ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เริ่มใช้แล้ว "อิมครานิบ 100" ลดผลข้างเคียง รักษามะเร็งมุ่งเป้า

สังคม
17:10
468
เริ่มใช้แล้ว "อิมครานิบ 100" ลดผลข้างเคียง รักษามะเร็งมุ่งเป้า
"อิมครานิบ 100" ยารักษามะเร็งมุ่งเป้าชนิดเม็ดตำรับแรกของไทย ผลงานจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เริ่มใช้ที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ตั้งแต่ ก.ค. 2568 รักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวและจิสต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดผลข้างเคียง เบิกได้ตามกองทุนสุขภาพ ช่วยเพิ่มโอกาสการรักษาให้คนไทย

"อิมครานิบ 100" (IMCRANIB 100) เป็นยารักษามะเร็งชนิดมุ่งเป้า (Targeted Therapy) ในรูปแบบเม็ดตำรับแรกที่ผลิตในประเทศไทย โดยโรงงานผลิตเภสัชภัณฑ์ในพระดำริ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ภายใต้พระปณิธานและพระวิริยะอุตสาหะของสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานและนายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

ยานี้ประกอบด้วยตัวยาสำคัญอิมาทินิบ (Imatinib) 100 มิลลิกรัม ซึ่งยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซีนไคเนส (Tyrosine Kinase Inhibitors) ช่วยควบคุมการเติบโตและการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งได้อย่างจำเพาะเจาะจง ลดผลข้างเคียงเมื่อเทียบกับเคมีบำบัดแบบดั้งเดิม ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เมื่อวันที่ 20 พ.ค.2568 และเริ่มใช้รักษาผู้ป่วยที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ตั้งแต่เดือน ก.ค.2568

"อิมครานิบ 100" รักษามะเร็ง 4 ชนิด 

  1. มะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิด CML (Chronic Myeloid Leukemia)
  2. มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดฟิลาเดลเฟียบวก (Ph+ ALL)
  3. มะเร็งเนื้อเยื่อในระบบทางเดินอาหาร (GIST)
  4. มะเร็งผิวหนังชนิดหายาก (DFSP)

โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โดยศูนย์มะเร็งวิทยา เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านมะเร็งแห่งแรกที่นำยานี้มาใช้อย่างเป็นระบบ ด้วยการประสานงานระหว่างแพทย์ เภสัชกร และทีมสนับสนุน เพื่อให้มั่นใจในประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุดสำหรับผู้ป่วย ผู้ป่วยที่ต้องการรับยานี้ต้องได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งทั้ง 4 ชนิดดังกล่าวโดยแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งวิทยา และต้องเป็นผู้ป่วยของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์เท่านั้นในระยะแรก โดยไม่สามารถขอรับยาได้เอง

เบิกกองทุนสุขภาพได้หรือไม่ ?

ยาอิมครานิบ 100 สามารถเบิกจ่ายได้ตามเกณฑ์ของกองทุนสุขภาพ เช่น สิทธิข้าราชการ (กรมบัญชีกลาง), สิทธิบัตรทอง, และสิทธิประกันสังคม เนื่องจากตัวยาสำคัญอิมาทินิบได้รับการยอมรับในหลายโรค

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดในบางโรคและบางระยะที่กองทุนสุขภาพอาจไม่ครอบคลุม การผลิตยานี้ในประเทศไทยช่วยลดการพึ่งพายานำเข้า ช่วยขยายขอบเขตการใช้ยาให้ครอบคลุมทุกข้อบ่งชี้ในอนาคต เพิ่มโอกาสการรักษาและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย

มะเร็งจิสต์ (GIST) ต่างจากมะเร็งลำไส้ใหญ่อย่างไร ?

หลายคนสงสัยว่ามะเร็งจิสต์ (GIST) ที่เกิดในลำไส้คือมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือไม่ คำตอบคือ ไม่ใช่ เพราะทั้งสองเป็นมะเร็งคนละชนิดกัน

มะเร็งจิสต์ (GIST) เกิดจากเซลล์เนื้อเยื่อเกี่ยวพันในผนังของทางเดินอาหาร เช่น หลอดอาหาร, กระเพาะอาหาร, ลำไส้เล็ก หรือลำไส้ใหญ่ รักษาด้วยยามุ่งเป้าอย่างอิมาทินิบ (เช่น อิมครานิบ 100) ซึ่งเคมีบำบัดทั่วไปมักไม่ได้ผล

มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colorectal Cancer) เกิดจากเซลล์เยื่อบุผิวในลำไส้ใหญ่หรือลำไส้ตรง สาเหตุจากพฤติกรรมเสี่ยง เช่น อาหารแปรรูปหรือพันธุกรรม รักษาด้วยการผ่าตัด, เคมีบำบัด หรือภูมิคุ้มกันบำบัดในบางกรณี

การแยกแยะทั้ง 2 ชนิดนี้ จึงสำคัญต่อการวินิจฉัยเพื่อวางแผนการรักษาที่ถูกต้อง

การเข้าถึงการรักษาผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ที่ต้องการปรึกษาการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ สามารถส่งประวัติและนัดหมายล่วงหน้าผ่าน LINE Official Account @chulabhornhospital (กดเพิ่มเพื่อน: http://nav.cx/8DqLuQm)

เตรียมเอกสาร เช่น ประวัติการรักษา, ผลการผ่าตัด, ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ, รายงานรังสีวินิจฉัยพร้อมซีดี, ผลพยาธิวิทยา, ผลชิ้นเนื้อ หรือผลชิ้นเนื้อไขกระดูก (ถ้ามี) เพื่อคัดกรองอาการก่อนนัดหมาย ลดการเดินทางโดยไม่จำเป็น

ความสำคัญของอิมครานิบ 100ความสำเร็จของยานี้ไม่เพียงช่วยผู้ป่วยมะเร็งเข้าถึงยาคุณภาพสูงในราคาที่ถูกลง จากหลักพันในต่างประเทศเหลือหลักร้อยในไทย แต่ยังยกระดับความสามารถด้านเภสัชอุตสาหกรรมของไทย ผ่านการพัฒนาตำรับยา การควบคุมคุณภาพ และการวิจัยที่โรงงานผลิตเภสัชภัณฑ์ในพระดำริ ซึ่งได้รับมาตรฐาน GMDP PIC/s ระดับสากล

ความก้าวหน้านี้เป็นรากฐานสำหรับการพัฒนายารักษามะเร็งตำรับอื่น ๆ ในอนาคต สร้างความมั่นคงด้านยาและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยอย่างยั่งยืน

อ่านข่าวอื่น :

"อิมครานิบ 100" ยารักษาโรคมะเร็งมุ่งเป้าชนิดเม็ด ตำรับแรกที่ผลิตขึ้นในไทย

"บิ๊กเต่า" เผยเส้นเงิน "ทิดสฤษดิ์" โยงสีกา 2 คน เร่งสอบทุนสร้างพุทธอุทยาน