ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพภาคที่ 2 สรุปสถานการณ์การปะทะตามชายแดนไทย-กัมพูชา พบกัมพูชาพยายามเข้าพื้นที่ช่องตาเฒ่า ด้านหน้าเขาพระวิหาร ภูมะเขือ ช่องจอม ปราสาทตาควาย ปราสาทตาเมือน มียิงอาวุธที่ไม่มีรูปแบบ ไม่เป็นไปตามกฎการปะทะ ขณะภาพรวมสถานการณ์ยังตึงเครียดสูง
วันนี้ (27 ก.ค.2568) ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพภาคที่ 2 สรุปสถานการณ์การสู้รบ ถึงวันที่ 27 ก.ค. 68 เวลา 12.00 น. ดังนี้
สภาพอากาศตามแนวชายแดนยังปรากฏฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ภาพรวมสถานการณ์ในช่วงบ่าย จนถึงช่วงกลางคืน ของวันที่ 26 ก.ค.2568 มีการปฏิบัติที่สำคัญจำนวน 7 พื้นที่ (ลดลงจากวันแรก 3 พื้นที่) ดังนี้
1. พื้นที่ ช่องบก ทั้ง 2 ฝ่าย ตรึงกำลัง และปรากฏข่าวสารว่ามีการเคลื่อนย้ายกำลังบางส่วนมาช่วยในพื้นที่ ภูมะเขือ, พื้นที่ช่องอานม้า ฝ่ายเราดำเนินการเข้าควบคุมพื้นที่ตามเส้นปฏิบัติการ 1 : 50,000 ขณะที่กำลังประเทศกัมพูชาได้เคลื่อนย้ายลงไปทางทิศใต้
2. พื้นที่ภูผี - ปราสาทโดนตวล และช่องตาเฒ่า ยังตรึงกำลังกันอยู่ ฝ่ายประเทศกัมพูชาน่าจะมีการสูญเสียอย่างหนัก สำหรับผู้บัญชาการกองพลของประเทศกัมพูชา ที่ปรากฏข่าวสารว่าเสียชีวิตเป็นผู้รับผิดชอบพื้นที่นี้ อย่างไรก็ตามในการปฏิบัติการทางทหารแล้ว ยังไม่สามารถยืนยันข่าวสารนี้ได้
3. พื้นที่ด้านหน้าเขาพระวิหาร ยังคงมีการสู้รบกันอยู่ โดยอาวุธหลักของประเทศกัมพูชา คือการใช้พลซุ่มยิงจากพื้นที่ปราสาทพระวิหาร มุ่งทำร้ายกำลังพลของเรา ขณะที่พื้นที่ภูมะเขือ ฝ่ายเรายังคงควบคุมพื้นที่ตามเส้นปฏิบัติการ 1: 50,000 เอาไว้ได้
4. พื้นที่ช่องจอม มีการใช้อาวุธยิงสนับสนุน โจมตี บ้านเรือนประชาชนไทย และพื้นที่ปราสาทตาควาย และฝ่ายประเทศกัมพูชา มีความพยายามในการส่งรถถัง ขึ้นมายังพื้นที่ช่องกร่าง ทางทิศตะวันตกปราสาทตาควาย 2 กิโลเมตร
5. พื้นที่ปราสาทตาเมือนธม มีการปรับรูปขบวนเข้าตีทางทิศตะวันออกปราสาทตาเมือน ตลอดทั้งวัน จนฝ่ายเราต้องถอนตัวออกจากพื้นที่และใช้ปืนใหญ่โจมตีทำให้ฝ่ายประเทศกัมพูชาต้องถอนตัวออกไป
สำหรับการปฏิบัติ ในวันที่ 27 ก.ค.2568 ในช่วงเช้า เวลาประมาณ 06.30 น. ฝ่ายกัมพูชาได้ใช้จรวดไม่ทราบชนิดจากที่ตั้งสนามบินกรุงสำโรง จำนวน 4 นัด ทำให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเรือนประชาชนไทย 2 หลัง สัตว์เลี้ยง 5 ตัว
การปฏิบัติของฝ่ายไทยที่สำคัญ ได้แก่ การเข้าควบคุมพื้นที่ตามแนวเส้นปฏิบัติการ 1: 50,000 บริเวณช่องอานม้า อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี
พื้นที่ที่กัมพูชายังคงมีความพยายามเข้าพื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ช่องตาเฒ่า ด้านหน้าเขาพระวิหาร และภูมะเขือ พื้นที่ช่องจอม ปราสาทตาควาย และ ปราสาทตาเมือนธม ซึ่งการรุกรานดังกล่าว อาจสร้างผลกระทบต่อประชาชนตามแนวชายแดน จากการยิงอาวุธที่ไม่มีรูปแบบ ไม่เป็นไปตามกฎการปะทะของฝ่ายกัมพูชาก็เป็นได้
ภาพรวมของสถานการณ์ ยังมีความตึงเครียดสูง และฝ่ายกัมพูชาอาจกำลังเตรียมพร้อมสำหรับปฏิบัติการทางทหาร เพื่อสร้างความเสียหายให้กับฝ่ายเราให้มากที่สุดในช่วงสุดท้ายก่อนการเจรจา โดยปัจจุบันได้มีประเทศเป็นกลางเสนอแนวทางในการยุติความขัดแย้งออกมาแล้วหลายประเภทโดยเฉพาะความเห็นของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา
ส่วนการอพยพประชาชน สนับสนุนส่วนราชการจังหวัดในการอพยพประชาชนจากพื้นที่เสี่ยงภัย ไปยังพื้นที่รวบรวมพลเรือน พื้นที่ตอนในทั้ง 4 จังหวัด ดังนี้ จ.บุรีรัมย์ 1 จุด 10,173 คน, จ.สุรินทร์ 71 จุด 40,736 คน, จ.ศรีสะเกษ 135 จุด 39,580 คน และ จ.อุบลราชธานี อพยพเข้าพื้นที่รวบรวมพลเรือน 76 จุด 16,588 คน ปัจจุบันดำเนินการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยเข้าพื้นที่รวบรวมพลเรือนแล้ว 107,077 คน (เพิ่มขึ้น 9,646 คน)
ผลกระทบต่อประชาชน พื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย จ.สุรินทร์ มีกระสุนปืนใหญ่ตกในพื้นที่ 28 ลูก บ้านเรือนเสียหาย 3 หลัง ประชาชนไม่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสาร และการแจ้งเตือนจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เช่น เฟชบุ๊กแฟนเพจกองทัพบก Royal Thai Army, เพจกองทัพภาคที่ 2 เป็นต้น และขอความร่วมมือไม่แชร์ข้อมูลจากแหล่งที่มาข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือ พร้อมขอให้งดการโพสต์ หรือแชร์ภาพการเสียชีวิตของทหารกัมพูชา ซึ่งเป็นภาพที่น่าหดหู่ เพื่อให้เกียรติแก่ผู้เสียชีวิต
อ่านข่าว :
กัมพูชาเปิดฉากยิง BM-21 โจมตีทหารไทย - ยิงปืนใหญ่ตกใส่บ้าน ปชช.สุรินทร์
เหตุปะทะชายแดนไทย-กัมพูชา สธ.เผย บาดเจ็บเพิ่ม 1 คน ยอดสะสม 36 คน
ทอ.ส่ง F-16 ทิ้งบอมบ์ พื้นที่ยุทธบริเวณ ปราสาทตาเมือนธม-ตาควาย