ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ทส.กำหนดเขตคุ้มครองทางทะเล-ชายฝั่ง "หมู่เกาะพยาม" 1.5 พันไร่

ทส.กำหนดเขตคุ้มครองทางทะเล-ชายฝั่ง "หมู่เกาะพยาม" 1.5 พันไร่
อ่านให้ฟัง
05:41อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ทส.กำหนดแนวเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง “หมู่เกาะพยาม” พื้นที่ 1,500 ไร่ กำหนด 4 จุดห้ามทำประมง-กิจกรรมกีฬาทางน้ำ-ปล่อยน้ำเสีย หลังพบปะการังบางส่วนตาย

วันที่ 2 ก.ค.2568 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) กล่าวว่า ตามที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดแนวเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ประเภทหาด ปะการัง กัลปังหา แหล่งหญ้าทะเล สิ่งมีชีวิตในแนวปะการัง และสัตว์ทะเลหายาก ในพื้นที่หมู่เกาะพยาม ต.เกาะพยาม อ.เมืองระนอง จ.ระนอง

ทั้งนี้ ราชกิจจานุเบกษา ได้ประกาศเมื่อวันที่ 1 ก.ค.2568 ให้มีระยะเวลาบังคับใช้ 5 ปีนับตั้งแต่วันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ โดยประกาศฉบับนี้ นับว่าเป็นก้าวที่สำคัญในการดูแลอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เนื่องจากบริเวณพื้นที่หมู่เกาะพยาม เป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ มีพื้นที่ประมาณ 1.5 พันไร่

เป็นแนวปะการังน้ำตื้นสภาพดีปานกลาง หญ้าทะเลค่อนข้างสมบูรณ์ พบสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์เป็นครั้งคราว แต่พบว่ามีการตายของปะการังบางส่วน เนื่องจากมีการประกอบกิจกรรมการท่องเที่ยวดำน้ำ ทำประมง การพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ ปัญหาการทิ้งขยะ น้ำเสียจากชุมชน ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง แนวปะการัง แหล่งหญ้าทะเล สัตว์น้ำวัยอ่อน และคุณภาพชายหาด

ขณะที่ ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ประกาศกระทรวงดังกล่าวได้กำหนดบริเวณพื้นที่บังคับไว้ 4 บริเวณ กำหนดกิจกรรมที่ห้ามดำเนินการแตกต่างกัน คือ

บริเวณที่ 1 พื้นที่บนแผ่นดินนับจากแนวชายฝั่งทะเลเข้าไปในแผ่นดินของเกาะพยาม เกาะขาม และเกาะนุ้ย ห้ามทิ้งขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล ปล่อยน้ำเสีย ห้ามกระทำหรือดำเนินกิจกรรมใด ๆ ที่ทำให้เกิดตะกอนลงสู่ทะเล ห้ามวางร่ม โต๊ะ เตียงผ้าใบ หรือที่นั่งบนพื้นที่ชายหาดสาธารณะ ยกเว้นพื้นที่ที่กำหนดไว้ การขับขี่ยานพาหนะบนชายหาด ต้องปฏิบัติตามวิธีการที่กำหนด

บริเวณที่ 2 พื้นที่ตั้งแต่แนวชายฝั่งทะเลลงมาจนถึงแนวปะการังธรรมชาติและบริเวณต่อเนื่อง ห้ามดำเนินกิจกรรมกีฬาทางน้ำหรือกิจกรรมท่องเที่ยวทางน้ำทุกชนิด ห้ามทำการประมงทุกชนิด ยกเว้นเครื่องมือเบ็ดตกปลา ห้ามทำการประมงในบริเวณแนวปะการังกองหินอ่าวปีป อ่าวคอกิ่ว อ่าวใหญ่ อ่าวเขาควาย และเกาะขาม ห้ามทิ้งสมอในบริเวณแนวปะการัง ห้ามทิ้งขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล ปล่อยน้ำเสีย ห้ามกระทำหรือดำเนินกิจกรรมใด ๆ ที่เป็นการทำลายของแนวปะการัง ซากปะการัง กัลปังหา สัตว์น้ำในแนวปะการังหรือสัตว์ทะเลหายาก ห้ามให้อาหารสัตว์น้ำ ห้ามก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างใด ๆ เว้นแต่เมื่อได้รับอนุญาตตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ ต้องปฏิบัติตามมาตรการ หลักเกณฑ์ วิธีการที่กำหนด กิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ ควรคำนึงถึงการรองรับของพื้นที่ ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมต้องปฏิบัติตามจุดหรือเขตกำหนด

บริเวณที่ 3 พื้นที่แหล่งหญ้าทะแลและบริเวณต่อเนื่อง ห้ามทิ้งขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล ปล่อยน้ำเสีย ห้ามกระทำหรือดำเนินกิจกรรมใด ๆ ที่เป็นการทำลายต่อสภาพแวดล้อมของแหล่งหญ้าทะเล สัตว์น้ำในแหล่งหญ้าทะเล หรือสัตว์ทะเลหายาก ห้ามการทำประมงด้วยเครื่องมืออวนกระทุ้งน้ำ เบ็ดราวกระเบน และการใช้เครื่องปั้มลมประกอบ

บริเวณที่ 4 พื้นที่ทะเลถัดจากบริเวณที่ 2 และบริเวณที่ 3 ออกไปภายในบริเวณเส้นตรงที่เชื่อมต่อจุดพิกัด ทั้ง 7 จุดตามประกาศฯ ห้ามทิ้งขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล ปล่อยน้ำเสีย ห้ามกระทำหรือดำเนินกิจกรรมใด ๆ ที่เป็นการทำลายต่อสภาพแวดล้อมของแนวปะการัง แหล่งหญ้าทะเล ซากปะการัง กัลปังหา สัตว์น้ำในแนวปะการังและแหล่งหญ้าทะเล และสัตว์ทะเลหายาก

ทั้งนี้ หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่กำหนดจะดำเนินตามบทลงโทษตามมาตรา 22 ของพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 คือ จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

อ่านข่าว : คกก.เห็นชอบหลักการ ปลด "นกกรงหัวจุก" พ้นสัตว์ป่าคุ้มครอง  

กรมประมง เพาะพันธุ์ "ปลาสลิดหิน 2 ชนิด" สำเร็จครั้งแรกในไทย