ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ชีวิตลูกเรือประมงไทย ตอน 3 : พบลูกเรือประมงไทยใช้หนังสือคนประจำเรือปลอม

26 ส.ค. 58
11:48
279
Logo Thai PBS
ชีวิตลูกเรือประมงไทย ตอน 3 : พบลูกเรือประมงไทยใช้หนังสือคนประจำเรือปลอม

หนังสือคนประจำเรือหรือใบซีแมนบุคเป็นหนังสือแสดงการทำงานของลูกเรือ แต่ในธุรกิจเรือประมงไทยกลับพบการปลอมหนังสือคนประจำเรือ คุณหทัยรัตน์ พหลทัพ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ไปพบลูกเรือประมงไทยที่อินโดนีเซีย และไม่สามารถเดินทางกลับประเทศได้ เพราะถูกนายจ้างใช้เอกสารปลอม

ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสพูดคุยกับลูกเรือประมงไทยที่เป็นลูกจ้างเรือประมงที่มีผู้ประกอบการเป็นคนไทยมานานกว่า 13 ปี อดีตลูกเรือประมงไทยเล่าว่าก่อนรับเข้าทำงานนายจ้างไม่เคยถามถึงเอกสารการสมัครงาน กระทั่งเมื่อเดือนตุลาคมปี 2557 เรือประมงถูกกักในน่านน้ำอินโดนีเซีย เพราะถูกสงสัยว่าผู้ประกอบการทำประมงผิดกฎหมายขาดการรายงานและควบคุมตามมาตรฐานหรือไอยูยู  แม้เขาจะอยากจะกลับบ้านมากแค่ไหนก็ไม่สามารถทำได้ เพราะในหนังสือคนประจำเรือหรือใบซีแมนบุคไม่ตรงกับความเป็นจริง

นับตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมปี 2557 มีเรือประมงไทยถูกกักในประเทศอินโดนีเซียบริเวณเกาะอำบนและเกาะเบนจิน่ากว่า 130 ลำ ในจำนวนนี้ถูกทางการอินโดนีเซียตัดสินและทำลายไปแล้ว 23 ลำ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่เกาะอำบนมีเรือประมงไทยถูกกักไว้ เพราะสงสัยว่าทำการประมงผิดกฎหมายตามมาตรฐานหรือไอยูยูกว่า 70 ลำ เมื่อเรือเหล่านี้ถูกกัก ลูกเรือที่เป็นแรงงานสัญชาติต่างๆ รวมทั้งไทยก็จะถูกกักอยู่ที่นี่ด้วย พวกเขาเดินทางไปไหนไม่ได้เพราะไม่มีเอกสาร หลายคนไม่ได้รับค่าจ้างจนต้องโดดเรือเพื่อไปหางานทำและบางคนก็ถูกนายจ้างกักตัวในสถานกักตัวที่อยู่ไม่ไกลจากที่นี่

สมัคร ทัพธานี หัวหน้าคุ้มครองฝ่ายคุ้มครองสิทธิแรงงาน มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN)  ระบุว่าก่อนหน้านี้มีลูกเรือทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติกว่า 1,500 คนแสดงความจำนงจะเดินทางกลับไทย ส่วนหนึ่งเดินทางกลับไปแล้ว แต่ยังมีบางส่วนที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์  นายกสมาคมประมงนอกน่านน้ำไทย ระบุว่าสมาคมกำลังร่วมมือกับหน่วยงานราชการไทยเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการทำประมงไทย แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีใครแจ้งปัญหาลูกเรือใช้หนังสือคนประจำเรือปลอม

หนังสือคนประจำเรือหรือใบซีแมนบุคเป็นหนังสือแสดงการทำงานของลูกเรือที่ออกโดยกรมเจ้าท่า แต่ในธุรกิจเรือประมงไทยกลับพบว่าผู้ประกอบการบางรายกลับทำหนังสือนี้ขึ้นมาเองเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการขอเอกสารและหลบเลี่ยงการตรวจสอบที่จะเกิดขึ้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง