กรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องถอดถอน "แพทองธาร ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี กรณีคลิปสนทนากับฮุนเซน ไม่ซื่อสัตย์สุจริต และฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม ตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ และสั่งหยุดให้ปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว คอการเมืองฟันธงว่านี่คือ "นิติสงคราม" ฉากใหญ่สำหรับรัฐบาลพรรคเพื่อไทย คาดการณ์ว่า 30 วัน ศาลรัฐธรรมนูญจะนัดฟังคำวินิจฉัยชี้ขาดได้ และแนวโน้มที่เชื่อกันว่าน่าจะ "สอย" นายกฯ พ้นจากเก้าอี้
เมื่อวันที่ 1 ก.ค.2568 รัฐบาลเพื่อไทยเผชิญนิติสงครามฉากใหญ่ ขณะที่ "ครม.แพทองธาร 2" วางหมากรองรับไว้ทุกประเด็นแล้วเช่นกัน เว้นแต่ว่าหลังจากนี้ น.ส.แพทองธาร จะตัดสินใจทางการเมืองไปก่อน ก่อนศาลรัฐธรรมนูญจะนัดชี้ขาดว่าต้องพ้นจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรีหรือไม่ ช่วง 30 วันนับจากนี้
นายกฯ แพทองธาร ยังคงกล่าวย้ำจนถึงวันนี้ว่าคลิปสนทนากับฮุนเซน เป็นการทำเพื่อประเทศชาติ ไม่ได้มีเจตนาอยากได้หรือมีเจตนาร้ายอะไร พร้อมกล่าว "ขอโทษ" ประชาชนที่ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ และขอโทษในวิธีการที่ไม่ถูกใจใครหลายคน ก่อนย้ำว่าในช่วงหยุดปฎิบัติหน้าที่จะทำเพื่อประเทศชาติต่อไปในฐานะคนไทยคนหนึ่ง

แต่หลังวันที่ 3 ก.ค. นายกฯ แพทองธาร คงได้เริ่มปฏิบัติหน้าที่ "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม" ตามบทบาทใน "ครม.แพทองธาร 2" ที่วางไว้ ซึ่งนั่นไม่ใช่แค่จะบอกว่า "ยังอยู่-มีหน้าที่ใน ครม." แต่หมายถึงการตอกย้ำว่ายังคงมีอำนาจในรัฐบาลอยู่ด้วย
ภายใต้ข้อสังเกตว่า ช่วง 30 วันหลังศาลฯ รับคำร้อง หรือหมายถึงก่อนศาลฯ นัดฟังคำวินิจฉัยชี้ขาด "สอย-ไม่สอย" พ้นจากเก้าอี้นายกฯ คือห้วงเวลาของการตัดสินใจทางการเมืองอีกครั้งของ น.ส.แพทองธาร จะเพื่อตระกูล "ชินวัตร" หรือจะเพื่อรัฐบาลพรรคเพื่อไทย หรือจะหมายรวมไปเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ก็ตาม
หากตัดสินใจเร็ว "ลาออก" ก่อนถูกสอย เพื่อเปิดทางเลือกนายกฯ คนใหม่ อาจรักษาอายุรัฐบาลและสภาฯ ชุดนี้ไว้ได้ แต่อาจพลาดถ้าคำตอบสุดท้าย "ไม่สอย" แต่หากคำตอบสุดท้ายออกมาสอยพ้นเก้าอี้นายกฯ ถึงตอนนั้นอาจเป็นไปได้ไหม ประกอบกับปัจจัยการเมืองที่เปลี่ยนไป แล้วเกิดเกินกว่าจะรับมือได้ ทางเลือกสุดท้ายตอนนั้นอาจมีแค่ "ยุบสภา" หรือเปล่า

เร่งด่วนไปอาจจับสัญญาณผิดพลาดได้ แต่ถ้าช้าเกินไปก็อาจสายเกินแก้ โดยเฉพาะกับปัจจัยทางการเมืองในสถานการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ โดยเฉพาะในอีก 30 วันข้างหน้า ไม่มาก..ไม่น้อย ปัญหาต้องรุมเร้าแน่ แรงกดดันต้องสูงขึ้นอีกไหม รัฐบาลเพื่อไทยจะเอาอยู่หรือไม่
ปัจจัยที่ว่าคือ เอกภาพพรรคร่วมรัฐบาล-ญัตติต่างๆ ในสภาฯ โดยเฉพาะซักฟอก และร่างกฎหมายสำคัญๆ ที่ต้องขับเคลื่อน หรืออาจถูกต่อต้านอีก การชุมนุมทางการเมืองที่อาจบานปลายได้ ปมความขัดแย้งชายแดนไทย-กัมพูชาจะรุกลามหรือไม่ และการเจรจาภาษีกับสหรัฐฯ จะเป็นผลสำเร็จหรือเปล่า
แต่หากปัจจัยที่ว่า "เอาไม่อยู่" ขึ้นมา บทสรุปสุดท้ายหลังถูกสอยพ้นเก้าอี้นายกฯ ทางออกเดียวคือ "ยุบสภา" เว้นแต่ว่าเมื่อถึงเวลานั้น สถานการณ์ที่เห็นอยู่ตรงหน้ามีข้อตกลง หรือมีดีลบางอย่างไว้ (อย่างการเปลี่ยนตัวนายกฯ หรือถึงขั้นเปลี่ยนผู้คุมอำนาจตัวจริง) เพราะมีข้อสังเกตผ่าน "ครม.แพทองธาร 2" ที่ตัดสินใจเว้นว่างเก้าอี้ "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม" ไว้ จึงเป็นเหตุสงสัยว่าระหว่าง "เพื่อไทย" กับขั้วอนุรักษ์นิยม มีดีลอะไรกันอีกหรือไม่

ทางหนึ่งคือ "บิ๊กเล็ก" ที่จะทำหน้าที่รักษาการ รมว.กลาโหม คนในแวดวงรับรู้กันว่านี่คือน้องรักบิ๊กตู่ ส่วนอีกทางหนึ่งคือ "บิ๊กแก้ว" น้องรักบิ๊กแดง ที่คาดการณ์ว่าเพื่อไทยวางตัวไว้ให้เข้ามารับหน้าที่ รมว.กลาโหม ในอีก 3 เดือน
หรือที่นายกฯ แพทองธาร เลือกที่จะไม่ตัดสินใจอะไรตอนนี้ เพราะที่ว่าอาจเป็นไปได้ หากแต่ว่าระหว่างลุ้น 30 วัน หรือจะหมายถึงอีก 3 เดือนข้างหน้า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รักษาการนายกรัฐมนตรี จะนำ "ครม.แพทองธาร 2" เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณ ในวันที่ 3 ก.ค.นี้ ก่อนเข้ารับหน้าที่ และหน้างานตอนนี้คือรับมือกับ "ซักฟอก" ในสภาฯ ไหม เพราะ "ภูมิใจไทย" กำลังเดินหน้าบทบาทพรรคฝ่ายค้าน
อ่านข่าว
"ณัฐพล" ลั่นไร้สุญญากาศแม้ไม่มี รมว.กลาโหม ยันชายแดนดีขึ้น