“สารี สุพรรณ” หญิงแกร่ง..นักบุญผู้ปิดทองหลังพระ

Logo Thai PBS
“สารี สุพรรณ” หญิงแกร่ง..นักบุญผู้ปิดทองหลังพระ

จากสถานการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมาทำให้รู้ว่า “น้ำใจคนไทย” ที่หลั่งไหลเพื่อช่วยเหลือคนไทยด้วยกันเองนั้น ท่วมท้นยิ่งกว่าสายน้ำที่ไหลเอ่อเข้าท่วมบ้านเรือนของประชาชนเสียอีก โดยจะเห็นได้จากการช่วยเหลือทั้งแรงกาย กำลังทรัพย์ที่ร่วมกันบริจาค ตลอดจนการให้ที่พักพิงยามเดือดร้อนแก่ชาวบ้าน อย่างศูนย์พักพิงชั่วคราวของ “โรงเรียนประเทืองทิพย์วิทยา” ที่ถูกแปรสภาพให้รองรับและให้ความช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ย่านสายไหม จนขณะนี้เข้าทำนองที่ว่า “ท่วมก่อนแห้งทีหลัง” โดยโรงเรียนเอกชนแห่งนี้  เปิดให้เป็นที่อยู่อาศัยชั่วคราว โดยมีผู้ประสบภัยแจ้งความจำนงเข้าพักพิงในศูนย์นี้ประมาณ 250 คน  แม้น้ำจะท่วมสูงถึง 1 เมตรและถูกประกาศเป็นเขตอพยพ แต่ก็ไม่มีใครยอมย้ายออก  เพราะการอยู่ที่นี่ยังสามารถเดินลุยน้ำ หรือนั่งเรือไปดูแลบ้านและทรัพย์สินที่บ้านได้

“สารี  สุพรรณ”  ผู้อำนวยการโรงเรียนประเทืองทิพย์วิทยา เล่าให้ฟังว่า วันนั้นเตรียมตัวจะอพยพครอบครัวไปเชียงใหม่กันแล้ว  ซื้อตั๋วเครื่องบินเสร็จเรียบร้อย  มีชาวบ้านมาบอกว่าที่บ้านน้ำท่วมสูงมาก อยู่ไม่ได้ ขอมาอาศัยอยู่ที่โรงเรียนได้หรือไม่ ซึ่ง ดิฉันก็อนุญาต  แล้วก็รู้ว่าเชียงใหม่คงไม่ได้ไปแล้ว  คงทิ้งชาวบ้านไปไม่ได้ ตอนแรกก็มีครอบครัวมาพักอาศัยอยู่ประมาณ10-20 คน  แล้วก็เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยตามสถานการณ์น้ำ

ผอ.โรงเรียนประเทืองทิพย์วิทยา บอกต่อไปว่า  โรงเรียนของเราเป็นโรงเรียนเอกชนเปิดมานานกว่า 50 ปีแล้ว  ปัจจุบันมีผู้พักอาศัยอยู่ในศูนย์ฯนี้ 250 คน ในจำนวนนี้มีเด็กเล็กประมาณ 10 คน เด็กโต 40 คน วัยรุ่น 20 คน ผู้สูงอายุ 100 คน ที่เหลือ 80 คนเป็นวัยทำงานนอกจากนี้ยังต้องดูแลผู้ประสบภัยที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงอีกประมาณ 250 ชีวิต ที่อาศัยอยู่ในตรอกซอกซอยต่างๆ เพราะความช่วยเหลือเข้าไม่ถึง สำหรับตัวเลขของผู้มาขอรับอาหารในแต่ละวันสูงถึงวันละ 1,000 คน โดยเฉพาะในช่วงเย็นที่ประชาชนกลับเข้าพื้นที่หลังจากต้องออกไปประกอบภารกิจภายนอก

ส่วนการคมนาคมเข้าออกพื้นที่ในช่วงนั้นลำบากมาก รถยนต์ทุกชนิดไม่สามารถสัญจรไปมาได้ ดีที่มีผู้อนุเคราะห์เรือให้กับทางโรงเรียนมา 2 ลำเพื่อใช้เป็นพาหนะเดินทางเข้าออกไปดูบ้านและส่งอาหารให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในบ้านเรือนบริเวณใกล้เคียงโรงเรียน รวมถึงการเดินทางไปหาซื้อวัตถุดิบเพื่อใช้ในการประกอบอาหาร โดยทางโรงเรียนได้จัดตั้งครัวกลางขึ้นและจัดแม่ครัวอาสามาประกอบอาหารเลี้ยงผู้ประสบภัยในศูนย์ฯและแจกจ่ายให้กับผู้ที่อาศัยในบริเวณโดยรอบทุกวันครบ 3 มื้อ โดยใช้ทุนส่วนตัวเป็นค่าใช้จ่ายตกวันละประมาณ 20,000-30,000 บาท เพราะข้าวของแพงมาก ต้องตื่นตั้งแต่ตี 3 นั่งเรือต่อรถไปซื้อวัตถุดิบถึงตลาดปากน้ำเพราะราคาค่อนข้างถูกกว่าตลาดในย่านนี้ เมื่อมีผู้ใจดีทราบข่าวว่ามาจากพื้นที่น้ำท่วมก็ช่วยบริจาคสิ่งของให้ติดไม้ติดมือกลับมาด้วย รวมทั้งของอุปโภคก็ได้จัดเตรียมไว้ให้กับผู้ประสบภัยทุกอย่าง

“การอยู่ร่วมในศูนย์ฯ นี้จะอยู่ในลักษณะของครอบครัวแบบประชาธิปไตยทุกเช้าจะมีการสวดมนต์ ซึ่งทุกคนจะรู้หน้าที่ว่าต้องช่วยกันทำความสะอาดโดยไม่ต้องบอก แต่สิ่งที่สำคัญทุกคนต้องประหยัดทั้งในเรื่องอาหาร และน้ำดื่ม และหลังจากกลับมาจากข้างนอกทุกคนต้องล้างเท้าดูแลความสะอาดของตัวเองเพื่อป้องกันเชื้อโรคที่จะตามมา จึงเห็นได้ว่าในศูนย์นี้ไม่มีใครป่วยด้วยโรคน้ำกัดเท้า หรือท้องเสีย แม้กระทั่งอาหารปรุงสุกที่ได้รับแจกมาจากที่อื่น ก็ต้องทานให้หมดไม่เก็บค้างคืน”

สำหรับแรงบันดาลใจในช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันในครั้งนี้ ทั้งที่มีโอกาสขยับขยายและย้ายไปอยู่ในจุดที่ปลอดภัยและสะดวกสบายกว่า แต่อาจารย์สารียังยอมเสียสละทรัพย์สินส่วนตัวเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นซึ่งเธอบอกกับเราว่า “ทุกคนต่างก็เป็นผู้ประสบภัยด้วยกันที่ต้องช่วยเพราะไม่อยากเห็นภาพความหิวโหยของคนในพื้นที่ การลักขโมยของเพื่อประทังชีวิต รวมถึงการยื้อแย่งของกินกัน เพราะเห็นจากในทีวีมีการโยนอาหารถุงยังชีพลงมาจากเฮลิคอปเตอร์แล้วชาวบ้านเข้าไปยื้อแย่งการยื่นมือขออาหารเห็นแล้วรู้สึกอนาถใจไม่อยากเห็น เหตุการณ์แบบนี้อีกเลย”

ส่วนการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุและเด็กเล็กได้รับน้ำใจจากโรงพยาบาลภูมิพลเข้ามาดูแล นอกจากนี้หลังจากอยู่กันอย่างอยากลำบากมาได้ประมาณ 2 สัปดาห์เริ่มมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งน้ำใจของคนไทยที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างไม่ขาดสายทำให้ศูนย์พักพิงชั่วคราวแห่งนี้อยู่กันได้จนกระทั่งน้ำลด

ศูนย์พักพิงชั่วคราว โรงเรียนประเทืองทิพย์วิทยา เปิดให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยมาตั้งแต่วันที่ 22 ต.ค.54 ถึงวันที่ 5 ธ.ค.54 ขณะนี้ได้ปิดศูนย์แล้ว แต่สิ่งที่หลงเหลือทิ้งไว้ให้กับสถานที่แห่งนี้คือ ความเสียหายของโต๊ะเก้าอี้ อุปกรณ์การเรียนการสอน และอาคารไม้บางส่วนซึ่งขนย้ายไม่ทันเพราะระหว่างน้ำท่วมอยู่ในช่วงปิดภาคเรียน จากการประเมินความเสียหายแล้วน่าจะไม่หลายแสนบาท อย่างไรก็ตามแม้ทางรัฐบาลจะประกาศว่าหากโรงเรียนใดเปิดไม่ทันในวันที่ 13 ธ.ค.นี้ให้ทำการเรียนการสอนนอกพื้นที่ได้แต่ทางผู้บริหารก็ไม่อยากให้นักเรียนต้องเดินทางลำบากจึงได้ประสานไปยังโธยาสำนักงานเขตสายไหมให้ช่วยดูแลแล้วเพราะอีกไม่กี่วันโรงเรียนก็จะเปิดเทอมอย่างเป็นทางการ

สุดท้ายนี้ผู้บริหารโรงเรียน ประเทืองทิพย์วิทยาฝากถึงผู้ประสบภัยและผู้ที่กำลังประสบปัญหาด้านอื่นๆ ขอให้มีกำลังใจพร้อมที่จะลุกขึ้นสู้อยู่ตลอดเวลา  เพราะโลกนี้ไม่ได้มีเราแค่คนเดียวยังมีเพื่อนมนุษย์  คนไทยอีกหลายคนที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลือและฉุดมือให้คุณได้ลุกไปพร้อมๆกัน
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง