ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สสน.เตือน เหนือ-อีสาน รับมือฝนตกหนัก อิทธิพล "พายุวิภา"

ภัยพิบัติ
21:46
248
สสน.เตือน เหนือ-อีสาน รับมือฝนตกหนัก อิทธิพล "พายุวิภา"
แม้พายุวิภาจะขึ้นฝั่งเวียดนามและอ่อนกำลังลง แต่ได้หนุนมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ให้มีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทยเผชิญฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือตอนบนที่ดินชุ่มน้ำและระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำสูงอยู่แล้ว เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก

วันนี้ (21 ก.ค.2568) น.ส.ทิพย์วรรณ อัลบัน นักพัฒนาแบบจำลอง สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) กล่าวว่า พายุวิภาไม่ได้เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยโดยตรง แต่มีกำลังแรงขึ้นและจะขึ้นฝั่งที่ประเทศเวียดนามในคืนพรุ่งนี้ถึงเช้าตรู่ (22 ก.ค.) หลังจากนั้น พายุจะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ อย่างไรก็ตาม รัศมีของพายุได้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยแล้ว เนื่องจากไทยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงอยู่ก่อนแล้ว พายุวิภาจึงไปหนุนให้ร่องมรสุมมีกำลังแรงขึ้น

ผลกระทบจากพายุวิภาและมรสุม จะทำให้ฝนตกหนักเริ่มตั้งแต่ภาคอีสานตอนบน เช่น จ.บึงกาฬ และ หนองคาย อิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จะส่งผลต่อ จ.ตาก กาญจนบุรี และอุทัยธานี นอกจากนี้ จ.เพชรบูรณ์ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน

ตั้งแต่คืนวันที่ 22-23 ก.ค. จ.น่าน พะเยา เชียงใหม่ และเชียงราย จะเริ่มได้รับผลกระทบจากฝนตกหนัก

จุดเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ ภาคเหนือตอนบนโดยเฉพาะบริเวณ จ.น่าน ทางฝั่งตะวันออกของภาคเหนือ พะเยา และเชียงราย เนื่องจากปริมาณน้ำก่อนหน้านี้ทำให้ดินชุ่มน้ำมากแล้วมีโอกาสเกิดน้ำท่วมฉับพลัน

อ.แม่สาย จ.เชียงราย เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เพราะลำน้ำมีลักษณะแคบลงและตื้นเขินค่อนข้างมาก ฝนที่ตกเพียง 40 มิลลิเมตร (ไม่ถึง 50 มิลลิเมตร) ก็สามารถทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันได้ ระดับน้ำในแม่น้ำสายยังคงน่ากังวล หากมีฝนตกลงมาเล็กน้อยก็อาจเกิดปัญหาได้ แม้ฝนที่คาดการณ์จะไม่ใช่ 100 มิลลิเมตรติดต่อกันหลายวัน แต่พื้นที่ต้นน้ำจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน และฝนจะยังคงตกต่อเนื่องแม้หย่อมความกดอากาศต่ำจะผ่านไปแล้ว จึงต้องจับตาแม่น้ำสายเป็นพิเศษ

สถานการณ์น้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ นายโอม ไทยสวัสดิ์ นักวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์น้ำ สสน. กล่าวว่าโดยรวมแล้วระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ของภาคเหนืออยู่ในเกณฑ์ปานกลางถึงน้ำมาก จ.น่าน มีอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากแล้ว บางอ่างมีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 90 ประชาชนที่อาศัยอยู่ท้ายน้ำของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางต้องติดตามข่าวสารจากภาครัฐอย่างใกล้ชิดเรื่องการบริหารจัดการน้ำ

จากเหตุการณ์ฝนตกหนักระหว่างวันที่ 10-14 ก.ค.ที่ผ่านมา มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนสิริกิติ์มากกว่า 100 ล้านลูกบาศก์เมตร (ประมาณ 150 ล้านลูกบาศก์เมตร) และคาดการณ์ว่าจากอิทธิพลของพายุวิภาครั้งนี้ เขื่อนสิริกิติ์จะได้รับปริมาณน้ำไหลเข้ามากกว่า 100 ล้านลูกบาศก์เมตรอย่างแน่นอน

พื้นที่ภาคเหนือจึงเป็นจุดที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษสำหรับผลกระทบจากพายุวิภาในครั้งนี้ และนี่เป็นเพียงช่วงต้นของฤดูฝนในพื้นที่เท่านั้น

อ่านข่าวอื่น :

ทบ.ยันชัด ตู้บริจาคในปราสาทตาควายของกัมพูชา เคลื่อนย้ายแล้ว

แพทองธารถาม "เป็นของเขาได้อย่างไร" ปม ฮุน เซน เคลมนโยบายทักษิณ