นายชัยเกษม นิติศิริ หนึ่งในแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย ได้เริ่มปรากฏตัวต่อสาธารณชนอีกครั้ง หลัง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ถูกศาลรัฐธรรมนูญ สั่งพักทำหน้าที่นายกฯ ไว้ก่อน หลังคำร้องเรื่องคลิปเสียงสนทนากับสมเด็จฮุน เซน ประธานวุฒิสภา ถูกรับไว้วินิจฉัย
ไม่เพียงเป็นประธานเปิดการแข่งขันทักษะทางวิชาการเท่านั้น ยังเดินสายให้สัมภาษณ์สื่อหลายสำนัก และมีภาพออกรอบตีกอล์ฟ โชว์วงสวิง สะท้อนสุขภาพฟิตเปรี๊ยะแข็งแรง หลังจากเคยมีข่าวระหว่างลงพื้นที่ปราศรัยหาเสียงให้พรรคเพื่อไทย ที่ จ.น่าน เดือนเมษายน ปี 2566
ก่อนถึงวันเลือกตั้ง สส.เดือน พ.ค.เพียงเดือนเดียว ว่า ป่วยกะทันหันต้องส่งตัวเข้ารักษาตัวที่ รพ. แล้วพบว่า มีก้อนเลือดแห้งอยู่ในสมอง ต้องหยุดพักรักษาตัวนับแต่นั้น
นายเกษมถูกพูดถึงอีกครั้งในวงพบปะระหว่างหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า ในวันที่นายเศรษฐา ทวีสิน ถูกศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยให้พ้นจากนายกฯ โดยมีข่าวว่า จะได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ คนต่อไป แต่วันถัดมา กลับปรากฏชื่อ น.ส.แพทองธาร เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย แทน
การกลับมาเป็นข่าวของนายชัยเกษมครั้งนี้ นอกจากเขาจะยืนยันว่า ไม่มีปัญหาสุขภาพ พร้อมรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทันที แม้ไม่วายจะยอมรับว่า จะได้เป็นหรือไม่ เป็นเรื่องของผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ แต่ที่สำคัญคือ เขาได้ประกาศชัดเจนว่า หากได้เป็นนายกฯ ต้องมีอิสระ มีอำนาจตัดสินใจ ไม่ใช่ให้คนอื่นบงการ
คำพูดประโยคนี้ มีผลต่อภาพลักษณ์ของนายชัยเกษมโดยตรงว่า ต้องเป็นนายกฯ ตัวจริง ไม่ใช่แค่หุ่นเชิด ในช่วงเวลาที่ผู้คนรู้สึกไม่มั่นใจในสถานการณ์ทางการเมือง
นอกจากนี้ ในฐานะที่คลุกคลีอยู่กับการเมืองมานาน ผ่านเหตุการณ์สำคัญมากมาย ย่อมมองทะลุว่า พรรคเพื่อไทย และนายใหญ่ ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากนายชัยเกษม ไม่ว่าจะกรณี น.ส.แพทองธาร ถูกสอยจากตำแหน่งนายกฯ หรือในกรณีชิงลาออกจากตำแหน่ง เพื่อให้คำร้องยื่นสอบนายกฯ ปมจริยธรรมตกไป จะช่วยรักษาไม่ให้มีชนักติดหลัง หรืออาจถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง
ผศ.ดร.เชษฐา ทรัพย์เย็น ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ให้ความเห็นว่า ครั้งนี้โอกาสนายชัยเกษม จะได้เป็นนายกฯ ในฐานะแคนดิเดตพรรคเพื่อไทย มีมากกว่าทุกครั้ง แม้นายภูมิธรรม เวชยชัย ในฐานะ รักษาราชการแทนนายกฯ ยืนยันรัฐบาลไปต่อได้ แต่ถือเป็นเพียงคำพูด เพื่อลดอุณหภูมิทางการเมืองเท่านั้น และเชื่อว่ารัฐบาลมีแผนสำรองอยู่แล้ว หนึ่งในนั้นคือ การดันนายชัยเกษม เป็นนายกฯ แทน
ขณะที่นายอนุทิน แม้จะเคยบอกปัดข่าว อาสาเป็นนายกฯ ชั่วคราว ยืนยันไม่ได้พูดคุยเรื่องนี้กับนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน หรือ “หัวหน้าเท้ง” ก็จะมีเสียงสอดรับในท้ายที่สุดว่า ไม่ได้คุยกันโดยตรง แต่สื่อสารกันตลอด ผ่านสมาชิกพรรคหลังบ้าน
ขณะที่แกนนำในพรรคพยายามสื่อสารว่า ไม่ได้หมายถึงคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นแคนดิเดตนายกฯจากพรรคใดก็ได้ ที่พร้อมรับเงื่อนไขของพรรคประชาชน ที่พร้อมจะโหวตให้เป็นนายกฯ โดยไม่ขอรับตำแหน่งรัฐมนตรี แต่ให้หนุนเรื่องงบ 2569 แก้แก้รัฐธรรมนูญ และเป็นนายกฯ ชั่วคราวเพื่อยุบสภา เตรียมเลือกตั้งใหม่
แต่เงื่อนไขนี้ ถือเป็นข้อเสนอที่ชวนเย้ายวนใจ และมีความเป็นไปได้ไม่น้อย เพราะภารกิจตามเงื่อนไขดังกล่าว อาจต้องใช้เวลา 4-5 เดือนเป็นอย่างน้อย หรืออาจมากกว่า และนายอนุทิน ก็เป็นหนึ่งในแคนดิเดตนายกฯ เหมือนนายชัยเกษม ตามรัฐธรรมนูญ
ทั้งยังอาจกระตุ้นให้พรรคการเมืองอื่น ๆ แม้แต่พรรคร่วมรัฐบาล สั่นคลอนได้ เพราะรัฐมนตรี 35 คน ใน ครม.หากพรรคประชาชนขอบาย ไม่รับตำแหน่ง จะทำให้พรรคการเมืองอื่น ได้รับโควตามากกว่าที่รับอยู่ในปัจจุบัน และอาจเลือกกระทรวงได้
และที่สำคัญ จะเป็นไปตามกระแสของประชาชนส่วนหนึ่ง ที่ไม่มั่นใจใน ครม.ใหม่ และอีกส่วนหนึ่ง อยากให้มีการปรับเปลี่ยน ครม. ถึงขั้นเปลี่ยนตัวนายกฯ ก็มี คณะรัฐมนตรี ซึ่งรวมถึงนายกฯ รวมอยู่ด้วยก็มี แต่อีกส่วนหนึ่งเกรงว่า อาจมีการหักหลังขออยู่ยาว เพราะนักการเมืองไทย มัก “กลับคำ” ให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง
แม้ด้านหนึ่ง จะมีเสียงชื่นชมในความเสียสละเพื่อให้ประเทศชาติ เดินหน้าต่อไปได้ แต่ในมุมของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย กลับยืนกรานว่า รัฐบาลไม่ถึงทางตัน สามารถเดินหน้าต่อได้ ทั้งซัดค่ายสีส้มว่า ใช้วิธีการที่ไม่เหมาะสม และความจริงไม่ใช่เรื่องเสียสละอะไร แต่เป็นเพราะแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคประชาชน ไม่มีแล้วต่างหาก
ทำให้แนวโน้มการเมืองของประเทศ รวมทั้งทางออกที่ถูกมองว่ากำลังตีบตัน ประชาชนนับวันยิ่งเดือดร้อนขึ้นทุกที จนแล้วจนรอด ยังไม่ชัดเจนว่า จะเดินหน้าต่อกันอย่างไร
แต่ที่แน่ ๆ ตอนนี้ มีเพียง 2 คนที่เป็นแคนดิเดตนายกฯ คือนายชัยเกษม กับนายอนุทิน ซึ่งไม่ว่าใคร หากจะเดินหน้าเรื่องนี้ จะเป็นเพียงนายกฯ ชั่วคราว ในศึกการชิงอำนาจทางการเมือง เท่านั้น
วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส
อ่านข่าว :
แท็กที่เกี่ยวข้อง:
-