ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“พระปาราชิก” แต่ “ลาสิกขา” ก่อน จะกลับมา “บวชใหม่” ได้หรือไม่

สังคม
11:54
342
“พระปาราชิก” แต่ “ลาสิกขา” ก่อน จะกลับมา “บวชใหม่” ได้หรือไม่

กรณี “พระที่ปาราชิก แต่ลาสิกขาก่อนถูกสอบนิคหกรรมหรือก่อนถูกกล่าวโทษ” จะสามารถบวชใหม่ได้หรือไม่

ตามหลักธรรมวินัยในพระพุทธศาสนาเถรวาท (ตามพระวินัยปิฎก)
ปาราชิก เป็นอาบัติหนักที่สุดในพระวินัยของพระสงฆ์ มี 4 ข้อคือ
- เสพเมถุน
- ลักทรัพย์
- ฆ่ามนุษย์
- อวดอุตริมนุสธรรม

อ่านข่าว : อลัชชี-สมี-ปาราชิก ผลร้ายของ "ความไม่ละอาย" ในพุทธศาสนา

ผู้ที่กระทำอาบัติปาราชิก ถือว่าขาดจากความเป็นพระทันที ไม่ต้องรอการสอบสวนหรือพิจารณา เพราะเป็น “อาบัติปาราชิกโดยสภาพ”

ในพระวินัยปิฎกกล่าวชัดเจนว่า “ภิกษุใดเสพเมถุน ถึงแม้จะไม่ถูกใครรู้เห็น ก็ชื่อว่า ปาราชิกขาดจากความเป็นภิกษุโดยทันที”

ส่วนที่หลายคนสงสัยว่า พระที่สึกไปแล้ว หรือลาสิกขาไปแล้ว (ที่เป็นข่าวตอนนี้) ยังไม่ได้ถูกกล่าวโทษใด ๆ ยังไม่ได้ถูกสอบนิคหกรรม จะกลับมาบวชใหม่ได้หรือไม่

ตามหลักพระวินัยปิฎก ระบุว่า ผู้ที่เคยปาราชิกแล้ว แม้จะลาสิกขาก่อนถูกสอบหรือถูกจับได้ ก็ไม่สามารถกลับมาบวชใหม่ได้อีกตลอดชีวิต เพราะเมื่อปาราชิกแล้ว ขาดจากความเป็นพระทันที แม้จะยังนุ่งห่มผ้าเหลืองอยู่ ก็เป็นเพียงฆราวาสคนหนึ่ง ไม่ใช่พระแล้ว

การที่บุคคลปาราชิกไปแล้ว แม้จะลาสิกขาไปก่อนจะถูกสอบสวน ก็ไม่ทำให้ความผิดปาราชิกนั้นหายไป หากกลับมาขอบวชใหม่ จะถือว่าเป็น การปกปิดอาบัติปาราชิก และหลอกลวงคณะสงฆ์

ซึ่งในข้อนี้จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2535 มาตรา 44 ระบุว่า ผู้ใดพ้นจากความเป็นพระภิกษุเพราะต้องปาราชิกมาแล้ว ไม่ว่าจะมีคำวินิจฉัย ตามมาตรา 25 หรือไม่ก็ตาม แต่มารับบรรพชาอุปสมบทใหม่ โดยกล่าวความเท็จหรือปิดบังความจริงต่อพระอุปัชฌาย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี

และในคำอธิบายของอรรถกถาระบุว่า “บุคคลใดแม้จะสึกไปแล้ว แล้วกลับมาขอบวชใหม่ ทั้งที่รู้ว่าตนเคยปาราชิก จะชื่อว่าเป็นพระไม่ได้”

อ้างอิง :
พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 8 หน้า : 515
พระวินัยปิฎก เล่ม 1. มหาวิภังค์ หรือ ภิกขุวิภังค์ ว่าด้วยสิกขาบทในปาฏิโมกข์ (ศีล 227 ข้อ) ฝ่ายภิกษุสงฆ์สรุป สิกขาบท 227 ข้อ
พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2535

อ่านข่าว : "มหาเถรฯ" จ่อเรียกตัวมาพบ "พระ" ที่ ตร.มีหลักฐานโยงสีกา ทั้งโอนเงิน-แชตไลน์