ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เครือข่ายปกป้องอันดามันยันจุดยืนค้านสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขอ 3 ปีพิสูจน์พลังงานทดแทน

สังคม
14 ก.ค. 58
08:12
220
Logo Thai PBS
เครือข่ายปกป้องอันดามันยันจุดยืนค้านสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขอ 3 ปีพิสูจน์พลังงานทดแทน

เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินแถลงจุดยืนค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจ.กระบี่ ที่ทางกฟผ.จะเปิดซื้อซองประกวดราคาในวันที่ 22 ก.ค.นี้ โดยขอเวลา 3 ปีพิสูจน์พลังงานทดแทน ขณะที่ตัวแทนรัฐบาลรับข้อเสนอดังกล่าวเพื่อส่งต่อข้อมูลให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา

วันนี้(14 ก.ค.2558)  เครือข่ายปกป้องอันดามันแถลงจุดยืนคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ด้านหน้ากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยมีเงื่อนไขที่เรียกร้องคือรัฐบาลต้องล้มเลิกโครงการนี้ทันที เครือข่ายปกป้องอันดามันฯมั่นใจว่า แม้ไม่มีโรงไฟฟ้าถ่านหิน ชาวจ.กระบี่ ก็ยังมีไฟฟ้าใช้เพียงพอ โดยอ้างอิงจากข้อมูลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ที่ระบุถึงกำลังการผลิตไฟ้ฟ้าพึ่งได้ในปัจจุบันของภาคใต้อยู่ที่ 3,887.7 เมกะวัตต์ โดยค่าการใช้ไฟฟ้าสูงสุด ณ วันที่ 26 เม.ย.2557 อยู่ที่ 2,467.7 เมกะวัตต์ หมายความว่า ยังมีไฟฟ้าเหลือใช้อีกกว่า 1,400 เมกะวัตต์

ส่วนพลังงานทดแทนจากปาล์มและน้ำเสียจากโรงงานปาล์ม ที่นำไปสู่กระบวนการผลิตไฟฟ้าขณะนี้ทั้ง 11 แห่ง ในจ.กระบี่ สามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึงกว่าร้อยละ 47 จากปริมาณการใช้ไฟฟ้าทั้งจังหวัดกว่า 120 เมกะวัตต์ อีกทั้งโรงไฟฟ้าจากน้ำมันเตาของ กฟผ.เดิมก็มีกำลังการผลิตถึง 350 เมกะวัตต์ สถานการณ์การใช้ไฟฟ้ารวมถึงภาพรวมของพลังงานทดแทนนี้เอง ทำให้เครือข่ายปกป้องอันดามันฯขอเวลา 3 ปี พิสูจน์ให้รัฐบาลเห็นถึงแนวทางการใช้พลังงานทดแทนอย่างยั่งยืน

ขณะที่ยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนจากรัฐบาลในการตอบรับข้อเสนอนี้แต่ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในฐานะตัวแทนรัฐบาลยืนยันว่า นายกรัฐมนตรีเป็นห่วงการออกมาคัดค้านของเครือข่ายฯ และพร้อมนำข้อเสนอต่างๆ ส่งถึงนายกรัฐมนตรีทันที รวมถึงการขอให้ กฟผ.ยุติการเปิดยื่นซองประกวดราคาก่อสร้างโรงไฟฟ้าในวันที่ 22 ก.ค.นี้

สำหรับความพยายามของกฟผ.ในการตั้งราคากลาง ในการเปิดให้เอกชน ยื่นซองประกวดราคาไว้ที่ 49,500 ล้านบาทนั้นถูกมองว่าเป็นการดำเนินการทั้งที่กระบวนการรายงาน EIA และ EHIA ยังไม่ครอบคลุม และไม่สมบูรณ์เพียงพอ และงานวิจัยของเครือข่ายปกป้องอันดามันยังพบด้วยว่า นักท่องเที่ยวร้อยละ 87 จะไม่กลับมาเที่ยว จ.กระบี่ หากมีโรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้น ซึ่งคาดการณ์ว่าจะกระทบการท่องเที่ยวฝั่งอันดามันที่สร้างรายได้เข้าประเทศปีละกว่า 300,000 ล้านบาท


ข่าวที่เกี่ยวข้อง