ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“ผ้าทอลายลูกแก้ว” รายได้จากศิลปาชีพ ฟื้นชีวิตชาวบ้านห้วยต้าใต้ ชุมนุมหลังเขื่อนสิริกิติ์

ภูมิภาค
13:48
54
“ผ้าทอลายลูกแก้ว” รายได้จากศิลปาชีพ ฟื้นชีวิตชาวบ้านห้วยต้าใต้ ชุมนุมหลังเขื่อนสิริกิติ์
กลุ่มราษฎรบ้านห้วยต้าใต้ อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ บนเกาะกลางอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนสิริกิติ์ สานต่อพระราชดำริ ผ่านโครงการศิลปาชีพ ยกระดับฝีมือทอผ้า แกะสลักไม้ วาดภาพ จักสาน พัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นสินค้าทันสมัย สร้างรายได้เสริมให้ชุมชนอย่างมั่นคง

นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ ศูนย์ศิลปาชีพบ้านห้วยต้า ต.นางพญา อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ โดยมีนายศุภรัชต์ อินทราวุธ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ร่วมติดตาม

นางปภาวรินท์ อภิยะ ประธานวิสาหกิจชุมชนผ้าทอมือบ้านห้วยต้าใต้ หมู่ 4 ต.นางพญา อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ เปิดเผยว่า บ้านห้วยต้า เคยเป็นชุมชนทุรกันดาร ที่เดินทางเข้าถึงได้ยาก ต้องใช้เรือในการสัญจร แต่วันนี้มีไฟฟ้า ถนน และอาชีพเสริมจากศิลปาชีพ ซึ่งชาวบ้านได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนผ้าทอมือบ้านห้วยต้าใต้

สามารถสร้างรายได้จากการทอผ้าลายพระราชทาน “ลายลูกแก้ว” เป็นเอกลักษณ์ของบ้านเรา และพัฒนาต่อยอดเป็นสินค้าทันสมัย เช่น ผ้าพันคอ ผ้าตีนจก ผ้าผืนตัดชุดเดรส มีรายได้เฉลี่ยปีละกว่า 100,000 บาท ต่อคน

ด้าน นายบุญสืบ สิงเต ราษฎรผู้วาดภาพสีน้ำมันห้วยต้า ต.นางพญา อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ กล่าวว่า หลังผ่านการอบรมวาดภาพสีน้ำมันที่ศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันสามารถผลิตผลงานแนวธรรมชาติ ส่งขายได้ราคาตั้งแต่ภาพละ 2,000 – 7,000 บาท นับเป็นรายได้เสริมที่ดี ในช่วงว่างเว้นจากงานทำนา

ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพบ้านห้วยต้า หมู่ 4 ต.นางพญา อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ เป็นศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพ ที่อยู่ภายใต้โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรบ้านห้วยต้า ซึ่งเป็นผู้เสียสละพื้นที่บางส่วนในการก่อสร้างเขื่อนสิริกิติ์ จัดตั้งตามพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อปี 2537 เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของราษฎรที่เสียสละพื้นที่ในครั้งนั้น

โดยส่งเสริมฝึกอบรมอาชีพ ทั้งทอผ้า แกะสลักไม้ วาดภาพและจักสาน เป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากอาชีพหลักคือ ทำนา ทำสวน และทำไร่ พร้อมพระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งธนาคารข้าวขึ้น เพื่อให้ชาวบ้านยืมข้าวไปรับประทาน ในช่วงฤดูกาลเพาะปลูกข้าว แล้วนำมาคืนหลังการเก็บเกี่ยวข้าวที่ปลูกแล้ว ทำให้ชาวบ้านมีข้าวกินโดยไม่ต้องซื้อ

บ้านห้วยต้าเป็นชุมชนดั้งเดิม บนเกาะกลางแม่น้ำน่าน เหนือเขื่อนสิริกิติ์ มีการทอผ้าไหมมาตั้งแต่อดีต เอกลักษณ์ของผ้าทอบ้านห้วยต้า “ลายลูกแก้ว” หรือ “ลวดลายพระราชทาน” ใช้วิธีการทอยกและเหยียบตะกอ (4 ตะกอเป็นหลัก) เพื่อสร้างลวดลายนูน ลายลูกแก้วเป็นกรอบสี่เหลี่ยมซ้อน 2 ชั้น ครอบลวดลายดอกกลางที่ดูเป็นทรงกลมกระจก โดยมีลายย่อย เช่น ลายลูกหวาย, ลายก้างปลา และลายเม็ดพริกไทย ขึ้นอยู่กับวิธีจัดตะกอ

สำหรับลวดลายลูกแก้วนี้ แสดงถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ถ่ายทอดความประณีตของช่างทอ นับเป็นส่วนหนึ่งของงานทอมือที่สืบทอดภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น สร้างรายได้ให้ชุมชน นับเป็นตัวแทนของอัตลักษณ์ชาวบ้านห้วยต้า ให้เป็นที่รู้จักมาจวบจนปัจจุบัน

ในปี 2567 ที่ผ่านมา ได้ส่งสินค้าไปยังสวนจิตรลดามีรายได้ จากงานทอผ้า ประมาณ 240,000 บาท และงานแกะสลัก ประมาณ 210,000 บาท การนี้ องคมนตรี ได้เชิญสิ่งของพระราชทานมอบแก่สมาชิกของกลุ่มศิลปาชีพบ้านห้วยต้าด้วย

อ่านข่าว : มทภ.2 เตือนอย่าเชื่อเฟกนิวส์ถอนกำลัง ยันทหารตรึงชายแดน 24 ชม.

เสื่อมศรัทธา - แต่ไม่ผิดกฎหมาย? เสียงเรียกร้องให้มีกฎหมายเอาผิดพระพลาดวินัย

ไทยโต้กัมพูชา ปมฟ้องยูเนสโก อ้างวัดภูม่านฟ้าเลียนแบบนครวัด