ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ไทยเตรียมทำลายงาช้างแอฟริการวมกว่า 2 ตัน 26 ส.ค.นี้

สิ่งแวดล้อม
24 ส.ค. 58
16:50
510
Logo Thai PBS
ไทยเตรียมทำลายงาช้างแอฟริการวมกว่า 2 ตัน 26 ส.ค.นี้

ไทยเตรียมทำลายงาช้างแอฟริกาของกลางผิดกฎหมายที่ยึดมากกว่า 2 ตันในวันที่ 26 ส.ค.2558 หลังผ่านกระบวนการตรวจสอบอย่างเข้มงวดไปเมื่อวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา

วันนี้ (25 ส.ค.2558) น.ส.จันทน์ปาย องค์ศิริวิทยา ผู้จัดการงานรณรงค์ต่อต้านการค้าสัตว์ป่า ตัวแทนจากกองทุนสัตว์ป่าโลก ( WWF ) กล่าวว่า การที่ทางการไทยทำลายงาช้างของกลางน้ำหนักรวมกว่า 2 ตัน ซึ่งเป็นงาช้างดิบและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากงาช้างแอฟริกาน้ำหนักรวม 1,206 กิโลกรัม ในครอบครองของกรมศุลกากร ที่ผ่านกระบวนการตรวจสอบร่วมกันระหว่างภาครัฐ และกองทุนสัตว์ป่าโลก สำนักงานประเทศไทย และงาช้างอีก 950 กิโลกรัม ที่อยู่ในการดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในวันที่ 26 ส.ค.นี้ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและตอกย้ำจุดยืนของประเทศไทยที่จะไม่ยอมให้ผู้ซื้อและผู้ลักลอบค้างาช้างผิดกฎหมายใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านและแหล่งซื้อขายงาช้างผิดกฎหมายอีกต่อไปซึ่งจะเป็นการยับยั้งอาชญกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ในแต่ละปีช้างแอฟริกากว่า 30,000 ตัว ถูกฆ่าเพื่อลักลอบนำงาเข้ามายังประเทศที่มีตลาดเปิดกว้างและไร้การควบคุมทางกฎหมายเป็นเวลาหลายปีเช่นประเทศไทย ซึ่งเปิดโอกาสให้อาชญากรสัตว์ป่าสามารถฟอกงาช้างผิดกฎหมายปริมาณมหาศาลได้จากช่องโหว่ทางกฎหมายในประเทศเหล่านั้น

ปี 2556 ที่ผ่านมา ประเทศไทยถูกกดดันอย่างหนักจากนานาชาติให้ปิดตลาดค้างาช้างในประเทศและด้วยความเสี่ยงในการถูกคว่ำบาตรทางการค้าภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) รัฐบาลได้ร่างแผนปฏิบัติการงาช้างแห่งชาติจนกระทั่งมีการออกพระราชบัญญัติงาช้าง เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยในปีนี้ (2558) ซึ่งมีผลให้มีการแจ้งครอบครองผลิตภัณฑ์ที่ทำจากงาช้างของผู้ค้าและผู้บริโภคทุกคน และมีวัตถุประสงค์ที่จะควบคุมตลาดค้างาช้างถูกกฎหมายที่มาจากช้างบ้านเท่านั้นอีกด้วย โดยงาช้างน้ำหนักรวมกว่า 220 ตัน ในการครอบครองของประชาชนกว่า 44,000 คน ได้ผ่านการขึ้นทะเบียนในช่วงต้นปีที่ผ่านมา
 
นอกจากนี้ รัฐบาลยังสั่งห้ามมีไว้หรือซื้อขายผลิตภัณฑ์งาช้างที่ได้มาจากช้างแอฟริกาด้วยไม่ว่ากรณีใดๆ โดยการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 กำหนดให้ช้างแอฟริกาเป็นหนึ่งในสัตว์ป่าคุ้มครองของประเทศไทย

น.ส.จันทร์ปาย ยังแนะนำว่า ให้มีการดำเนินวิธีการติดตามงาช้างถูกกฎหมายและผู้ค้าปลีกในระบบภายใต้กฎหมายใหม่นี้อย่างมีประสิทธิภาพที่จะสามารถนำมาใช้ในการควบคุมตลาดการค้างาช้างได้อย่างมีประสิทธิผล รวมถึงเรื่องชนิดและลักษณะของใบรับรองการซื้อขายที่จะออกให้กับผู้ซื้อสินค้า และสิ่งสำคัญที่ยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดคือด้านการบังคับใช้กฎหมายงาช้างฉบับใหม่นี้ ทั้งในเรื่องการตรวจสอบสินค้างาช้างและตลาดค้าปลีกในอนาคต และบทลงโทษสำหรับผู้ค้าโดยไม่มีใบอนุญาตและไม่นำผลิตภัณฑ์มาขึ้นทะเบียนว่าจะเป็นอย่างไร


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง