มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลเผยสถิติความรุนแรงในครอบครัว
ในการสัมมนากลไก และมาตรการเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดเผยสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวปี 2553 พบว่า แนวโน้มความรุนแรงในครอบครัวทวีความรุนแรงมากขึ้น แบ่งเป็นการฆ่ากัน รองลงมาเป็นการฆ่าตัวตาย ซึ่งหากวิเคราะห์ถึงสาเหตุการฆ่าตัวตาย พบว่าสามีจะฆ่าตัวตาย หรือพยายามฆ่าตัวตายมากกว่าภรรยามากถึงร้อยละ 46 โดยมีปัจจัยมาจากหย่าร้างภรรยา ภรรยาหนีไปมีสามีใหม่ หวาดระแวงภรรยา น้อยใจภรรยา ส่วนกรณีภรรยาฆ่าตัวตายพบเพียงร้อยละ 24 สาเหตุเกิดจากน้อยใจสามี เพิ่งเลิกกับสามี หึงหวงสามี และรักสามเศร้า
ขณะที่การฆ่ากันตายในครอบครัวเกิดจากปัญหาความสัมพันธ์ของหญิงชาย ส่วนใหญ่สามีเป็นผู้กระทำต่อภรรยา เพราะความหึงหวง ระแวงว่าภรรยาจะมีคนอื่น คิดว่าภรรยาเป็นสมบัติของตัวเอง นอกจากจะกระทำต่อภรรยาแล้วยังกระทำต่อลูกด้วย ส่วนผู้ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุระหว่าง 31-40 ปี
นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า แม้ปัจจุบันจะมีพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวปี 2550 แต่ประชาชน และเจ้าหน้าที่ตำรวจ กลับมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว รวมทั้งเข้าใจผิดคิดว่าการลงบันทึกประจำวันเป็นการแจ้งความแล้ว จึงไม่มีการดำเนินคดี ส่งผลให้มีการกระทำซ้ำ เนื่องจากผู้กระทำไม่ได้เข้าสู่ขั้นตอนการบำบัด เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามที่กฎหมายระบุไว้
ทั้งนี้ มูลนิธิฯร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กำหนดกลไกการฟื้นฟูผู้กระทำความรุนแรง เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และสร้างความสมานฉันท์ให้กับสถาบันครอบครัวอีกครั้ง
แท็กที่เกี่ยวข้อง: