วันนี้ (18 ก.ค.2568) ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งนัดไต่สวนคดีหมายเลขดำที่ บค.1/2568 โดยอัยการสูงสุดและ ป.ป.ช.เป็นโจทก์ ส่วนจำเลยคือนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ โดยการไต่สวนนัดนี้เป็นนัดที่ 5 ในการไต่สวนการบังคับโทษนายทักษิณ
กลุ่มพยานที่เข้าเบิกความวันนี้มี 6 ปาก เป็นกลุ่มผู้อำนวยการโรงพยาบาลตำรวจ และทีมแพทย์ผู้ทำการรักษา นายทักษิณ ชินวัตร นับแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2566 จนได้รับการพักโทษ 17 ก.พ.2567 ประกอบด้วยปากแรก พล.ต.ท.โสภณรัตน์ สิงหจารุ อดีตนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ พล.ต.ท.ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ แพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ นพ.ศุภฤกษ์ พัฒนปรีชากุล แพทย์สาขาโรคหัวใจ
นพ.สุรพล เกษประยูร แพทย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ พล.ต.ต.นพ.สามารถ ม่วงศิริ และแพทย์เจ้าของไข้ พ.ต.อ.นพ.ชนะจง โชคดี แพทย์ที่รับตัวนายทักษิณเมื่อวันที่ 23 ส.ค.2566
ช่วงเช้าศาลไต่สวนพยาน 3 ปาก
พยานปากแรก พล.ต.ท.โสภณรัตน์ สิงหจารุ อดีตนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ ในช่วงเวลาที่มีการรับตัวนายทักษิณเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ เข้าเบิกความต่อศาล ในประเด็นการรับนายทักษิณเป็นคนไข้สู่กระบวนการรักษาเป็นไปตามระเบียบการรับผู้ป่วยของโรงพยาบาลหรือไม่
โดยเฉพาะการให้ไปอยู่ในห้องพักชั้น 14 ซึ่งอ้างอิงว่า เป็นห้องแยกการรักษา ในช่วงที่มีสถานการณ์โควิด-19 แต่พยานปากนี้ไม่ได้มีส่วนร่วมในการรักษา เพียงแต่รับทราบจากการรายงานของแพทย์ที่รับตัว
นอกจากนี้ศาลยังได้ย้ำถามว่า มีนักโทษรายอื่นจากเรือนจำ ได้ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจชั้น 14 อีกหรือไม่ ซึ่งพยานยังไม่สามารถให้ข้อมูลได้จะส่งภายหลัง และยังไต่สวนในประเด็น ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับใบเสร็จรับเงิน ที่สืบเนื่องไปถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาทั้งยารักษาโรค ห้องพักผู้ป่วย ที่พบว่า จากใบเสร็จ 27 ใบ มีข้อมูลเกี่ยวกับยารักษาโรคเพียง 9 ใบ ที่เหลือเป็นใบเสร็จเกี่ยวกับ ค่ายาและสารอาหารทางเส้นเลือด และค่าห้องพัก
ต่อด้วย พล.ต.ท.ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ แพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ ที่เข้ารับตำแหน่งในช่วงกลางเดือน ต.ค.2566 เป็นช่วงเวลาคาบเกี่ยวกับในช่วงที่นายทักษิณไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งขณะนั้นเป็นนายแพทย์ สบ.8
โดยประเด็นการไต่สวนเดียวกันกับปากแรก ซึ่งพยานปากนี้เบิกความต่อศาลประเด็นห้องพักรักษาของนายทักษิณเป็นห้องพิเศษ ซึ่งเป็นการเบิกความขัดกันกับพยานก่อนหน้านี้ ที่ให้ข้อมูลต่อศาล
ถึง รพ.ขึ้นชั้น 14 เลย-ไม่มีผ่าตัดกระดูกคอ
รวมถึงประเด็นการรักษาว่า กรณีนายทักษิณเป็นผู้ป่วยเข้าขั้นวิกฤต ส่งตัวมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร แต่เมื่อมาถึงโรงพยาบาลไม่ได้ไปห้องฉุกเฉินหรือห้องไอซียู แต่ส่งตัวไปชั้น 14 เนื่องจากมีการประสานส่งตัวไว้
รวมถึงการไต่สวนประเด็นอาการป่วยของนายทักษิณ ที่แพทย์จากเรือนจำได้ส่งประวัติมารักษา แต่ในข้อเท็จจริงการรักษาอ้างอิงจากโรคที่ระบุมานั้น “ไม่มีการผ่าตัดกระดูกคอทับเส้นประสาท” หรือโรคที่อ้างอิงตามใบแจ้งจากแพทย์เรือนจำ แม้ว่าแพทย์คนนี้ จะทำแผนการรักษาด้วยการผ่าตัดกระดูกคอ แต่สุดท้ายไม่ได้มีการผ่าตัด เนื่องจากผู้ป่วยปฏิเสธการรักษาด้วยการผ่าตัด
แต่ทั้งนี้มีการผ่าตัดในอาการอื่น โดยเป็นอาการที่เกิดขึ้นระหว่าง ที่มารักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ คือ การผ่าตัดนิ้วล็อค และการผ่าตัดเส้นเอ็นไหล่ฉีก ซึ่งข้อมูลการผ่าตัดนิ้วล็อคนั้นแพทย์เบิกความย้อนแย้งกัน ระหว่างแพทย์ที่อ้างอิงอาการจากเรือนจำพิเศษ กับแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ
จากนั้นพยานเบิกความปากที่ 3 พ.ต.อ.นพ.ชนะ จงโชคดี ซึ่งเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลตำรวจ ที่รับตัวนายทักษิณเข้ารักษา เมื่อวันที่ 23 ส.ค.2566 พยานปากนี้ศาลใช้เวลาไต่สวน 1.30 ชั่วโมง
ศาลได้ซักรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์รับตัวนายทักษิณ เข้ารับการรักษา รวมไปถึงกระบวนการรักษา โดยถามรายละเอียดเกี่ยวกับบันทึกการรักษา ตั้งแต่รับตัวนายทักษิณไปจนถึงวันที่นายทักษิณออกจากโรงพยาบาล
บางอาการไม่ได้หนัก-กลับบ้านได้
ที่ให้ พ.ต.อ.นพ.ชนะ ไล่อ่านบันทึกการรักษา ที่พบว่า บางอาการไม่ได้มีบันทึกไว้ ถือว่ายังเข้าขั้นป่วยวิกฤต และสามารถกลับได้หรือไม่ ซึ่ง นพ.ชนะ ได้ให้ความเห็นว่า บางอาการถือว่าไม่วิกฤตและสามารถกลับได้ นอกจากนี้ยังสอบถามถึงการใช้ยารักษาอาการป่วย ที่ไม่ระบุอยู่ในใบเสร็จค่ารักษา
ศาลยังได้ถามถึงการเขียนใบให้ความเห็นแพทย์ เรื่องการขยายเวลารักษาตัว 120 วัน รวมถึงสอบถามในประเด็นที่ว่า มีเจ้าหน้าที่จากราชทัณฑ์ได้ประสาน สอบถามอาการ ของผู้ป่วยหรือไม่ ซึ่ง นพ.ชนะบอกว่า ไม่เคยมีใครสอบถามมา
นอกจากนี้ศาลยังสอบถามถึงผู้คุมว่า ได้ปฏิบัติการอยู่ตลอดหรือไม่ นพ.ชนะ ระบุว่า พบผู้คุมทั้งในห้องและหน้าห้อง โดยก่อนเข้าตรวจจะต้องถูกเก็บโทรศัพท์ไว้ ขณะที่เวลาเข้าตรวจนายทักษิณ บางครั้งจะนอนอยู่บนเตียงคนไข้ และบางครั้งจะนั่งอยู่บริเวณโซฟา
ปาดน้ำตา "ไม่คิดว่าเป็นหมอรักษาคน แล้วต้องมาขึ้นศาล"
ศาลถามถึงการคำนึงข้อกฎหมาย และความรับผิดชอบรับผิดชอบในการดูแลผู้ป่วยหรือไม่ ซึ่ง พ.ต.อ.นพ.ชนะ ตอบใจความว่า “คิดแค่ว่าเป็นหมอ จะแค่รักษาผู้ป่วย ไม่คิดว่าจะต้องมาขึ้นศาล” ก่อนจะใช้มือปาดน้ำตา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดการเบิกความของพยานปากนี้ มีท่าทีกังวลอย่างเห็นได้ชัด ตั้งแต่เข้าไปในห้องพิจารณาคดีบริเวณคอก มีการขอกระดาษปากกา เพื่อจดคำถาม บางช่วงบางตอนระหว่างที่ศาลกำลังซักถาม พยานปากนี้ยังยกมือพนมไหว้ขอโทษศาลตลอดเวลา ที่ตอบคำถาม
ทั้งนี้ศาลได้ขอให้พยานส่งหลักฐานเอกสารเพิ่มเติม 2 เรื่อง 1.ข้อมูลเกี่ยวกับนักโทษที่เข้ารักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ และ 2.เอกสารออร์เดอร์ดอกเตอร์ชีท หรือบันทึกการรักษาของแพทย์
การไต่สวนครั้งก่อนเมื่อวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมาเป็นการเบิกความกลุ่ม อธิบดีกรมราชทัณฑ์และผู้บริหาร แต่ส่วนในประเด็นการรักษาตัวนอกเรือนจำ การขยายเวลารักษาจนครบ 180 วัน และการพักโทษเป็นไปตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์และกฎกระทรวงหรือไม่ และประเด็นอาการป่วยเข้าขั้นวิกฤตหรือไม่อย่างไร
ทั้งนี้การไต่สวนนัดถัดไปวันที่ 25 ก.ค. ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา อุปนายกแพทยสภาคนที่หนึ่ง ในฐานะหนึ่งในคณะกรรมการ จะนำทีมคณะแพทย์ เข้าเบิกความต่อศาลในฐานะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคต่างๆที่เกี่ยวเนื่องตามอาการที่นายทักษิณอ้างอิง
ทนายทักษิณ คาดไต่สวนแพทย์ใช้เวลานาน
ขณะที่ นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความของนายทักษิณ กล่าวว่า วันนี้จะสืบพยานแพทย์จากโรงพยาบาลตำรวจ คือ แพทย์ใหญ่คนปัจจุบันและแพทย์ใหญ่ในอดีต และทีมแพทย์รักษา นายทักษิณ รวม 6 คน ซึ่งการไต่สวนในวันนี้น่าจะใช้เวลาพอสมควร ซึ่งจะมีรายละเอียดที่ศาลให้ความสนใจ อยากทราบ

นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความของนายทักษิณ
นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความของนายทักษิณ
นอกจากนี้ ยังมีเอกสารที่เกี่ยวข้อง กับเวชระเบียน หรือ บันทึกการรักษา รวมถึงประวัติการรักษาตัวที่ต่างประเทศของนายทักษิณ ซึ่งทั้งหมดต้องเป็นการนำข้อเท็จจริงขึ้นสู่ศาล ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ และ ตนได้ตั้งคำถามไว้ล่วงหน้า แต่ก็ต้องดูว่าศาลจะอนุญาตหรือไม่ โดยเป็นดุลยพินิจของศาล
“ทักษิณ” ยื่น “วิษณุ” เป็นพยานไต่สวน 30 ก.ค.
วันเดียวกัน ในช่วงบ่าย ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งนัดไต่สวนคดีหมายเลขดำที่ บค.1/2568 โดยอัยการสูงสุดและ ป.ป.ช.เป็นโจทย์ ส่วนจำเลยคือนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นนัดที่ 5 ช่วงบ่าย เป็นการไต่สวนพยานอีก 3 ปาก ประกอบด้วย พล.ต.ต.สามารถ ม่วงศิริ รองนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ พล.ต.ต.ศุภฤกษ์ พัฒนปรีชากุล นายแพทย์ (สบ 7) แพทย์สาขาโรคหัวใจ และพล.ต.ท.สุรพล เกษประยูร ที่ปรึกษาแผนกศัลยประสาทกระดูก ซึ่งเป็นแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดนิ้วล็อคและ เอ็นไหล่ขวาฉีกขาด ให้นายทักษิณ
และแพทย์ที่มาไต่สวนทั้งหมด ครั้งนี้เป็นหมอเฉพาะทางที่ทำการรักษานายทักษิณ ศาลจึงได้สอบถามเกี่ยวกับกระบวนการในการ ผ่าตัดรวมถึงการรักษา อาการหลังการผ่าตัดและระยะเวลาในการพักฟื้น ศาลยังสอบถามถึงประเด็นการให้ความเห็น ในใบรับรองแพทย์ เพื่อนำไปใช้ในการขยายเวลารักษา 120 วัน
โดยศาลรับเอกสารเป็นหลักฐานเพิ่มเติมของ นพ.สุรพล เกษประยูร แพทย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ ซึ่งเป็นข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาโดยศาลให้แปล เอกสารภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย ภายใน 7 วัน ส่วนการไต่สวนพยานนัดต่อไปในวันที่ 25 ก.ค. เวลา 09.00 น. ซึ่งจะเป็นการไต่สวนตัวแทนจากแพทยสภา ที่ศาลสั่งให้ส่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรคนายทักษิณ เบิกความต่อศาล
ทั้งนี้ในช่วงท้ายศาลได้มีคำสั่ง อนุญาตตามคำขอของทนายจำเลย เสนอพยานฝ่ายจำเลย 1 ปาก คือ นายวิษณุ เครืองาม เข้าไต่สวนในวันที่ 30 ก.ค. เวลา 09.30 น.
อ่านข่าว : ทบ.ปูนบำเหน็จ-มอบเงินช่วย "กำลังพล" เหยียบกับระเบิดช่องบก
ปัญหาการยื่นคำขอสถานะคนต่างด้าวและ การขอสัญชาติไทย ตามมติ ครม.
ศบ.ทก.ยืนยัน ไทยไม่เพิกเฉย หากตรวจสอบพบ "กัมพูชา" วางทุ่นระเบิดใหม่