เทียบร่างของฝ่ายรัฐบาล ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของพรรครวมไทยสร้างชาติ และร่างฯ ของพรรคครูไทยเพื่อประชาชน ที่ปัจจุบัน สส.จำนวน 1 คนของพรรค ย้ายไปสังกัดพรรคกล้าธรรม หลักการสำคัญของร่างฯ ทั้ง 2 ฉบับ คือ การนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง
- "กฎหมายนิรโทษกรรม" ซื้อใจ-ซื้อเวลา ใครได้ ใครเสีย?
- "ชูศักดิ์" ย้ำ กม.นิรโทษกรรมฉบับ "เพื่อไทย" ไม่รวม ม.110 - ม.112
ร่างของพรรครวมไทยสร้างชาติ ตั้งเงื่อนเวลาไว้ที่ ปี 2548 - ปี 2565 มีเงื่อนไขไม่นิรโทษกรรมให้ความผิดฐานทุจริต , ความผิด ม.112 , ความผิดเกี่ยวกับการกระทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย , และความผิดส่วนตัวฯ มีผู้ชี้ขาดคือคณะกรรมการสร้างเสริมสังคมสันติสุข 9 คน มีนายกฯ เป็นประธาน

ขณะที่ร่างฯ ของพรรคครูไทยฯ แตกต่างตรงเงื่อนเวลา ที่นิรโทษกรรมคดีการเมืองตั้งแต่หลัง วันที่ 19 ก.ย.ปี 2549 - สิ้นปี 2565 ส่วนเงื่อนไขที่จะไม่นิรโทษกรรม แตกต่างตรงข้อ 3 คือเพิ่มการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง โดยสรุปทั้ง 2 ร่างฯ ระบุเงื่อนไขไม่แก้ ม.112 ไว้ชัดเจน
ส่วนร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของอดีตพรรคก้าวไกล ซึ่งปัจจุบันเป็นพรรคประชาชน และร่างฯ ของเครือข่ายภาคประชาชน มีข้อสังเกต เช่น ร่างฯ ของพรรคประชาชน กำหนดช่วงนิรโทษกรรมคดีการเมือง ตั้งแต่วันที่ 11 ก.พ.ปี 2549 คือ วันแรกของการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ถึงวันที่กฎหมายนี้บังคับใช้ มีเงื่อนไขไม่นิรโทษกรรมให้เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวกับการชุมนุมและการสลายการชุมนุม , การกระทำผิดต่อชีวิตฯ , ความผิดตาม ม.113 คือกลุ่มคดีกบฏ , คดีล้มล้างอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ , คดีแบ่งแยกการปกครอง ส่วนผู้ชี้ขาดให้มีคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดฯ 9 คน มีประธานสภาฯ เป็นประธาน

ขณะที่ร่างฯ เครือข่ายภาคประชาชน กำหนดเวลาการนิรโทษกรรม เริ่มตั้งแต่หลังวันที่ 19 ก.ย.ปี 2549 (วันรัฐประหาร) ถึงวันที่กฎหมายนี้บังคับใช้ เงื่อนไขการไม่นิรโทษกรรมคล้ายกันกับร่างฯ พรรคประชาชน คือ เจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุม และความผิดตามกฎหมายอาญา ม.113
แต่มีเงื่อนไขพิเศษ 5 ข้อ ที่ให้นิรโทษกรรมทันที เช่น 1.คดีตามประกาศ หรือ คำสั่ง คสช.เป็นต้น ส่วนผู้ชี้ขาด คือ คณะกรรมการนิรโทษกรรมประชาชน 19 คน มีประธานสภาฯ เป็นประธาน โดยสรุปทั้ง 2 ร่างฯ ไม่ได้ปิดช่องการนิรโทษกรรมความผิดตาม ม.112

วันนี้ มีร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับเร่งด่วน ที่เสนอโดยพรรคภูมิใจไทย โดยช่วงเวลาที่จะนิรโทษกรรมไม่ได้ต่างจาก 4 ร่างฯ แรก คือช่วงปี 2548 - ปี 2565 ครอบคลุมช่วงการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ถึงการกลุ่ม กปปส. แต่เขียนไว้ชัดเจนตั้งแต่หลักการของร่างกฎหมาย และเงื่อนไขการนิรโทษกรรม ที่จะไม่นิรโทษกรรมให้ความผิดตาม ม.112

แต่ที่แตกต่างจากร่างอื่น เช่น การนิรโทษกรรมเฉพาะความผิดท้ายกฎหมาย เช่น ความผิดฐานกบฏ ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย เป็นต้น ทั้งนี้กำหนดให้มีคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดฯ 5 คน มาจากฝ่ายตุลาการและองค์กรในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด โดยไม่มี สส. ,ไม่มีตัวแทนรัฐบาล , และไม่มีตัวแทนภาคประชาชน เป็นสาระสำคัญบางส่วนที่นำมาเทียบให้ได้เห็นภาพรวม
อย่างไรก็ถาม ภายหลังจากที่วันนี้ สภาฯ รับหลักการทั้ง 5 ฉบับ จากนั้นจึงจะหารือกันในชั้นกรรมาธิการฯ ว่าจะใช้ร่างฯ ใดเป็นหลัก สมมติว่าฝ่ายรัฐบาลผลักดันให้ใช้ร่างฯ ของพรรครวมไทยสร้างชาติ สำเร็จ จะมีใครได้ประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้บ้าง
ใครบ้าง ? ได้ประโยชน์ นิรโทษกรรม
ทั้งนี้ ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับรวมไทยสร้างชาติ จะนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองในช่วง ปี 2548 - ปี 2565 แต่มีเงื่อนสำคัญ คือ “ไม่นิรโทษกรรม” ความผิดดังนี้ 1.ความผิดฐานทุจริตฯ 2.ความผิด ม.112 3.ความผิดเกี่ยวกับการกระทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และ 4.การกระทำความผิดต่อส่วนตัวฯ

ด้านหนึ่ง ร่างฯ ของพรรครวมไทยสร้างชาติ ถูกตั้งข้อสังเกต เช่น แกนนำพรรคที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมชุมของกลุ่ม กปปส.ในช่วงปี 2556 - ปี 2557 ซึ่งถูกดำเนินคดีและอาจได้ประโยชน์จากกฎหมายนี้ ยกตัวอย่างเช่น คดีกบฏและก่อการร้าย มีจำเลย 26 คน คนที่มีความเกี่ยวข้องกับพรรครวมไทยสร้างชาติอย่างเป็นทางการ เช่น นายวิทยา แก้วภราดัย สส.บัญชีรายชื่อ , นายเอกนัฏ พร้อมพันธ์ เลขาธิการพรรค , นายชุมพล จุลใส สมาชิกพรรค , และนายถาวร เสนเนียม สมาชิกพรรค

แม้คดีศาลอาญาตัดสินแล้ว มีแกนนำที่ถูกสั่งจำคุกและตัดสิทธิทางการเมืองบางส่วน แต่ทั้งนายวิทยา และนายเอกนัฎ ศาลเห็นว่า เป็นเพียงผู้ร่วมชุมนุมหรือแกนนำแต่กระทำผิดน้อยกว่าจึงให้รอการลงโทษ ขณะที่ นายชุมพล สั่งจำคุก 9 ปี 24 เดือน และนายถาวร สั่งจำคุก 5 ปีสรุปอาจมีบางคนได้อานิสงส์จริง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด และหลักการร่างฯ ฉบับนี้จะมีผู้ชุมนุมกลุ่มอื่นได้ประโยชน์ด้วย
แต่หากยึดตามร่างฯ นิรโทษกรรมฉบับพรรครวมไทยสร้างชาติ กำหนดให้นิรโทษกรรมคดีช่วงปี 2548 - ปี 2565 จะมีกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองได้รับประโยชน์ ตั้งแต่ช่วงปี 2549 การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ , ช่วงปี 2550 การชุมนุมของกลุ่ม นปก. และกลุ่ม นปช. , ช่วงปี 2556 การชุมนุมของกลุ่ม กปปส. , ช่วงปี 2557 การชุมนุมของขบวนการนักศึกษาและประชาชนฝ่ายต่อต้าน คสช. , และช่วงปี 2563 การชุมนุมกลุ่มราษฎร

อย่างไรก็ตาม หากหลักการของร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่ใช้เป็นร่างฯหลักเปลี่ยนไป กลุ่มคนที่จะได้ประโยชน์ก็อาจปรับเปลี่ยนตามนั้น และอาจมีการแก้ไขในชั้นกรรมาธิการอีกมาก

ในสภาฯ ชุดปัจจุบัน ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการพิจารณาเกี่ยวกับกฎหมายนิรโทษกรรม เมื่อ 9 เดือนที่แล้ว สภาฯ เคยพิจารณา รายงานผลการศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของ กมธ.วิสามัญ ที่มี นายชูศักดิ์ ศิรินิล เป็นประธาน ครั้งนั้นสภาฯ ไม่ได้มีมติต่อรายงาน แต่ “รับทราบ” รายงานเท่านั้น และตีตกข้อสังเกตของ กมธ.เกี่ยวกับคดี ม.112 และ ม.110 ท่ามกลางเสียงคัดค้านของพรรคร่วมรัฐบาล

ดังนั้น เมื่อมีการพูดถึง คดี ม.112 มักมีความอ่อนไหวและถูกเชื่อมโยงกับบุคคลทางการเมือง ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ยกตัวอย่างเช่น นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ซึ่งเป็นพ่อของนายกฯ คนปัจจุบัน ขณะนี้ถูกดำเนินคดี ม.112 กรณีให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศ ปี 2558
ส่วนฝ่ายค้าน มี สส.พรรคประชาชน 25 คน นำโดยนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคและผู้นำฝ่ายค้าน ที่ ป.ป.ช.อยู่ระหว่างตรวจสอบ สืบเนื่องจากกรณีเสนอแก้ไข ม.112 สมัยอดีตพรรคก้าวไกล
อ่านข่าว : "อดุลย์" ยื่นหนังสือนิรโทษกรรมถึง "ฝ่ายค้าน-รัฐบาล" ขอสภาฯ ผ่านร่างโดยเร็ว
"ณัฐพงษ์" วอนสภาฯ รับหลักการร่างนิรโทษฯทั้ง 4 ฉบับ
ภาคประชาชน ยื่นหนังสือ "วิปรัฐบาล" ผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม