครม. ก็ทราบดีว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนสถาบันฯ และเป็นเพียงแค่ถ้อยคำ ไม่ได้มีข้อยุ่งยาก กฎหมายมี 6 มาตรา เป็นรูปแบบ 3 มาตรา เนื้อหาจริงมีเพียง 3 มาตรา จากการได้ค้นคว้ากฎหมายทำนองนี้ในอดีต ส่วนใหญ่จะใช้กรรมาธิการเต็มสภาอยู่หลายครั้ง ครม. จึงมีความเห็นว่า หาก ครม. เสนอพิจารณาแบบกรรมาธิการเต็มสภา ก็จะเป็นความสง่างาม และให้ ครม. เร่งทำกฎหมายนี้ให้เสร็จโดยเร็ว

นายณัฐพงษ์จึงท้วงขึ้นว่า สอดคล้องกับที่ นพ.ชลน่าน ให้ความเห็นว่า ไม่ว่า ครม. เสนอหรือสมาชิกเสนอ จะต้องมีมติในที่ประชุมว่าจะเห็นชอบกับกระบวนการกรรมาธิการเต็มสภาหรือไม่ นายพิเชษฐ์ตอบว่า หาก ครม. ร้องขอ ก็ต้องดำเนินการ นายณัฐพงษ์จึงขอให้ นพ.ชลน่าน ลุกขึ้นแสดงความเห็น

นพ.ชลน่าน กล่าวว่าการตีความตามข้อบังคับที่ 120 ก็จะตีความเช่นเดียวกับผู้นำฝ่ายค้านแตกต่างจากวิธีปฏิบัติที่เราเคยใช้กันมา ข้อความแรกก่อนวรรคมีความหมายจบในตัววรรคหรือ แล้วต่อท้ายด้วย เมื่อสมาชิกเสนอญัตติ โดยมีจำนวนสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 และที่ประชุมอนุมัติจะถือเป็นความเดียวกัน วิธีพิมพ์แบบนี้ทำให้ตีความได้ทั้ง 2 รูปแบบ หากดูคร่าว ๆ ในตอนแรกก็ตีความเช่นเดียวกับผู้นำฝ่ายค้านต้องถือว่าตนเองตีความผิดพลาด

วิธีการที่เราปฏิบัติที่ผ่านกันมา เมื่อ ครม.ร้องขอฝ่ายนิติบัญญัติจะเป็นผู้ให้ความเห็นชอบ จึงเรียนหน่วยงานที่ทำเอกสารต้องดูรายละเอียดด้วยว่าการใช้ข้อบังคับของสมาชิก เราใช้ตามลายลักษณ์อักษร ตนเองไม่ใช่พหูสูตที่จะจำข้อความในอดีตได้ จึงต้องเอาสิ่งที่เป็นปัจจุบันมาอ้างอิง

นายพิเชษฐ์ จึงขอให้ดำเนินการตามที่ ครม.ร้องขอ จากนั้นนายณัฐพงษ์ กล่าวต่อว่า ประธานใช้อำนาจวินิจฉัยตีความข้อบังคับตามที่ ครม.ร้องขอโดยไม่มีมติใช่หรือไม่ นายพิเชษฐ์ จึงกล่าวว่าตนเองไม่ได้ตีความ แต่ทำตามข้อบังคับ ข้อบังคับมีเว้นวรรคถ้า ครม. ร้องขอหรือสมาชิก 20 คนเข้าชื่อจะสามารถตรวจได้ แต่ถ้า ครม.ร้องขอก็ทำตามที่ร้องขอได้ ตนเองจึงขอวินิจฉัยตามนี้

จากนั้น ที่ประชุมได้พิจารณาให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวในวาระ 2 และ 3 โดยผลการลงมติจากสมาชิกในที่ประชุม 456 คน ลงคะแนนเสียงเห็นชอบ 454 คนงดออกเสียง 2 คน โดยไม่มีลงคะแนนเสียงไม่เห็นชอบ

อ่านข่าว :

สภาอนุมัติ “พ.ร.ก.ไซเบอร์-สินทรัพย์ดิจิทัล” ให้"แบงก์ร่วม" ชดใช้ค่าเสียหายจาก “แก๊งคอลเซนเตอร์”

ป.ป.ช.ชี้มูล 3 อดีต ข.ร.ก.สำนักพุทธฯ ร่ำรวยผิดปกติ กว่า 50 ล้านบาท

"ณณัฏฐ์" มั่นใจงบฯปี 69 พรรคร่วม หนุนโหวตผ่านฉลุย