ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

มส.แก้กฎมหาเถรฯ "พระผิดวินัยขั้นปาราชิก" หลักฐานชัดจบเรื่องใน 10 วัน

สังคม
19:22
235
มส.แก้กฎมหาเถรฯ "พระผิดวินัยขั้นปาราชิก" หลักฐานชัดจบเรื่องใน 10 วัน
ที่ประชุม มส.เห็นชอบแก้กฎมหาเถรสมาคม 2 ฉบับ กรณีพระสงฆ์ทำผิดพระธรรมวินัย อำนาจวินิจฉัยชี้ขาดเป็นของคณะสงฆ์ และหากปรากฏหลักฐานชัดขั้นปาราชิก ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จใน 10 วัน

วันนี้ (21 ก.ค.2568) มีการประชุมนัดพิเศษของมหาเถรสมาคม (มส.) อีกครั้ง หลังจากสมเด็จพระสังฆราช ได้ทรงแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อยกร่างกฎมหาเถรสมาคม ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา และวันนี้ทรงมีพระวินิจฉัยเห็นชอบในร่างกฎมหาเถรสมาคมฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่คณะทำงานนำขึ้นถวาย และมีพระบัญชาให้นำเสนอ มส.พิจารณา

การประชุมกรรมการ มส. ที่ตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร มีกรรมการ มส. อาทิ สมเด็จพระธีรญาณมุนี วัดเทพศิรินทราวาส, สมเด็จพระพุฒาจารย์ และสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี วัดไตรมิตรวิทยาราม, สมเด็จพระมหาธีราจารย์ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร, สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม รวมทั้งนายอินทพร จั่นเอี่ยม ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) และ ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ที่ปรึกษา มส. เข้าร่วมประชุม

ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ที่ปรึกษา มส. เปิดเผยว่า จากปัญหาพระภิกษุจำนวนหนึ่งประพฤตินอกพระวินัยตามที่เป็นข่าวในขณะนี้ วันนี้ (21 ก.ค.) ที่ประชุม มส.มีมติเห็นชอบในร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎมหาเถรสมาคม ว่าด้วยการลงนิคหกรรม (คือการวินิจฉัยตัดสินโทษพระภิกษุที่กระทำผิด) ฉบับหนึ่ง และว่าด้วยการให้พระภิกษุสละสมณเพศ อีกฉบับหนึ่ง ซึ่งกฎมหาเถรสมาคมทั้ง 2 ฉบับมีเนื้อหาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน

กฎทั้ง 2 ฉบับบัญญัติขึ้นมาตั้งแต่ปี 2521 และ 2538 (เป็นเวลา 47 ปีและ 30 ปีตามลำดับ) การกล่าวหาอธิกรณ์ (ข้อกล่าวหาว่าพระภิกษุกระทำผิดพระวินัย) อาศัยพยานหลักฐานในยุคนั้น คือพยานบุคคลและพยานเอกสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งความผิดฐานเสพเมถุน ที่ทำให้ขาดจากความเป็นพระภิกษุด้วยเหตุที่เรียกว่าปาราชิก ยากต่อการหาพยานหลักฐานที่แน่ชัด อีกทั้งยังกำหนดกระบวนการพิจารณาให้มีการพิจารณาชั้นต้น อุทธรณ์และฎีกาด้วย ทำให้กว่าที่จะปรากฏผลสุดท้ายว่าเป็นเช่นไรต้องใช้เวลานานแรมปี

แต่ปัจจุบันพยานหลักฐาน เช่น คลิปวิดีโอ การตรวจสอบข้อมูลสนทนาทางโทรศัพท์ ฯลฯ สามารถเข้าถึงได้ หากพิสูจน์ได้ว่าพยานหลักฐานเหล่านั้นเป็นข้อเท็จจริง ชัดเจนเพียงพอที่จะรับฟังเพื่อชี้ขาดอธิกรณ์ได้ จึงสมควรที่จะมีการแก้ไขกฎมหาเถรสมาคมในเรื่องนี้

ศ.พิเศษ ธงทอง กล่าวอีกว่า การแก้ไขกฎมหาเถรสมาคมทั้ง 2 ฉบับ ยังรักษาหลักการตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ซึ่งสอดคล้องกับพระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนา ที่กำหนดให้การวินิจฉัยอธิกรณ์และการลงนิคหกรรม เป็นเรื่องของคณะสงฆ์ดำเนินการ ไม่ใช่ฆราวาสหรือข้าราชการจะเป็นผู้ชี้ขาด แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องเอื้อเฟื้อสนับสนุนเรื่องพยานหลักฐานและการทำงานของคณะสงฆ์

ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ที่ปรึกษา มส.

ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ที่ปรึกษา มส.

ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ที่ปรึกษา มส.

สำหรับสาระสำคัญที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม คือ หากปรากฏหลักฐานที่เชื่อถือได้ ไม่ว่าจะเป็นหลักฐานจากหน่วยงานต่างๆ ว่ามีภิกษุกระทำความผิดถึงปาราชิก หรือแม้ไม่ถึงปาราชิก เช่น ความผิดในระดับสังฆาทิเสส แต่เกิดผลความเสียหายร้ายแรงแก่คณะสงฆ์ พศ.ต้องนำเสนอเรื่องพร้อมพยานหลักฐาน เพื่อให้ผู้มีอำนาจพิจารณาชี้ขาด

กรณีพระภิกษุทั่วไปกระทำผิด เป็นหน้าที่และอำนาจของเจ้าคณะภาคเป็นผู้ตัดสิน หากเป็นกรณีพระสังฆาธิการ (พระภิกษุผู้มีตำแหน่งในทางปกครอง) เป็นหน้าที่และอำนาจของเจ้าคณะใหญ่เป็นผู้ตัดสิน แต่หากผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดเป็นเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะภาค เจ้าคณะใหญ่ หรือเป็นพระราชาคณะ เป็นหน้าที่และอำนาจของ มส.เป็นผู้พิจารณา

ทั้งนี้ การพิจารณาอธิกรณ์เรื่องปาราชิก หรือมีความร้ายแรง ตามที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม ซึ่งมีหลักฐานชัดเจน ผู้มีหน้าที่และอำนาจต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในเวลาไม่เกิน 10 วัน และเมื่อมีคำวินิจฉัยชี้ขาดให้ผู้กระทำผิดต้องสละสมณเพศแล้ว แต่ยังไม่ปฏิบัติตาม ให้ พศ.ประสานขอกำลังจากเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติตามคำสั่งนั้น

สำหรับขั้นตอนหลังร่างกฎมหาเถรสมาคม 2 ฉบับได้รับความเห็นชอบแล้ว พศ.จะได้นำขึ้นถวายสมเด็จพระสังฆราช เพื่อทรงลงพระนาม และนำไปประกาศในหนังสือแถลงการณ์คณะสงฆ์ เพื่อให้มีผลใช้บังคับในเร็วๆ นี้

การแก้ไขเพิ่มเติมกฎมหาเถรสมาคมทั้ง 2 ฉบับ จะเป็นผลให้การพิจารณาอธิกรณ์ร้ายแรงปรากฏผลในเร็ววัน เชื่อว่าจะทำให้พุทธศาสนิกชนมีความสบายใจที่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในแนวทางนี้

อ่านข่าว

"กฎห้ามถือเงินแสน" วัดป่าเห็นด้วย-วัดเมืองชี้ต้องปรับให้เหมาะสม

จ่อรื้อใหญ่ พศ. ทำ “อลัชชี” เต็มวงการสงฆ์ ซ้ำสะเทือน “ตลาดพระ”