จากคดีฉาว "สีกากอล์ฟ" เกี่ยวพันกับพระราชาคณะชั้นเทพหลายรูป และปรากฏภาพ-คลิปพฤติกรรมเสพเมถุน กำลังเขย่าศรัทธาชาวพุทธทั่วประเทศ แม้พระสงฆ์จะต้องอาบัติปาราชิกตามพระธรรมวินัย แต่กลับพบว่า "ไม่ผิดกฎหมายอาญา" เพราะไม่มีบทบัญญัติรองรับไว้ชัดเจนในกฎหมายไทย ทำให้หลายฝ่ายเริ่มตั้งคำถามว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่สังคมไทยต้องมีกฎหมายจัดการพระที่ประพฤติผิดให้มีโทษทางกฎหมาย
อ่านข่าว : เปิดพระ 5 รูป "สึกเงียบ-หายตัว" โยงคดีสีกา ก.
นายอนันต์ชัย ไชยเดช ในฐานะทนายความและประธานมูลนิธิกองทัพธรรม ได้แสดงความเห็นถึงพฤติกรรมพระสงฆ์ที่ผิดพระธรรมวินัยขั้นร้ายแรง โดยเฉพาะกรณี "ปฐมปาราชิก" ซึ่งหมายถึงพระภิกษุที่ล่วงละเมิดทางเพศ หรือ "เสพเมถุน" ต้องอาบัติปาราชิกและต้องพ้นจากความเป็นพระทันที
แม้ในปัจจุบันจะไม่มีกฎหมายอาญาโดยตรงที่เอาผิดกรณีพระเสพเมถุน แต่ในอดีตช่วงรัชกาลที่ 1–5 มีการลงโทษอย่างเข้มงวด ทั้งการจองจำ เฆี่ยนตี และสลักคำว่า "สามี" ไว้ที่หน้าผาก อย่างไรก็ตาม โทษเหล่านั้นถูกยกเลิกในรัชกาลที่ 6 ทำให้เหลือเพียงการพิจารณาในแง่พระธรรมวินัย
ทนายอนันต์ชัย กล่าวว่า หากกรณีที่มีการถ่ายคลิป แบล็กเมล์ และเรียกรับเงินจากพระ โดยสีกาอาจเข้าข่ายความผิดอาญา 2 ฐาน คือกรรโชกทรัพย์ และ ฉ้อโกง หากพระไม่ยินยอมจ่ายเงินและถูกข่มขู่ กรณีนี้ชัดว่าเป็น "การรีดเอาทรัพย์" ซึ่งสามารถเอาผิดตามกฎหมายได้ แม้ไม่มีบัญญัติชัดใน พ.ร.บ.สงฆ์ พ.ศ.2505 (แก้ไขเพิ่มเติม 2535) นอกจากนี้หากพระสงฆ์นำเงินวัดมาจ่ายเพื่อตกลงกับฝ่ายหญิง อาจมีความผิดฐาน "ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 โดยเฉพาะหากพระรูปนั้นเป็นเจ้าพนักงาน เช่น เจ้าอาวาส หรือพระสังฆาธิการ ส่วนฝ่ายหญิงก็อาจมีความผิดฐาน "สนับสนุนเจ้าพนักงานกระทำผิด"
โดยยกกรณี "พระกาโตะ" มาเปรียบเทียบ ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกันทั้งในประเด็นการเสพเมถุน และการรีดทรัพย์ โดยเสนอว่า ควรให้พระที่ถูกแบล็กเมล์ กล้าออกมาแจ้งความ เพื่อให้สามารถดำเนินคดีได้ถึงที่สุด
เสนอออก "กฎหมายอาญาควบคุมพฤติกรรมพระ-สีกา"
นอกจากนี้ยังเสนอให้รัฐเร่งผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพระพุทธศาสนา เพื่อกำหนดโทษชัดเจนทั้งพระสงฆ์ และบุคคลทั่วไปที่จงใจทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมเสีย เช่น ผู้เสพเมถุนกับพระเณร ควรถูกลงโทษจำคุก 1–7 ปี พร้อมระบุว่า กฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมกรณีปาราชิก แม้จะมีโทษชัดในพระธรรมวินัย แต่ไม่มีโทษทางอาญารองรับ
ประเทศไทยควรพิจารณาแบบอย่างจากต่างประเทศ เช่น ประเทศลาว มีบทลงโทษจำคุกพระที่มีความสัมพันธ์ทางเพศ ศรีลังกา มีบทลงโทษพระที่บิดเบือนคำสอน และ เมียนมา มีศาลสงฆ์พิจารณาโทษพระผู้สอนผิดธรรม
เสนอให้พระควรมี "ห้องรับรอง" ห้ามอยู่ลำพังกับสตรี มีมาตรการป้องกัน เช่น การกำหนดให้พระมี "ห้องรับรอง" สำหรับพบปะญาติโยม เพื่อป้องกันการอยู่กันตามลำพังระหว่างพระกับสตรี ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสื่อมเสียและเป็นเหตุให้เกิดกรณีเช่นนี้ซ้ำอีก
ขณะนี้ได้มีเสียงเรียกร้องให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มหาเถรสมาคม และภาคประชาชน ร่วมกันยกร่างกฎหมายฉบับใหม่ที่มีบทลงโทษชัดเจน พร้อมยกตัวอย่างจากอดีตยุคพระเจ้าอโศกมหาราช ที่เคยมีการจับสึกพระนอกรีดกว่า 60,000 รูป และทำสังคายนาธรรมวินัยใหม่ เพื่อคืนความบริสุทธิ์แก่พระพุทธศาสนา
อ่านข่าว : กมธ.ศาสนาฯ จ่อเรียกหน่วยงานแจง "ปมสีกา" ชี้เรื่องอ่อนไหว
"ไม่ใช่แค่ปฏิรูป ต้องปฏิวัติวงการสงฆ์" นักวิชาการศาสนาเสนอคืนศาสนาให้ประชาชน
นายสมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการด้านศาสนา เปิดเผยกับทีมข่าวไทยพีบีเอสว่า ปัญหาในวงการสงฆ์ปัจจุบันไม่สามารถแก้ไขได้ด้วย "การปฏิรูป" อีกต่อไป แต่จำเป็นต้อง "ปฏิวัติ" ทั้งโครงสร้าง แนวคิด และบทบาทของพระสงฆ์และประชาชน
โดยระบุว่าแก่นของการบวชในพุทธศาสนาคือการ "ปริย" และ "ปฏิบัติ" เพื่อไปสู่การดับทุกข์ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า แต่ปัจจุบันเป้าหมายของการบวชเปลี่ยนไป กลายเป็นการบวชเพื่อผลประโยชน์ หรือแม้แต่เพื่อประกอบอาชีพ ทำให้พระบางรูปไม่ได้นำชีวิตนักบวชไปสู่การละกิเลส แต่ดำรงอยู่เพื่อความสุขสบายในสถานะสงฆ์
การบวชในยุคนี้ บางครั้งก็กลายเป็นแค่อาชีพหนึ่ง ขอแค่สวดมนต์ได้ พูดบาลีได้ ทำพิธีได้ ก็อยู่ได้แล้ว
นายสมฤทธิ์ชี้ว่า สังคมควรเข้าใจใหม่ว่า "นักบวชคือนักเรียนธรรมะ" ไม่ใช่บุคคลศักดิ์สิทธิ์ที่แตะต้องไม่ได้ ประชาชนควรเรียนรู้ธรรมะไปด้วยกัน และสามารถตรวจสอบ เตือนสติ และวิจารณ์นักบวชได้ เมื่อพระสงฆ์ละเลยการปฏิบัติเพื่อดับกิเลส ก็ไม่ต่างจากคนธรรมดาทั่วไป
นักวิชาการยังวิจารณ์บทบาทของรัฐว่า ไม่ควรแทรกแซงศาสนาโดยตรง แต่ก็ชี้ว่าปัญหาที่เกิดซ้ำซากในวงการสงฆ์นั้น ส่วนหนึ่งเพราะประชาชนปล่อยให้พระพุทธศาสนาเป็นเรื่องของ "พระกับรัฐ" เท่านั้น ทั้งที่ความจริงศาสนาควรเป็นของประชาชน
วันนี้มีแต่สำนักงานพุทธฯ มหาเถรฯ กับตำรวจ ที่เข้าไปเกี่ยวข้อง ชาวบ้านถึงเข้าไม่ถึงวัด ไม่รู้ว่าวัดมีเงินเท่าไหร่ ทำอะไรอยู่?
ในอดีตวัดเคยเป็นของชุมชน ประชาชนสามารถตรวจสอบ ถ่วงดุล และมีปฏิสัมพันธ์กับพระสงฆ์ได้โดยตรง แต่ปัจจุบันระบบศาสนาแบบรวมศูนย์ ทำให้พระบางรูปไม่ออกบิณฑบาต ไม่สนใจการรับรู้ของชุมชน
ดังนั้น การ "ปฏิวัติ" ศาสนาต้องเริ่มจากการเปลี่ยนความคิดทั้งระบบ ทั้งพระสงฆ์ ภาครัฐ และประชาชน ต้องเลิกคิดว่าศาสนาเป็นเรื่องของพระฝ่ายเดียว และหันมาเรียนรู้ธรรมะ ร่วมตรวจสอบ และช่วยกันประคับประคองศาสนาให้อยู่ในทิศทางที่บริสุทธิ์ยิ่งขึ้น
อ่านข่าว : สวยซ่อนพิษ เตือนอย่าสัมผัส "มังกรทะเลสีน้ำเงิน" โผล่หาดกะรน
ไทยโต้กัมพูชา ปมฟ้องยูเนสโก อ้างวัดภูม่านฟ้าเลียนแบบนครวัด
"พิชัย" รับเชิญ "ทักษิณ" ถกรับมือเจรจาภาษีทรัมป์ ยันไม่ให้เสียเปรียบคู่แข่ง