ด้วยรสนิยมการรับประทานทุเรียนของชาวมาเลเซีย ที่ชอบทุเรียนหล่นจากต้น สุกจัด ติดขมเล็กน้อย ทำให้ทุเรียนผิวสีส้ม รสชาติคล้ายการกินครีมเนื้อละเอียด หอม หวานละมุน ของทุเรียนพันธุ์โอวฉี หรือ หนามดำ ยังคงมีราคาสูง เมื่อส่งไปขายยังมาเลเซีย ตกกิโลกรัมละ 350-400 บาท และขายผ่านออนไลน์ราคากิโลกรัมละ 650 บาท
จึงเป็นโอกาสให้เกษตรกรอย่าง นายกิตติศักดิ์ จิตรุ่งอนันต์ ชาว อ.เบตง จ.ยะลา เจ้าของสวนทุเรียนโกดังสีส้ม ที่ตัดผลผลิตทุเรียนโอวฉีส่งออกไปยังมาเลเซียมาแล้ว 1 รุ่น สร้างรายได้นับล้านบาท

นายกิตติศักดิ์ จิตรุ่งอนันต์ ชาว อ.เบตง จ.ยะลา เจ้าของสวนทุเรียนโกดังสีส้ม
นายกิตติศักดิ์ จิตรุ่งอนันต์ ชาว อ.เบตง จ.ยะลา เจ้าของสวนทุเรียนโกดังสีส้ม
นายกิตติศักดิ์ บอกว่า ปีนี้ ผลผลิตทุเรียนโอวฉีลดลงครึ่งหนึ่ง เหลือประมาณ 7-8 ตัน จากที่เคยได้กว่า 14 ตัน เพราะฝนที่ตกหนักต่อเนื่อง ศัตรูพืช อย่างกระรอก และหนอน ทำให้ผลทุเรียนเริ่มมีจุดดำ อีกทั้งในสวนดูแลทุเรียนแบบธรรมชาติ
ทั้งการใช้ปุ๋ยชีวภาพเป็นหลัก ทำให้ผลผลิตบางส่วนไม่สวยหนัก แต่ก็ยังเป็นโอกาสในการขายทุเรียนพันธุ์นี้ สำหรับลูกค้าชาวมาเลเซีย นอกเหนือจากทุเรียนพันธุ์มูซังคิง ที่มีอยู่ในพื้นที่ส่วนใหญ่
ตอนแรกที่ผมเริ่มปลูก เพื่อนๆ ก็ถามว่า ทำไมปลูกหนามดำ ผมก็มองว่า พันธุ์มูซังคิง และพันธุ์อื่น ๆ เยอะอยู่แล้ว เมื่อผมได้ชิมโอวฉี รสชาติอร่อยจริง ๆ ผมเลยตัดสินใจปลูก ซึ่งตอนนี้คนในพื้นที่ก็ปลูกกันเยอะมาก หลายสวนที่โค่นยางพารา ถามว่า ปลูกอะไร ก็ปลูกหนามดำเยอะขึ้น ในอนาคตเบตงก็จะมีทุเรียนพันธุ์นี้ปีต่อปีเพิ่มขึ้น

ผลทุเรียนพันธุ์โอวฉี กว่า 200 ต้น ในสวนของนายกิตติศักดิ์ กำลังรอตัดใหม่รอบอีกหนึ่งรุ่นกลางเดือน ก.ค.นี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผลผลิตทุเรียนพันธุ์นี้ ซึ่งปลูกในประเทศมาเลเซีย เริ่มหมดลง โอกาสในการส่งออกจึงเพิ่มขึ้น นายกิตติศักดิ์ มองว่า อนาคตเจ้าของสวนทุเรียนพันธุ์อื่น ๆ ที่มีมากในตลาดทั่วไปอาจต้องปรับตัวเพราะการแข่งขันที่สูงขึ้น โดยเฉพาะเมื่อจีนกีดกันทางการค้า
กระทรวงพาณิชย์ต้องเป็นเซลล์ โปรโมทหลายประเทศหน่อย อย่าขายแต่ประเทศจีน พอประเทศจีนบีบเราที ร้องไห้เลย ลองคิดง่ายๆ ทุกวันนี้ หากผลผลิตออกมาพร้อม ๆ กัน และลองไม่เข้าประเทศจีนสักสัปดาห์เดียว รับรองทุเรียนถมคลอง ถมถนน เพราะทุกวันนี้ 80-90 เปอร์เซ็นต์ ส่งเข้าจีนหมด ตลาดใหม่ไม่ค่อยมี
ปัจจุบัน อ.เบตง มีพื้นที่ปลูกทุเรียนกว่า 47,000 ไร่ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 12 จากเมื่อปีที่ผ่านมา โดยให้ผลผลิตประมาณ 23, 000 ไร่ หรือประมาณ 500-600 กิโลกรัมต่อไร่ รวมผลผลิตทั้งหมดกว่า 13,000 ตัน
ซึ่งในปีนี้แนวโน้มของทุเรียนพันธุ์เดิม คือ มูซังคิง ซึ่งเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวมาเลเซียค่อนข้างชะลอตัว เนื่องจากให้ผลผลิตน้อยลง แต่โชคดีที่ยังมีพันธุ์โอวฉี และพันธุ์อื่น ๆ รวมถึงผลผลิตทุเรียนของ อ.เบตง ที่จะออกมาช่วงปลายฤดูกาลทุเรียน ซึ่งไม่ชนกับพื้นที่อื่น ๆ มากนัก ทำให้ราคาผลผลิตยังได้กำไร

ด้าน น.ส.อาภรณ์ รัตนพิบูลย์ เกษตรอำเภอเบตง เห็นว่า ทางรอดระยะยาวของทุเรียน อ.เบตง คือ การพัฒนาคุณภาพ และสร้างภาพลักษณให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น
“จริง ๆ ทุเรียนเบตงมีคุณภาพที่ดีและอร่อยมาก เพียงแต่ตลาดในประเทศไทย อาจไม่เป็นที่รู้จักกันมาก เพราะเมื่อพูดถึงทุเรียนยะลา มักจะคิดถึงทุเรียนหนอน ทุเรียนรู ไม่มีคุณภาพ พ่อค้าก็จะกดราคา เราก็จะขายได้น้อยกว่าคนอื่น ทั้งที่แท้จริง ทุเรียนเบตงเป็นทุเรียนคุณภาพ” เกษตรอำเภอเบตง กล่าว
จีนถูกมองว่า เป็นปลายน้ำของการส่งออกทุเรียนไทย ซึ่งปัจจุบันได้เพิ่มความเข้มงวดเรื่องคุณภาพของทุเรียน ทำให้พ่อค้าคนกลาง ที่มารับซื้อทุเรียนในพื้นที่ จ.ยะลา กดราคาให้ต่ำลง เพื่อลดความเสี่ยง นอกจากนี้ในพื้นที่ยังมีนักธุรกิจชาวจีน แทรกซึมเข้ามาตั้งแต่ต้นน้ำ และกลางน้ำ ของการผลิตทุเรียน
แนวทางที่จังหวัดกำลังดำเนินการในขณะนี้ คือ การส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตทุเรียนคุณภาพสูง และทางจังหวัดยังออกประกาศวันเก็บเกี่ยว เป็นวันที่ 23 ก.ค.2568 และมีการกำหนดเกณฑ์น้ำหนักเนื้อทุเรียนแห้ง เป็นเปอร์เซ็นต์ตามที่กำหนด

รวมถึงขอความร่วมมือเกษตรกรและผู้จำหน่าย ตรวจก่อนตัด ไม่ซื้อ ไม่จำหน่ายทุเรียนอ่อน หรือ ทุเรียนด้อยคุณภาพ และจะดำเนินคดีกับผู้จำหน่ายทุเรียนด้อยคุณภาพ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคและกฎหมายอาญา รวมถึงการส่งเสริมการปลูกทุเรียนแปลงใหญ่ที่ได้มาตรฐาน และการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เพื่อสร้างอำนาจต่อรอง
เรียบเรียง : ติชิลา พุทธสาระพันธ์ หัวหน้าศูนย์ข่าวภาคใต้ ไทยพีบีเอส
อ่านข่าว : เช็กความพร้อม "อ่าวมาหยา" 1 ใน 11 จุด 6 อุทยานฯ ทางทะเล ใช้ระบบ "สแกนหน้า"