กรณีล่าสุดในปีนี้ (2568) เช่น กรณีของอดีตพระเทพวชิรปาโมกข์ หรือ เจ้าคุณอาชว์ อดีตเจ้าอาวาสวัดตรีทศเทพ มีแอบไปลาสิกขาที่ จ.หนองคาย อย่างมีปริศนา ซึ่งต่อมามีข่าวระบุว่า ถูกเรียกเงินจากสีกาคนหนึ่งที่แอบมีสัมพันธ์ด้วย
เปิดประวัติ "เจ้าคุณอาชว์" พระนักปกครอง สู่การลาสิกขาที่ไร้สาเหตุ
ย้อนห่างเพียงหลักเดือน กรณีของอดีตพระธรรมวชิรานุวัตร อดีตเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง ที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดียักยอกเงินวัดไปหลายร้อยล้านบาท
"เจ้าอาวาสวัดไร่ขิง" เข้าพบ ตร.คดียักยอกเงินวัด 300 ล้านเล่นพนันออนไลน์
หรือแม้กระทั่ง กรณีอดีตพระวชิรญาณโกศล หรือ พระคม อภิวโร เจ้าอาวาสวัดป่าธรรมคีรี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา พร้อมพวก ถูกกล่าวหายักยอกทรัพย์ของวัด เป็นเงินสด 80 ล้านบาท ทองคำแท่งมูลค่า 19 ล้านบาท และทรัพย์สินอื่น ๆ อีกรวมกว่า 300 ล้านบาท (วันที่ 6 พ.ค.2566)
ศาลสั่งจำคุก 468 ปี "อดีตพระคม" ยักยอกเงินวัดป่าธรรมคีรี
หากย้อนกลับไปหลายปี เช่น กรณีเงินทอนวัด (2561) ที่มีพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ ที่มีสมณศักดิ์สูงเข้าไปเกี่ยวข้องจำนวนมาก แม้หลายท่านจะพ้นความเกี่ยวพัน ทั้งทางความจริง และทางกฎหมาย แต่ก็ยังเป็นทางคลางแคลงใจของสังคม
ด้วยความทันสมัยของสื่อสังคมออนไลน์ในปัจจุบัน ทำให้ข่าวคราวการทำผิดพระธรรมวินัย โดยเฉพาะการทำผิดเกี่ยวกับ “เรื่องเงิน” ของพระสงฆ์ ถูกเผยแพร่ออกไปกว้างขวางมากขึ้น
สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการได้รับ “สิทธิพิเศษ” ของความเป็น “ผู้บวช” ได้รับการเคารพนับถือมากกว่าคนธรรมดา การได้รับการบูชากราบไหว้ การยกย่องในสมณศักดิ์ ฯลฯ ทำให้พระสงฆ์ “บางรูป” เกิดความรู้สึกเหนือกว่า และพิเศษกว่าคนทั่วไป
เช่นในงานวิจัยของ อดุลย์ นุแปงถา พ.ศ.2552 เรื่อง การดำเนินการทางวินัยกับพระสงฆ์ที่กระทำผิดวินัย : พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ระบุตอนหนึ่งว่า พระสงฆ์เป็นบุคคลที่สังคมคาดหวังไว้สูง เพราะถือว่า ดำรงอยู่ด้วยความสันโดษ สมถะ ปฏิบัติตนตามหลักพระธรรมวินัย ดังนั้นในสายตาคนทั่วไป พระสงฆ์คือผู้ที่ถือเพศสมณะ เป็นบุคคลที่มีภาวะเหนือบุคคลทั่วไป ในแง่ที่มีกฎเกณฑ์บังคับเป็นกรอบ แห่งความประพฤติโดยเคร่งครัด อันเป็นสิ่งที่ทำได้ยากสำหรับคนทั่วไป
การดำเนินการทางวินัยกับพระสงฆ์ที่กระทำผิดวินัย : พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 (เข้าถึง 7 ก.ค.2568)
ทำให้เมื่อเกิดสิ่งที่ “ไม่เหมาะสม” ในสมณสารูป คนทั่วไปจึงมองว่าเป็นเรื่องสำคัญ
ข่าวคราวที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่มักมีความเกี่ยวพันกับ “เงิน” หรือ “ปัจจัย” (ในสิ่งที่พระสงฆ์เรียก) ก่อนจะลุกลามไปสู่เรื่องอื่น ๆ
การมีรายได้ของพระสงฆ์ เกือบทั้งหมดมาจาก “ความปรารถนาดี” ความตั้งใจดี และความต้องการทำบุญของคนทั่วไป ที่มีความเชื่อถือศรัทธาว่า หากทำบุญแล้วจะทำให้มีความสุข ความเชื่อว่าทำบุญแล้วได้ขึ้นสวรรค์ ทำบุญแล้วจะส่งบุญไปถึงญาติที่ล่วงลับไปแล้ว ฯลฯ
เมื่อพระสงฆ์ได้รับเงินจากการทำบุญ หากเป็นพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เรามักเห็นการใช้เงินจากการได้รับถวาย มาสร้างคุณูปการให้กับพระศาสนา เช่น สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม สร้างอาคารสำหรับพระสงฆ์อาพาธ สร้างวัด สร้างกุฏิที่พักสงฆ์ มอบเป็นทุนการศึกษา ฯลฯ
หรือนำไปทำคุณประโยชน์ให้กับสังคม เช่น สร้างโรงพยาบาล สร้างอาคารในโรงพยาบาล ซื้อเครื่องมือแพทย์ สร้างสถาบันการศึกษา สร้างที่พักคนชรา ช่วยเหลือเด็กยากจน ช่วยคนผู้ป่วยที่ถูกทอดทิ้ง ฯลฯ
ตรงกันข้าม พระสงฆ์ที่สะสมเงินจากการทำบุญเป็นของส่วนตัว เราจะเห็นได้จากข่าว พระหลายรูป ซื้อบ้านจัดสรร ซื้อทองคำ ฝากธนาคาร ซื้อพันธบัตร ฯลฯ ซึ่งหากไม่เกินขอบเขต หรือเกิดความขัดแย้งกับใคร ก็จะไม่มีใครรู้ถึงพฤติกรรมเหล่านี้
“รายได้พระสงฆ์” มาจากไหนบ้าง
หาก “ไม่นับ” เงิน “นิตยภัต” ซึ่งพระสงฆ์ที่มีสมณศักดิ์ พระสังฆาธิการ (ตำแหน่งทางปกครอง) และพระสงฆ์ที่จบเปรียญ จะได้รับเป็นรายเดือนจากงบประมาณแผ่นดิน รายได้ของพระสงฆ์มาจากกิจนิมนต์ต่าง ๆ
รายได้จากรัฐ
พระสงฆ์ที่จะได้รับเงินเดือนจากรัฐ หรือเรียกว่า “นิตยภัต” จะเป็นพระสงฆ์ที่มีสมณศักดิ์ ซึ่งในประเทศไทยมีพระที่มีสมณศักดิ์ ดังนี้

นอกจากรายได้จาก “สมณศักดิ์” แล้ว พระสงฆ์ส่วนหนึ่ง ยังได้รับเงินเดือนจากตำแหน่งทางปกครอง (ตำแหน่งพระภิกษุผู้ปกครองคณะสงฆ์ ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 เริ่มใช้มาตั้งแต่ พ.ศ.2506 จนถึงปัจจุบัน)
ตำแหน่งทางการปกครองคณะสงฆ์ ที่ได้รับนิตยภัต มีดังนี้

นอกจากนี้ยังมีพระสงฆ์ตำแหน่งอื่น ๆ ที่ได้รับนิตยภัต (เงินเดือน) ตามประกาศของสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม เดือนเมษายน 2554 อีกหลายตำแหน่ง รวมทั้งสิ้น 76 ตำแหน่ง เช่น แม่กองบาลี แม่กองธรรม รองเจ้าคณะภาค เลขานุการเจ้าคณะภาค ฯลฯ โดยเริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555 เป็นต้นมา (ที่มา : สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ)
"อัตรานิตยภัต" หรือ "เงินเดือนพระสงฆ์" จากอดีตถึงปัจจุบัน
รายได้จากส่วนอื่น
ผู้เขียนได้สัมภาษณ์ พูดคุย กับแหล่งข่าวซึ่งขอสงวนชื่อ เป็นพระสงฆ์ 4-5 รูป ที่มีสมณศักดิ์แตกต่างกัน และผู้ที่เคยอุปสมบทมาแล้วมากกว่า 5 พรรษา ได้ข้อมูล “อย่างไม่เป็นทางการ” ดังนี้
พระสงฆ์มีรายได้จาก งานศพ งานบวช งานแต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ ถวายพระผ้าป่า ถวายพร้อมกฐิน ยังไม่นับรายได้จากกิจกรรมอื่น ซึ่งไม่ได้มีทุกรูป เช่น มีคนถวายในโอกาสวันเกิด เข้าพบเพื่อปรึกษาหารือธุรกิจ การเจิมรถ เจิมโฉนดที่ดิน การดูดวง ฯลฯ
การทำบุญ (ถวายเงินพระสงฆ์)
หากมอง “องค์ประกอบ” ต่าง ๆ ในการทำบุญให้สัมพันธ์กัน จะพบว่า การทำบุญในงานแต่ละครั้งจะมีองค์ประกอบ ดังนี้
ถวายทั่วไป (ใส่บาตร ถวายสังฆทาน ถวายในโอกาสต่าง ๆ ของผู้ทำบุญ เช่น วันเกิด ศรัทธา ฯลฯ)
งานบุญ (งานบวช งานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ งานศพ อื่น ๆ เช่น เจิมรถ ดูดวง สะเคราะห์)
พระสงฆ์ (สมณศักดิ์, ตำแหน่งทางปกครอง, ชื่อเสียงของพระ, ความอาวุโส)
หน้าที่ในกิจกรรมทางศาสนา (พระหัวแถว, พระอันดับ, พระอุปัชฌาย์, พระคู่สวด, พระรับนิมนต์)
พื้นที่ทำบุญ (กรุงเทพฯ, ตัวเมืองใหญ่, ตัวเมืองทั่วไป, ชนบท)
ฐานะของผู้ทำบุญ (ความต้องการ, ฐานะทางการเงิน, ตำแหน่งหน้าที่การงาน, ชื่อเสียง)
ความสัมพันธ์ (ความเคารพนับถือ, ความสนิทสนมของผู้ทำบุญกับพระ)
ตัวอย่าง งานบวช หรืออุปสมบท

นี่คือตัวอย่างของการแบ่งสัดส่วน การถวายเงินให้พระสงฆ์ ตามหน้าที่ต่าง ๆ ในงานที่ได้รับ “กิจนิมนต์” แต่ในความเป็นจริงไม่ได้มีเพียงเท่านั้น หากพระอุปัชฌาย์ มีสมณศักดิ์เป็น พระครู พระราชาคณะชั้นสามัญ ชั้นราช ชั้นเทพ ชั้นธรรม ชั้นเจ้าคณะรอง หรือชั้นสมเด็จพระราชาคณะ การถวายเงิน จะไม่ได้ถวายเฉพาะความเป็น “พระอุปัชฌาย์” เท่านั้น
แต่เจ้าภาพหรือผู้ถวาย จะพิจารณาตาม “สมณศักดิ์” ของท่านเหล่านั้นด้วย เช่น หากเจ้าภาพตั้งใจจะถวายพระอุปัชฌาย์ 2,000 บาท แต่หากพระอุปัชฌาย์เป็นพระสงฆ์ที่มีสมณศักดิ์ชั้นธรรม เจ้าภาพอาจจะต้องถวายมากถึง 5,000-10,000 บาท
(ตัวอย่าง) หากพระรูปนั้น เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม เป็นพระอุปัชฌาย์ และมีตำแหน่งทางปกครอง เป็นถึงเจ้าคณะภาค ความรู้สึกของผู้ทำบุญก็จะเกิดความกังวลมากขึ้นไปอีกว่า “ถวายปัจจัยเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม” ซึ่งความเหมาะสมอาจไม่ได้หมายถึงตัวเจ้าภาพ แต่ “เหมาะสม” กับพระสงฆ์รูปนั้น หรือ “สมฐานะ”
แหล่งข่าวซึ่งเป็นพระภิกษุที่มีสมณศักดิ์ ระบุว่า “สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้หมายความว่า จะเกิดขึ้นกับพระที่มีสมณศักดิ์ทุกรูปนะ บางรูปท่านไม่ใส่ใจกับอะไรพวกนี้เลย ถวายเท่าไหร่บางทียังไม่รู้เลย ไม่เรียกไม่หา ไม่เปิดซองดู เท่าไหร่ก็เท่านั้น ให้ลูกศิษย์เอาไปเก็บ”
ต้องบอกว่า พระดีก็มีมาก แบบที่ท่านไม่สนใจเงินทองเลย หรือบางท่านไม่เรียกหา ได้รับถวายท่านก็ให้ลูกศิษย์เก็บนะ เอาไปสร้างโน่นทำนี่ ที่เป็นประโยชน์ ใครมาขอก็ให้ แบบนี้ก็มี
หรือหากแบ่ง “การถวายเงิน” ตามรูปแบบงาน และพระสงฆ์ ซึ่งผู้เขียนสอบถามจากพระภิกษุและผู้ที่เคยบวชมาแล้ว มีความเห็นใกล้เคียงกัน ดังนี้

นั่นหมายความว่า การตัดสินใจของคนที่จะทำบุญ หรือถวายเงินพระสงฆ์ จะพิจารณาจาก สมณศักดิ์ ตำแหน่ง จำนวนพรรษา ความอาวุโส ของพระรูปนั้น ๆ ด้วย
เช่นตัวเลขที่ระบุในตารางนี้ เป็นข้อมูลการประเมินของแหล่งข่าว ที่เป็นพระภิกษุสงฆ์อยู่ในปัจจุบัน จากสภาพการณ์ทั่วไป โดยไม่ระบุว่าเป็นพื้นที่ไหน หรือได้รับถวายจากงานอะไร แต่ใช้สมณศักดิ์เป็นตัวชี้วัด

แหล่งข่าวระบุว่า การถวายเงินนอกจากผู้ถวายจะพิจารณาจากสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ที่จะถวายแล้ว ผู้ถวายอาจจะดูว่า พระรูปนั้นเป็นพระสังฆาธิการ (ตำแหน่งทางการปกครองของคณะสงฆ์) ด้วยหรือไม่
เขาอาจจะไม่รู้หรอกว่า ตำแหน่งพระสังฆาธิการคืออะไร แต่รู้ว่า พระครูรูปนี้เป็นเจ้าอาวาสวัด ที่มีชื่อเสียง มีคนเคารพบูชามาก หรือคนขึ้นเยอะ เป็นต้น หรือว่า ท่านเจ้าคุณรูปนี้ท่านเป็นเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะภาค หรือท่านบวชมานานแล้ว เป็นพระเก่าแก่ของจังหวัด อันนี้ก็เป็นข้อพิจารณาของคนทำบุญเหมือนกัน
หากมองอีกมุมจะสะท้อนให้เห็นว่า ทำไมพระสงฆ์จึงต้องการมี “สมณศักดิ์” หรือต้องการจะมีตำแหน่งเป็น “พระสังฆาธิการ” หรือมีตำแหน่งในวัด ในท้องถิ่นนั้น ๆ เพราะนั่นหมายถึงชื่อเสียง ลาภสักการะตรงนี้ด้วย
โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ที่มีงานน้อย เช่น งานขึ้นบ้านใหม่ งานแต่งงาน งานศพ หรืองานบวช (เฉพาะก่อนเข้าพรรษา) และในจังหวัดนั้นอาจจะมีวัดมาก พระสงฆ์มาก การที่คนจะเลือกว่า “ไปทำบุญวัดไหนดี” หรือทำบุญกับ “พระรูปไหนดี” ก็เป็นส่วนสำคัญ
ทุกอย่างจะสัมพันธ์กันหมด “บวชนาน งานเยอะ มีสมณศักดิ์ มีตำแหน่ง มีชื่อเสียง ลูกศิษย์ลูกหามาก” แยกเป็นส่วน ๆ ไม่ได้ ทำให้พระสงฆ์มีรายได้ส่วนตัว ยิ่งบวชนานก็ยิ่งมีรายได้มาก
พระสงฆ์มีรายได้สัปดาห์ละประมาณเท่าไหร่
จากการตั้งสมมุติฐานกับแหล่งข่าวที่เป็นพระสงฆ์ ถึง “รายได้” ของพระสงฆ์ในปัจจุบัน โดยแยกเป็นพระสงฆ์ทั่วไป ที่ไม่มีสมณศักดิ์ พระสงฆ์ชั้นพระครู และพระสงฆ์ที่มีสมณศักดิ์ ซึ่งกำหนดว่า จะต้องได้รับ “กิจนิมนต์” ในแต่ละสัปดาห์ ด้วย “งาน” หลัก ๆ เช่น งานบวช งานศพ และ ขึ้นบ้านใหม่ (ซึ่งทั้งหมดอาจจะไม่สม่ำเสมอ) ประมาณการณ์ได้ดังนี้



แต่หากตั้งสมมุติว่า พระที่ได้รับการถวายเงิน เป็นพระที่มีองค์ประกอบครบ เช่นพระสงฆ์บางรูปที่ตกเป็นข่าว คือ มีสมณศักดิ์สูง อาจจะเป็นราชาคณะชั้นเทพ ชั้นธรรม ประกอบกับเป็นพระสังฆาธิการ เช่น เป็นเจ้าคณะภาค เจ้าอาวาสวัด เป็นพระที่มีชื่อเสียง อยู่ในวัดที่มีชื่อเสียง ฯลฯ
หากได้รับการถวายเงิน (น้อยที่สุด) หรือเฉลี่ยเดือนละประมาณ 100,000 บาท จำนวน 1 ปี (12 เดือน) จะได้รับการถวายเงิน 1,200,000 บาท หากเฉลี่ยเป็นในเวลาเพียง 10 ปี (ความจริงมากกว่านั้น เพราะบวชมาแล้วเกิน 10 ปี) ก็จะมีเงินมากถึง 12,000,000 ล้านบาท
“ชาวบ้านอาจจะสงสัยว่า ทำไมพระเก็บเงินได้มาก ไม่ใช้เงินเลยหรือ ถ้าพูดภาษาชาวบ้านก็คือ พระเป็นคนจำพวก บ้านไม่ต้องเช่า ข้าวไม่ต้องซื้อ เวลาไปงาน ชาวบ้านก็ให้ฉันอาหารอยู่แล้ว และถวายเงินอีก อยู่วัดก็มีข้าวจากการบิณฑบาต หรือญาติโยมเอามาถวาย ถ้าเป็นพระที่ไม่ได้วุ่นวายอะไร ก็ไม่ได้ซื้อหาอะไร เงินได้มาท่านก็เก็บไว้ เราก็จะเห็นว่าแต่ละท่านมีเงินเยอะ” แหล่งข่าวกล่าว
เรียบเรียง : เอมพงศ์ บุญญานุพงศ์ บรรณาธิการข่าวออนไลน์ ไทยพีบีเอส
อ้างอิง
รู้จัก "ไวยาวัจกร" ผู้จัดการ "เงิน" แทนพระสงฆ์
พระทาสพนัน "พระพยอม" ซัดทำเสื่อม เอาศีล สมาธิ ปัญญา ไปไว้ไหน
สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ