ไอลอว์ชี้ "กดไลค์" ไม่ผิดกฎหมาย

การเมือง
14 ธ.ค. 58
06:17
1,480
Logo Thai PBS
ไอลอว์ชี้ "กดไลค์" ไม่ผิดกฎหมาย

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เตือนการ "กดแชร์" ในเฟซบุ๊กเพื่อเผยแพร่ส่งต่อเนื้อหาต้นฉบับที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาท ถือว่าเป็นความผิดแม้ผู้ที่แชร์จะไม่ได้เป็นผู้ผลิตเนื้อหานั้นเอง ส่วนการ "กดไลค์" นั้นไม่น่าจะผิดกฎหมายเนื่องจากไม่มีส่วนร่วมในการผลิตหรือเผยแพร่เนื้อหานั้นต่อ

วันนี้ (14 ธ.ค.2558) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนได้โพสต์เฟซบุ๊ก iLaw แสดงความเห็นต่อกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐประกาศว่าจะดำเนินคดีกับผู้ที่กดการกดไลค์ (Like) แชร์ (Share) และเขียนคอมเมนต์ในเฟซบุ๊ก

คำเตือนของเจ้าหน้าที่ต่อการกดไลค์หรือแชร์ในเฟซบุ๊กเกิดขึ้นหลังจากมีการจับกุมดำเนินคดีผู้โพสต์แผนผังที่อ้างว่าแสดงความไม่โปร่งใสในโครงการอุทยานราชภักดิ์ จนนำมาสู่การออกหมายจับผู้ต้องหาที่กดไลค์และแชร์ข้อมูลผังทุจริตโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์เพิ่มอีก 1 ราย ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, 116 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

เมื่อวานนี้ (13 ธ.ค.2558) โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ได้แสดงความเห็นว่าการ "กดแชร์" เพื่อเผยแพร่ส่งต่อเนื้อหาต้นฉบับที่ผิดกฎหมายนั้นมีความผิด แม้จะไม่ได้เป็นผู้ผลิตเนื้อหานั้นเอง ส่วนการ "กดไลค์" ข้อความไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย เนื่องจากไม่มีส่วนร่วมในการผลิตหรือเผยแพร่เนื้อหานั้นต่อ โดยไอลอว์ได้ให้ความเห็นจากการตีความทางกฎหมายในหลายกรณี ดังนี้

การกดแชร์ผิดกฎหมายหรือไม่

หากการเผยแพร่เนื้อหาต้นฉบับนั้นผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาหมิ่นประมาท ภาพลามกอนาจาร ความผิดต่อความมั่นคง หรือความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ การกดแชร์นั้น ผู้กดแชร์ย่อมรู้ดีอยู่แล้วว่าหมายถึงการส่งต่อเนื้อหานั้นๆ ไปยังเพื่อนในเฟซบุ๊กของตัวเอง เท่ากับเป็นเจตนาเผยแพร่เนื้อหานั้นๆ ย่อมเป็นความผิดด้วย แม้จะไม่ใช่ผู้ผลิตเนื้อหาเองก็ตาม

การกดไลค์ผิดกฎหมายหรือไม่
แม้ว่าการเผยแพร่เนื้อหาต้นฉบับนั้นจะผิดกฎหมาย แต่การกดไลค์ก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิดกฎหมาย เพราะไม่ได้มีส่วนร่วมในการทำขึ้น เผยแพร่ หรือส่งต่อ และก็ไม่มีความผิดฐาน "สนับสนุน" การกระทำ เพราะความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86 ต้องเป็นการสนับสนุนที่เกิดขึ้น "ก่อนหรือขณะกระทำความผิด" เท่านั้น แต่การกดไลค์นั้นเกิดขึ้นหลังจากเนื้อหาถูกทำขึ้นและเผยแพร่เสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงไม่ใช่ความผิดฐานสนับสนุน

การกดไลค์ อาจทำให้เนื้อหาปรากฏบนเฟซบุ๊กของคนอื่นด้วย ผิดกฎหมายหรือไม่
การกดไลค์อาจจะทำให้เนื้อหาปรากฏบนเฟซบุ๊กของคนอื่นได้ก็จริง แต่ไม่ได้เกิดขึ้นเหมือนกันทุกครั้ง คนที่กดไลค์ไม่สามารถคาดหมายได้ว่าการกดไลค์แต่ละครั้งจะทำให้เนื้อหานั้นไปปรากฏที่หน้าเฟซบุ๊กของคนอื่นหรือไม่ และจะปรากฏบนหน้าเฟซบุ๊กของคนกี่คน

การกดไลค์โดยทั่วไปสามารถเข้าใจได้ว่า คนที่กดไลค์มีเจตนาแสดงออกว่า "ถูกใจ" เนื้อหานั้นๆ ไม่ใช่เจตนาที่จะเผยแพร่ต่อ และระบบของเฟซบุ๊กก็สามารถกดทั้ง "ไลค์" และ "แชร์" ได้อยู่แล้ว ซึ่งเป็นปุ่มที่ติดตั้งไว้ข้างๆ กัน โดยธรรมชาติ หากผู้ใช้ต้องการทำคนอื่นเห็นเนื้อหาด้วยก็จะใช้วิธีแชร์ ไม่ใช่การไลค์ ดังนั้นจึงพอจะเห็นได้ว่าการกดไลค์ ไม่ใช่การกระทำที่มีเจตนาจะเผยแพร่เนื้อหาต่อ แต่เป็นเพียงการแสดงความถูกใจเท่านั้น จึงไม่ใช่การกระทำที่ผิดกฎหมาย

การคอมเมนต์ใต้ภาพหรือข้อความผิดกฎหมายหรือไม่
การคอมเมนต์อาจจะทำให้เนื้อหาปรากฏบนเฟซบุ๊กของคนอื่นได้ก็จริง แต่ไม่ได้เกิดขึ้นเหมือนกันทุกครั้ง คนที่คอมเมนต์ก็เช่นเดียวกับคนที่กดไลค์ คือ ไม่สามารถคาดหมายได้ว่าการคอมเมนต์แต่ละครั้งจะทำให้เนื้อหานั้นไปปรากฏที่หน้าเฟซบุ๊กของคนอื่นได้หรือไม่ หากมีเจตนาที่จะเผยแพร่เนื้อหาต่อก็ย่อมต้องใช้วิธีการกดแชร์แทน การคอมเมนต์ก็เกิดขึ้นหลังการผลิตและเผยแพร่เนื้อหานั้นเสร็จแล้ว ดังนั้น แม้จะคอมเมนต์ใต้ภาพหรือข้อความที่ผิดกฎหมายในลักษณะชื่นชม ก็ไม่ใช่การกระทำที่ผิดกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้กล่าวถึงการดำเนินคดีผู้ต้องหาเผยแพร่แผนผังทุจริตราชภักดิ์ว่ามีคนในรัฐบาลเกี่ยวข้อง ซึ่งพบข้อมูลเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยเตือนประชาชนว่าถ้ากดไลค์ กดแชร์ ข้อมูลที่เข้าข่ายหมิ่นเหม่ ผิดมาตรา 112 อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายได้ เช่นเดียวกับ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ คณะทำงานด้านกฎหมาย คสช.กล่าวว่าผู้ที่แชร์ภาพหรือแม้แต่กดไลค์ภาพผังอุทยานราชภักดิ์ จะถูกดำเนินคดีอาญาตามมาตรา 116 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

ล่าสุดวันนี้ (14 ธ.ค.2558) พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ ปิงเมือง รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติกล่าวย้ำอีกว่าผู้ที่เผยแพร่หรือส่งต่อข้อความแผนผังอุทยานราชภักดิ์จะถือว่ามีความผิดด้วย ผู้ที่ส่งต่อจะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้ พร้อมมอบหมายให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) สืบสวนขยายผล

รองโฆษก ตร.กล่าวอีกว่า เจ้าหน้าที่สืบสวนพบว่า "สถาบันคนเสื้อแดงแห่งชาติ" มีแอดมินมากกว่า 20 คน และผู้เป็นสมาชิกเฟซบุ๊กที่เข้ามากดถูกใจหรือเข้าร่วมเป็นสมาชิกของเพจ รวมถึงผู้ที่ส่งต่อและเผยแพร่เนื้อหาของเพจถือว่าเป็นกระทำความผิดร่วมกับผู้ต้องหาด้วยเช่นกัน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง