เมื่อวันที่ 19 ก.ค.2568 ทีมนักวิจัยจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและนวัตกรรม (บพค.) ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำและตะกอนดินจากแม่น้ำกก บริเวณบ้านกะเหรี่ยงรวมมิตร ต.แม่ยาว อ.เมือง จ.เชียงราย ซึ่งเป็นหนึ่งใน 40 จุดเก็บตัวอย่าง เพื่อนำไปวิเคราะห์ความเป็นพิษด้วยเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน โดยคาดว่าจะทราบผลภายใน 2 สัปดาห์ พร้อมจัดทำแผนที่แสดงการกระจายของสารพิษในลุ่มน้ำกก
ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ อาจารย์ประจำคณะพัฒนาสังคมและยุทธศาสตร์การบริหาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หัวหน้าโครงการวิจัย เปิดเผยว่า การวิจัยครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ใช้แสงซินโครตรอนเพื่อวิเคราะห์องค์ประกอบความเป็นพิษของโลหะหนัก 20 ชนิด เช่น สารหนู (As), ตะกั่ว (Pb), แคดเมียม (Cd), โครเมียม (Cr), สังกะสี (Zn), ทองแดง (Cu), นิกเกิล (Ni) และแมงกานีส (Mn) เพื่อตอบคำถามว่าสารพิษเหล่านี้มีแหล่งกำเนิดจากที่ใด ซึ่งจะนำไปสู่การกำหนดนโยบายและมาตรการควบคุมที่เหมาะสม
โครงการวิจัยนี้บูรณาการเทคโนโลยีโลกและอวกาศ ภูมิสารสนเทศ และการวิเคราะห์ขั้นสูง โดยใช้ข้อมูลจากดาวเทียม เช่น Sentinel-2, Landsat-8 และ THEOS-24 เพื่อวิเคราะห์ตัวชี้วัดสิ่งแวดล้อม เช่น ความขุ่น (turbidity), ดัชนีน้ำ (NDWI), ดัชนีพืชพรรณ (NDVI) และการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน เพื่อระบุพื้นที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อน. ด้านภาคสนาม ทีมวิจัยเก็บตัวอย่างน้ำผิวดินและตะกอนใต้น้ำจาก 40 จุด ตั้งแต่ ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ถึง อ.เมือง จ.เชียงราย รวมถึงพื้นที่เกษตรกรรมใกล้แม่น้ำกก

ตัวอย่างทั้งหมดจะถูกวิเคราะห์ด้วยเทคนิค ICP-MS เพื่อวัดระดับโลหะหนัก และตรวจพารามิเตอร์สิ่งแวดล้อม เช่น COD, DO และ TDS ส่วนตะกอนบางส่วนจะถูกวิเคราะห์ด้วยแสงซินโครตรอนเพื่อระบุรูปแบบทางเคมีของโลหะและความสามารถในการเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร ผลการวิเคราะห์จะดำเนินการโดย รศ.ดร.พัชรีย์ พริบดีเวช จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และดร.สุทธิพงษ์ วรรณไพบูลย์ จากฝ่ายระบบลำเลียงแสง สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)
ผศ.ดร.นิอร สิริมงคลเลิศกุล จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ล้านนา เชียงราย กล่าวว่า โครงการนี้ร่วมกับศูนย์เตรียมความพร้อมภัยพิบัติ (ADPC) ของนาซ่า เพื่อจัดทำแผนที่ความเสี่ยง แสดงการกระจายของสารพิษและระบุจำนวนประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบ รวมถึงพื้นที่เกษตรกรรมที่เสี่ยงต่อมลพิษ
ข้อมูลภาคสนามจะถูกบูรณาการกับระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) และแบบจำลอง SWAT เพื่อจำลองการไหลของน้ำและการแพร่กระจายของมลพิษทั้งในเชิงพื้นที่และเวลา โดยปรับเทียบด้วยข้อมูลจริงและตรวจสอบความถูกต้องด้วยวิธีสถิติ
ผลการวิเคราะห์จะถูกส่งต่อให้จังหวัดเชียงรายและหน่วยงานรัฐ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการแก้ปัญหาการปนเปื้อนสารพิษในแม่น้ำกก โดยเฉพาะการกำหนดแผนรับมือด้านสุขภาพสำหรับกลุ่มเปราะบางและพื้นที่เกษตรกรรม

อ่านข่าวอื่น :
ส่งมอบโฉนดที่ดินให้ ตร.หลัง "อดีตรอง ผบ.ตร." แจ้งความอดีตภรรยา