วันนี้ (17 ธ.ค.) ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์รายงานว่า ศาลได้อ่านคำพิพากษาคดีทุจริตโครงการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียคลองด่าน หมายเลขดำ 1682/57 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 2 เป็นโจทก์ฟ้องนายปกิต กิระวานิช อายุ 79 ปี อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม นายศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ อายุ 64 ปี อดีตรองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และนางยุวรี อินนา อายุ 54 ปี ผอ.กองจัดการคุณภาพน้ำ ขณะดำรงตำแหน่งนักวิชาการสิ่งแวดล้อม 7 ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการคัดเลือก ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่มีหน้าที่จัดซื้อ ทำ จัดการรักษาทรัพย์ใดๆ ,ร่วมกันใช้อำนาจในตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
อัยการโจทก์ฟ้องระบุความผิดจำเลยเมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2557 สรุปว่า ระหว่างวันที่ 14 มิ.ย.2538 -28 ก.พ.2546 นายวัฒนา อัศวเหม อดีต รมช.มหาดไทย ได้รวบรวมเข้าชื่อซื้อที่ดินจากประชาชนย่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ในนาม บริษัท เหมืองแร่ลานทองจำกัด แล้วขายให้กับบริษัท ปาล์มบีช ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเดียวกัน จากนั้นจำเลยทั้งสาม ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ได้ร่วมกันเอื้อประโยชน์ให้ใช้ที่ดินของบริษัท คลองด่านมารีน แอนด์ฟิชเชอรี่ จำกัด บริษัทในเครือการก่อสร้างโครงการ และเอื้อประโยชน์ให้แก่ กิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี (NVPSKG JOINT VENTURE) ให้ได้รับการคัดเลือกเข้าทำสัญญาโครงการกับกรมควบคุมมลพิษ รวมทั้งให้ผ่านคุณสมบัติในการประกวดราคา และเพิ่มวงเงินงบประมาณก่อสร้างโครงการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้กิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการซื้อขายที่ดิน ทำให้รัฐได้รับความเสียหาย มูลค่า 22,949,984,020 บาท เหตุเกิดที่ แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กทม. และ อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการเกี่ยวพันกัน จึงขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยด้วย พวกจำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลพิเคราะห์คำเบิกความและพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายที่นำสืบหักล้างกันแล้วเห็นว่า การที่จำเลยทั้งสาม ซึ่งมีหน้าที่ดำเนินการ และรับผิดชอบโครงการดังกล่าว กลับไม่ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ยินยอมให้บริษัท ปาล์มบีชฯ ที่บริษัท คลองด่าน มารีนฯ ถูกเชิดให้ถือกรรมสิทธิ์แทน ซึ่งไม่มีคุณสมบัติในการยื่นซองประกวดราคาได้ยื่นข้อเสนอตั้งโรงบำบัดน้ำเสีย ทั้งยังปกปิดรูปแบบการการประกวดราคา การจัดซื้อที่ดิน ทำให้รัฐเสียเปรียบ มิได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา เป็นการฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรีที่ประกวดราคาแบบเหมารวม โดยไม่ดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 และระเบียบการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ พ.ศ. 2534
การกระทำของจำเลยทั้งสามเลือกดำเนินการเกี่ยวกับโครงการไปในทางที่ขัดต่อระเบียบราชการ พฤติการณ์ส่อแสดงให้เห็นถึงการวางแผนและดำเนินการเพื่อเอื้อประโยชน์นับแต่ให้ที่ดินของบริษัท คลองด่านฯ ได้รับคัดเลือกนำมาใช้ในโครงการ ร่วมกันปกปิด และบิดเบือนสร้างราคาที่ได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มีผลเกี่ยวเนื่องให้กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี เข้ามาเป็นคู่สัญญาก่อสร้างโครงการกับกรมควบคุมมลพิษ แสดงให้เห็นว่าชัดแจ้งว่า กลุ่มเอกชนร่วมกันบิดเบือน และปกปิดข้อเท็จจริงการเสนอแต่ละขั้นตอนโดยทุจริต แล้วเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งมีจำเลยทั้งสามรวมอยู่ด้วย กับผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีที่มีหน้าที่รับผิดชอบเข้าร่วมมือกัน เป็นการกระทำโดยทุจริต และเอื้อประโยชน์ช่วยเหลือกัน ทำให้โครงการก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย เขตควบคุมมลพิษ จ.สมุทรปราการ ระหว่างกรมควบคุมมลพิษ กับ กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี เป็นสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
พยานหลักฐานโจทก์จึงรับฟังได้ว่า การกระทำของจำเลยทั้งสาม ทำให้ราชการได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และ 157 เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมลกฎหมายอาญามาตรา 151 อันเป็นบทหนักสุด จำคุกจำเลยทั้งสาม คนละ 20 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังฟังคำพิพากษาแล้ว ญาติของจำเลยยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ขอประกันตัว โดยศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้จำเลยทั้งสามประกันตัวไประหว่างอุทธรณ์คดี ด้วยวงเงินประกันคนละ 2 ล้านบาท