ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ปฏิกิริยา “ภาษีทรัมป์” หลังร่อนจดหมายคงอัตราเก็บภาษีไทย 36%

เศรษฐกิจ
14:30
583
ปฏิกิริยา “ภาษีทรัมป์” หลังร่อนจดหมายคงอัตราเก็บภาษีไทย 36%

"ไทย" เป็น 1 ใน 14 ประเทศแรกที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ร่อนจดหมายแจ้งอัตราภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ซึ่งจะเริ่มเก็บจริงในวันที่ 1 ส.ค.นี้ และอัตราดังกล่าวที่เก็บกับไทยอยู่ในฉากทัศน์เลวร้ายที่สุดที่จะเกิดขึ้นคือ ร้อยละ 36 เท่ากับที่เคยประกาศเมื่อวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา

เนื้อความในจดหมายเหมือนกันแทบทุกฉบับ เปลี่ยนแค่ชื่อผู้รับ ชื่อประเทศและอัตราภาษี ใจความเป็นการแจ้งให้ทราบในมุมมองข้อเท็จจริงของผู้นำสหรัฐฯ ถึงความสัมพันธ์ด้านการค้าการลงทุนระหว่างกันที่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความสมดุล และระบุว่าความสัมพันธ์ทางการค้าที่ผ่านมาห่างไกลจากการต่างตอบแทนมาโดยตลอด จากอัตราภาษีศุลกากรของไทย รวมทั้งนโยบายที่ไม่ใช่ภาษีและอุปสรรคทางการค้า

นับตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.2568 สหรัฐฯ จะจัดเก็บภาษีสินค้าทุกชนิดจากไทยที่ 36% โดยแยกต่างหากจากภาษีรายอุตสหากรรมและสินค้าที่ส่งผ่านประเทศอื่น เพื่อเลี่ยงภาษี จะถูกเก็บในอัตราที่สูงกว่า ก่อนจะระบุว่าหากไทยยกระดับภาษีขึ้น สหรัฐฯ ก็จะบวกภาษีเพิ่มด้วยเช่นกัน

ที่น่าสังเกตคือ หัวจดหมายส่งถึงนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รักษาการนายกรัฐมนตรี ซึ่งหากดูจากห้วงเวลา หมายความว่าจดหมายฉบับนี้แม้จะส่งในวันที่ 7 ก.ค. แต่น่าจะร่างขึ้นตั้งแต่ห้วงวันที่ 1-2 ก.ค.ตามเวลาสหรัฐฯ ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่นายสุริยะ ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ เพราะช่วงบ่ายของวันที่ 3 หรือตรงกับคืนวันที่ 2 ของสหรัฐฯ นายภูมิธรรม เวชยชัย ได้รักษาการแทนแล้ว

ขณะที่การเจรจาครั้งแรกของ รมว.คลังกับ USTR เกิดขึ้นในเวลา 09.00 น.ของวันที่ 3 ตรงกับราวๆ 21.00 น.ตามเวลาไทย เท่ากับมีความเป็นไปได้ว่าช่วงเวลาที่ร่างจดหมาย การเจรจากับไทยยังไม่เกิด อาจเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ไทยยังถูกเรียกเก็บภาษีที่ 36%

แต่ความเสียหายเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะเป็นอัตราภาษีที่สูงกว่าเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่งการค้าหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะ "เวียดนาม" ที่ดีลได้ 20% และไทยยังถูกเก็บสูงกว่าอินโดนีเซียกับมาเลเซีย ซึ่งจะทำให้เสียเปรียบในหลายสินค้า สูญเสียบรรยากาศและความเชื่อมั่นของนักธุรกิจและนักลงทุน หากไม่สามารถเจรจาลดภาษีให้มากกว่านี้

14 ประเทศแรกที่มีการประกาศภาษี มีประเทศในอาเซียนอยู่เกือบครึ่ง กับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ หากพิจารณาดูภาษีที่ทรัมป์จะเรียกเก็บจากชาติในกลุ่มอาเซียน ตัดสิงคโปร์ ซึ่งยังไม่แจ้งอัตราใหม่ ส่วน "เวียดนาม" เจรจาเสร็จแล้วเก็บที่ 20% ขณะที่ "ฟิลิปปินส์" ยังไม่กล่าวถึง

ส่วนที่จะถูกเรียกเก็บใหม่ในวันที่ 1 ส.ค. เห็นได้ว่า "ลาว" กับ "เมียนมา" ที่ยังไม่มีรายงานว่าได้เริ่มคุยกับสหรัฐฯ มีการเก็บ 40% เท่ากัน แต่ลดลงจากที่ประกาศครั้งแรก ส่วน "กัมพูชา" กับ "ไทย" ถูกเรียกเก็บ 36% เท่ากัน โดยที่กัมพูชาเป็นตัวเลขที่ปรับลดลง สอดคล้องกับที่มีการเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่ากำลังจะได้ข้อสรุป

"อินโดนีเซีย" ถูกเรียกเก็บเท่าเดิมเช่นกันที่ 32% แต่ยังต่ำกว่าไทย ส่วน "มาเลเซีย" เก็บเพิ่มขึ้นจาก 24% เป็น 25% ขณะที่ "เกาหลี" และ "ญี่ปุ่น" ก็ถูกรียกเก็บภาษีนำเข้า 25% โดยเกาหลีเท่าเดิมกับที่ผู้นำสหรัฐฯ ประกาศในวันที่ 2 เม.ย. ส่วนญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นมา 1% สอดคล้องกับที่ทรัมป์ออกมาระบุว่าไม่พอใจกับการเจรจาที่ญี่ปุ่นไม่ยอมเปิดตลาดให้ข้าวสหรัฐฯ เข้าไปขาย

นักเศรษฐศาสตร์ชี้ "จดหมายทรัมป์" บีบไทยกลับโต๊ะเจรจา

ขณะนี้สถานการณ์ไม่สู้ดี แต่อาจเป็นสัญญาณที่บอกว่าข้อเสนอต่อๆ ไป จะต้องทำให้ดึงดูดสหรัฐฯ มากขึ้นหรือไม่ โดยมีความเห็นจากนักเศรษฐศาสตร์หลายๆ คน

อาทิ นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตรชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ระบุว่า จดหมายนี้เป็นสไตล์เรียกค่าคุ้มครอง บังคับให้ไทยกลับโต๊ะเจรจา เหมือนเป็นการบอกว่าเขายังไม่พอใจกับบรรณาการที่เอามาให้ แต่เปิดทางให้คุยกันต่อ โดยสิ่งที่เกิดขึ้นเราต้องยอมเสียบางอย่างเพื่อไม่ให้เสียอนาคตทั้งหมด เดินเกมแบบให้และรับ ค่อยๆ เปิดตลาดเกษตร พร้อมชดเชย ยกระดับศักยภาพการแข่งขัน และใช้โอกาสนี้เร่งเครื่องเศรษฐกิจไทยสู่มูลค่าที่สูงกว่าเดิมได้

ขณะที่นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการธนาคารกรุงเทพ และอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จดหมายนี้คือคำเตือนว่าข้อเสนอยังไม่โดนใจสหรัฐฯ ขณะนี้เราเสียเปรียบเวียดนามกับมาเลเวียที่ 10-16% ส่งนัยอย่างยิ่งกับผู้ส่งออก และผู้ผลิตที่จะตั้งโรงงานในไทย ดังนั้นต้องดูว่า 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า เราจะเสนออะไรกลับไปอีกครั้ง พร้อมให้กำลังใจทีมเจรจา

ด้านนายกรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลัง ยอมรับว่า การเจรจากับทรัมป์เป็นเรื่องยาก แต่ก็ตั้งคำถามว่ารัฐบาลเตรียมแผนรองรับอะไรไว้บ้าง และขอให้ทบทวนงบปี 2569 และบัญชีเดินสะพัดให้ดี รวมถึงผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่ที่กำลังเลือกอยู่ ที่จะมีผลต่อความเชื่อมั่นเช่นกัน

ส่วน รศ.ปิติ ศรีแสงนาม อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะว่า หลังจากนี้เทคนิคเจรจาโดยเน้นประเด็นความสัมพันธ์ที่ยาวนาน และพันธมิตรทางทหาร น่าจะต้องนำมาพิจารณาร่วมด้วย

ก่อนหน้านี้ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยเมื่อวันที่ 7 ก.ค.ที่ผ่านมาว่ารัฐบาลส่งข้อเสนอปรับปรุงใหม่กลับไปแล้ว มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าทวิภาคีระหว่าง 2 ประเทศ และลดการเกินดุลการค้าของไทยต่อสหรัฐฯ ลงให้ได้ถึงร้อยละ 70 ภายในระยะเวลา 5 ปี โดยคาดว่าจะสามารถสร้างความสมดุลทางการค้าได้ภายใน 7-8 ปี ซึ่งเร็วกว่าแผนเดิมที่เคยเสนอไว้ว่าจะลดดุลการค้าภายใน 10 ปี

ทั้งนี้มีรายละเอียดที่ชัดเจนขึ้น ทั้งในด้านการเปิดตลาดสำหรับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมจากสหรัฐฯ และการเพิ่มการจัดซื้อพลังงานโดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากโครงการก๊าซในรัฐอะแลสกา ซึ่งบริษัทเอกชนของไทยอยู่ระหว่างเจรจาซื้อ LNG ปริมาณสูงเป็นระยะเวลา 20 ปี ขณะเดียวกันบริษัทไทยด้านเคมีภัณฑ์หลายแห่ง ให้คำมั่นว่าจะนำเข้าก๊าซอีเทนจากสหรัฐฯ มากขึ้น และเครื่องบินจากบริษัทของสหรัฐฯ โดยสายการบินของไทยยังได้ส่งสัญญาณแผนการจัดซื้อเครื่องบิน Boeing ในจำนวนสูงขึ้น

เน้นสินค้าในกลุ่มที่ยังขาดแคลนหรือผลิตไม่ได้ในประเทศ เพื่อไม่ให้กระทบต่อเกษตรกรและผู้ประกอบการไทย ขณะเดียวกันยังเสนอการลดอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษี และปรับปรุงกระบวนการที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มความคล่องตัวทางการค้าและเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน นอกจากนี้ประเทศไทยยังแสดงความมุ่งมั่นอย่างชัดเจนในการจัดซื้อพลังงานจากสหรัฐฯ

อ่านข่าว

"ทรัมป์" เพิ่มแรงกดดันโลกปิดดีลกำแพงภาษี

"พิชัย" มั่นใจไทยเจรจาสหรัฐฯ ลดภาษีได้ ยืนยันมีแผนสำรอง

เปิด 14 ประเทศแรก "ทรัมป์" ประกาศขึ้นภาษี มีผล 1 ส.ค.นี้

จีนเตือนสหรัฐฯ อย่าฟื้นสงครามการค้า หลังภาษีใหม่ส่อกระทบห่วงโซ่อุปทาน