ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ทรัมป์" ร่อนหนังสือแจ้งภาษีนำเข้าอีก 8 ประเทศ รีดบราซิล 50%

ต่างประเทศ
07:10
451
"ทรัมป์" ร่อนหนังสือแจ้งภาษีนำเข้าอีก 8 ประเทศ รีดบราซิล 50%
ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ร่อนหนังสือแจ้งอัตราภาษีนำเข้ากับอีก 8 ประเทศ รวมชาติอาเซียนอย่างบรูไน-ฟิลิปปินส์ ส่วนบราซิลถูกรีดภาษีสูงถึง 50%

เมื่อวันที่ 9 ก.ค.2568 โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศมาตรการเก็บภาษีนำเข้าชุดใหม่กับ 7 ประเทศ ได้แก่ แอลจีเรีย อิรัก ลิเบีย ศรีลังกา บรูไน มอลโดวาและฟิลิปปินส์ ตามหนังสือหรือจดหมายที่ส่งออกไป ระบุอัตราภาษีที่เรียกเก็บจากประเทศเหล่านี้แตกต่างกัน โดยอัลจีเรีย อิรัก ลิเบียและศรีลังกา จะถูกเก็บภาษี 30% ในขณะที่บรูไนและมอลโดวา จะถูกเก็บภาษี 25% และฟิลิปปินส์ จะต้องเผชิญกับอัตราภาษี 20%

มาตรการภาษีชุดล่าสุดเป็นส่วนเพิ่มเติมจากหนังสือ 14 ฉบับที่เคยประกาศไปก่อนหน้านี้ ซึ่งรวมถึงการเก็บภาษี 25% กับคู่ค้ารายใหญ่อย่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่น และไทย 36% โดยภาษีทั้งหมดเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.เป็นต้นไป เว้นแต่จะมีการบรรลุข้อตกลงทางการค้ากับสหรัฐฯ ก่อนวันดังกล่าว

ล่าสุดเมื่อไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้านี้ Truth Social ของทรัมป์ โพสต์ภาพจดหมายแจ้งอัตราภาษีที่ส่งถึงบราซิล ซึ่งฉบับนี้แตกต่างจากฉบับของประเทศอื่นๆ เพราะทรัมป์เอ่ยถึง "จาอีร์ โบลโซนาโร" อดีตประธานาธิบดีบราซิล และแสดงการคัดค้านการไต่สวนอดีตผู้นำคนนี้ในคดีพยายามพลิกผลการเลือกตั้งปี 2022 ที่ใช้คำเรียกว่าเป็นการล่าแม่มด

และวิจารณ์การคุกคามการเลือกตั้งและการแสดงความเห็นอย่างเสรีของชาวอเมริกันในบราซิล จากการแบนสื่อสังคมออนไลน์สหรัฐฯ ซึ่งด้วยเหตุผลเหล่านี้ ทรัมป์จึงจะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากบราซิล 50% เริ่มวันที่ 1 ส.ค.นี้ จากเดิมเมื่อวันปลดแอก 2 เม.ย. ที่บราซิลเจออัตราภาษีต่างตอบแทนแค่ 10%

ในบรรดาจดหมายที่ทรัมป์ออกมาราว 21-22 ฉบับในห้วงไม่กี่วันนี้ มีอาเซียนแล้ว 8 ประเทศ ล่าสุดคือฟิลิปปินส์ 20% (จากเดิม 17%) บรูไน 25% (จากเดิม 24%) ก่อนหน้านี้มีมาเลเซีย 25% อินโดนีเซีย 32% กัมพูชา 36% ไทย 36% ลาว 40% เมียนมา 40% ส่วนเวียดนามบรรลุข้อตกลงแล้วที่ 20% กับอีกชาติหนึ่งคือสิงคโปร์ ซึ่งทรัมป์ประกาศออกมาเพียง 10% ตั้งแต่แรก

อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย

อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย

อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้ในที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา "อันวาร์ อิบราฮิม" นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียน เรียกร้องให้ชาติสมาชิกอาเซียนยกระดับการค้าภายในอาเซียนให้มากขึ้น เนื่องจากอาเซียนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลกและพึ่งพิงการส่งออกเป็นหลัก แต่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากมาตรการทางภาษีของรัฐบาลทรัมป์ ทำให้สมาชิกหลายชาติพยายามเร่งเจรจาการค้ากับสหรัฐอเมริกา

ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุน การค้าและอุตสาหกรรมของมาเลเซีย ระบุว่า มาเลเซียจะไม่ข้ามเส้นในการเจรจากับสหรัฐฯ แต่ยังเดินหน้าพูดคุยเพื่อต่อรองลดอัตราภาษีนำเข้า 25% ที่สหรัฐฯ เรียกเก็บจากสินค้าส่งออกของมาเลเซีย แต่รัฐมนตรีฯ ปฏิเสธที่จะลงรายละเอียดว่า "เส้น" ดังกล่าวคืออะไร โดยอ้างถึงข้อตกลงการไม่เปิดเผยข้อมูล

พร้อมกล่าวว่า สหรัฐฯ ยื่นข้อเรียกร้องที่ล่วงล้ำผลประโยชน์แห่งชาติและอำนาจอธิปไตยของมาเลเซีย ซึ่งข้อเรียกร้องเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับนโยบายภายในประเทศและกฎหมายของมาเลเซียในด้านต่างๆ เช่น ภาษีดิจิทัล, อีคอมเมิร์ซ, มาตรฐานทางการแพทย์, การรับรองฮาลาล และการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุนฯ ของมาเลเซีย ระบุอีกว่า ทีมเจรจาของมาเลเซียหารือกับคณะผู้แทนจากสหรัฐฯ แล้วอย่างน้อย 25 ครั้ง และได้ให้คำมั่นที่จะปรับปรุงการคุ้มครองแรงงานและสิ่งแวดล้อม ซึ่งข้อเสนอของมาเลเซียต่อสหรัฐฯ ยังรวมถึงการสั่งซื้อเครื่องบินโบอิงใหม่อย่างน้อย 30 ลำ สำหรับสายการบินแห่งชาติ มาเลเซีย แอร์ไลน์ส รวมถึงข้อตกลงในภาคส่วนเซมิคอนดักเตอร์และเทคโนโลยี

อ่านข่าว

มาเลเซียเรียกร้องอาเซียน เพิ่มค้าขายระหว่างกันสู้ภาษีทรัมป์

"นพดล" แนะเจรจาทุกมิติไทย-สหรัฐฯ โน้มน้าวลดภาษีนำเข้า

สรท.เสนอ 3 แนว รับมือ “ภาษีทรัมป์” แนะยึดโมเดลเวียดนามต่อรอง