ภาคใต้ เตรียมการ เฝ้าระัวังพื้นที่เสี่ยง พร้อมสื่อสารในสถานการณ์ภัยพิบัติ

Logo Thai PBS
ภาคใต้ เตรียมการ เฝ้าระัวังพื้นที่เสี่ยง พร้อมสื่อสารในสถานการณ์ภัยพิบัติ

ปลายเดือนตุลาคมถึงมกราคมของทุกปี ถือเป็นช่วงฤดูมรสุมของภาคใต้ ฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่องก่อให้เกิดน้ำท่วมและดินโคลนถล่มในหลายพื้นที่ ซึ่งในปีนี้คนในพื้นที่ได้นำบทเรียนจากภัยพิบัติครั้งที่แล้วได้นำมาปรับใช้โดยเฉพาะเรื่องการสื่อสาร พร้อมเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงพร้อมกับสังเกตความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่หลังฝนตกติดต่อกัน เพื่อเตรียมรับมือและป้องกันการสูญเสียที่จะเกิดขึ้น

ช่วงนี้หลายพื้นที่ของภาคใต้เริ่มมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำและคลองล้นฝั่งและไหลเข้าท่วมบ้านเรือนที่อาศัยอยู่ริมน้ำหรือพื้นที่ลุ่ม หากไม่มีฝนตกติดต่อกันก็จะใช้ระยะเวลาในการระบายน้ำลงทะเลไม่นานนัก 

สมพร  ช่วยอารีย์   คณะทำงานการพัฒนาศักยภาพกลไกชุมชนและเครือข่ายทางสังคมเพื่อการจัดการสาธารณภัย: กรณีศึกษาอ่าวปัตตานี (PB Watch) อธิบายถึงสภาพอากาศของภาคใต้ ว่า โดยปกติแล้วจะเป็นช่วงหน้าฝนของทางภาคใต้อยู่แล้ว  แต่ในปีนี้อาจจะต้องเฝ้าระวังในเรื่องของพื้นที่เสี่ยงที่เคยเกิดเหตุภัยพิบัติเมื่อครั้งที่แล้ว โดยสังเกตการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่พร้อมกับฟังข่าวสารจากกรมอุตุฯ  ประกอบการตัดสินใจ

“ตอนนี้ฝนก็เริ่มตกตั้งแต่วันที่ 20  พฤศจิกายน  ซึ่งตกต่อเนื่อง เป็นละลอก เดี่ยวตกๆ  หยุดๆ แต่ละพื้นที่จะได้รับอิทธิพลที่แตกต่างกัน  ใกล้ภูเขาฝนจะตกต่อเนื่อง ชาวบ้านจึงต้องเฝ้าระวังน้ำป่าไหลหลาก  โดยเฉพาะพื้นที่ลาดชันจำเป็นที่จะต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องสำหรับบ้านใครที่อยู่บริเวณชายเขาก็จะต้องเฝ้าระวัง ดูการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ สังเกตลักษณะน้ำ สีน้ำ ด้านบริเวณชายฝั่ง –นครศรีธรรมราช จะมีมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือมากกว่าฤดูกาลปกติ อาจจะมีคลื่นสูง เรือประมงขนาดเล็กควรงดออกจากฝั่งไปก่อน พร้อมกับฟังกรมอุตุและสิ่งที่เห็นในพื้นที่ประกอบการตัดสินใจ”

จอม กำพล จิตตะนัง   ศูนย์ประสานงานจัดการภัยพิบัติ[ภาคพลเมือง]   จังหวัดนครศรีธรรมราช  กล่าวว่า    ในช่วงมรสุมปีนี้ของภาคใต้เรื่องที่จะต้องเฝ้าระวังอยู่ในขณะนี้ คือเรื่องน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม  โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงจากเมื่อต้นปีที่มา อาจจะต้องเตรียมการรับมือมากกว่าพื้นที่อื่นๆ   เพราะโครงสร้างเดิมและมีเส้นทางน้ำอยู่แล้ว

“ช่วงมรสุม มีปริมาณน้ำฝนทำให้เสี่ยงต่อเรื่องโคลนดินถล่ม เรากังวลเรื่องนี้มากที่สุดโดยเฉพาะพื้นที่ที่มีเส้นทางน้ำอยู่แล้ว ที่ถูกสร้างโดยดินโคลนถล่มมาแล้ว ถ้าฝนตกมาประมาณ 100-400 มิลลิเมตร ทำให้กลายเป็นน้ำป่าไหลหลาก ถ้าตรงกับพื้นที่ที่ไม่เคยโดนดินถล่มทำให้โอกาสของโคลนดินถล่มเพิ่มสูงขึ้น เพราะสภาพโครงสร้างเดิมยังไม่แข็งตัว  นครศรีธรรม ราช กระบี่ เป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าระวังอย่างมากชุมชนที่ตั้งในพื้นที่เสียงภัยจำเป็นต้องเฝ้าระวังและเตรียมการอพยพ  เตรียมการรับมือมากกว่าพื้นที่อื่นๆ ทั่วไป”  อ.จอมกล่าว                  

ฝนที่เริ่มตกในปีนี้ ทำให้หลายพื้นที่เริ่มพูดคุยและหารือร่วมกัน พร้อมกับนำข้อเสนอและบทเรียนในปีที่แล้ว มาปรับใช้ในปีนี้ โดยเฉพาะเรื่องของการสื่อสารทั้งภายในพื้นที่และสาธารณะเพื่อให้ข้อมูลกับคนในพื้นที่และเฝ้าระวังสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นและระยะยาว พร้อมเชื่อมข้อมูลระหว่างพื้นที่   ใช้ต้นทุนร่วมกันในภาคใต้ การเตรียมตัวและปฏิบัติการเรื่องของสื่อทั้งก่อนเกิดภัย เกิดภัยแล้ว และการฟื้นฟู

สมพร ช่วยอารีย์   กล่าวว่า   ตอนนี้ฝนที่เริ่มตกในพื้นที่    ชาวบ้านก็เริ่มจะรู้แล้วว่าสภาพของชุมชนตัวเองเป็นอย่างไร   ถ้าเกิดภาวะวิกฤตจะอพยพไปหาที่อยู่ที่ไหน  เพราะมีการนำบทเรียนจากครั้งที่แล้วมาใช้พร้อมกับเริ่มมีการเตรียมการมาแล้ว  เตรียมน้ำดื่ม  อาหาร  ที่พักพิง   ในส่วนของ pb  watch ก็จะ เป็นกลไกให้เกิดกระบวนการคิด วางแผน ทางเดินน้ำ นำมาสู่การใช้จริงได้อย่างไร และจะใช้ชีวิตตลอดไป   
              
จอม  กำพล จิตตะนัง  กล่าวว่า ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ตอนนี้มีการเตรียมจัดตั้งศูนย์ประสานงานภาคพลเมือง  โดยจัดการการประสานข้อมูล น่าจะเดินไปได้ ใช้ต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด  ใช้ต้นทุนทางสังคมร่วมกันของภาคใต้  โดยจะเปิดอย่างเป็นทางการเป็นทางการ  1 ธันวาคม  ด้านในเรื่องของปฏิบัติการเรื่องของสื่อ  เตรียมการไว้ทั้งก่อนเกิดภัย เกิดภัยแล้ว และการฟื้นฟู 

แม้ปีนี้ยังไม่รู้ว่าสถานการณ์ในพื้นที่ภาคใต้จะเป็นอย่างไร แต่การเตรียมความพร้อมในการเฝ้าระวัง  ให้ข้อมูล และเตรียมการจัดการตัวเองของคนในพื้นที่ก็เป็นเรื่องดีไม่น้อยที่จะช่วยลดความสูญเสียและความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้น   และที่สำคัญบทเรียนในแต่ละครั้งสร้างการเรียนรู้ให้กับคนในพื้นที่ให้สามารถปรับตัวและเรียนรู้ที่จะอยู่กับสภาพความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง