เครือข่ายพลเมืองเน็ตหนุนปชช.ตรวจสอบรัฐ ยัน“กดไลค์”ไม่ใช่เผยแพร่-ไม่หนุน-ไม่หมิ่น

การเมือง
17 ธ.ค. 58
15:58
66
Logo Thai PBS
เครือข่ายพลเมืองเน็ตหนุนปชช.ตรวจสอบรัฐ ยัน“กดไลค์”ไม่ใช่เผยแพร่-ไม่หนุน-ไม่หมิ่น
เครือข่ายพลเมืองเน็ตหนุนปชช.ตรวจสอบรัฐ ยัน“กดไลค์”ไม่ใช่เผยแพร่-ไม่หนุน-ไม่หมิ่น เครือข่ายพลเมืองเน็ตออกแถลงการณ์ให้

วันนี้ (17 ธ.ค.) เครือข่ายพลเมืองเน็ต (Thai Netizen Network) ออกแถลงการณ์ให้รัฐบาลสนับสนุนการตรวจสอบของประชาชน ระบุว่า จากสถานการณ์การละเมิดสิทธิพลเมืองต่อผู้ใช้อินเตอร์เน็ตที่ผ่านมา จึงออกแถลงการณ์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

1.ความตื่นตัวของพลเมือง
จากความสงสัยของสาธารณะต่อประเด็นที่ว่าการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์นั้นมีการทุจริตหรือไม่ และถ้าหากมีจริง การทุจริตดังกล่าวเกี่ยวข้องกับข้าราชการ รัฐบาลทหาร หรือบุคคลในคณะรัฐประหารหรือไม่นั้น นำไปสู่กิจกรรมที่น่าสนใจอย่างน้อยสามประการโดยสื่อและพลเมืองที่สนใจประเด็นทุจริตคอร์รัปชัน กล่าวคือ
1) การแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ซึ่งรวมไปถึงการเปรียบเทียบกรณีทุจริตในรัฐบาลก่อนๆ และความคาดหวังกับการ “ปฏิรูป”
2) การพยายามแสวงหาข้อเท็จจริงจากเอกสารหลักฐาน เช่น ผ่านช่องทางพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ
3) การพยายามนำเสนอข้อเท็จจริงที่ค้นพบดังกล่าว ซึ่งอาจซับซ้อนเกี่ยวข้องกับบุคคลและองค์กรจำนวนมากในเวลาที่หลากหลาย ผ่านการเล่าเรื่องอย่างเป็นลำดับหรือการเล่าด้วยภาพ เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจในภาพใหญ่ หรือทำให้สังเกตเห็นถึงความขัดแย้งกันของข้อมูล
พลเมืองจำนวนมากมีส่วนร่วมในกิจกรรมติดตามตรวจสอบทั้งสามประการนี้ ผ่านการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อกันไปสู่เพื่อนฝูงญาติมิตรของเขา ไม่ว่าพวกเขาจะเห็นด้วยทั้งหมดหรือไม่ก็ตามกับข้อมูลดังกล่าว คนอีกจำนวนหนึ่งยังแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมต่อข้อมูลที่พวกเขาเผยแพร่ต่อด้วย เพื่อชวนให้คนรอบข้างพิจารณาว่าข้อมูลนั้นน่าเชื่อถือเพียงไร

2.การปราบปรามผู้เห็นต่าง
เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2558 เรื่องที่ไม่ควรเกิดระหว่างการปกครองโดยกลุ่มบุคคลที่ประกาศว่า มุ่งมั่นจะกำจัดการทุจริตคอร์รัปชัน ก็ได้เกิดขึ้น เมื่อเจ้าหน้าที่อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว จับกุมนายฐนกร ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตรายหนึ่ง โดย พล.ต.วิจารณ์ จดแตง หัวหน้าส่วนปฏิบัติการคณะทำงานด้านกฎหมาย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุว่าหน่วยข่าวกรองของทหารสืบทราบว่านายฐนกรเป็นผู้เผยแพร่แผนผัง “เปิดปมการทุจริตอุทยานราชภักดิ์” ตอนที่ 1 ตอนที่ 2 และตอนที่ 3 และภาพ “อุทยานราชภักดิ์จะต้องใช้ใบบัว 5,920,000 ใบจึงจะปิดได้มิด” ซึ่งพาดพิงว่า มีบุคคลได้รับผลประโยชน์ เบื้องต้นเชื่อว่าเป็นข้อมูลเท็จ จึงเข้าคุมตัวที่บริษัท ก่อนจะเข้าตรวจค้นภายในบ้านพัก ยึดคอมพิวเตอร์ พร้อมกับโทรศัพท์มือถือของนายฐนกร ให้เจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ไปตรวจสอบ และคุมตัวไปสอบปากคำที่ค่ายทหารแห่งหนึ่ง โดยไม่เปิดเผยว่าเป็นที่ใด และไม่อนุญาตให้ทนายความเข้าพบ

หลังการสอบสวนและตรวจสอบ นายฐนกรถูกแจ้งความดำเนินคดีเมื่อเวลาประมาณ 17:30 น. ของวันที่ 9 ธันวามคม 2558 โดยถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในฐานความผิด “นำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ” ตามมาตรา 14 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ “ยุยุงปลุกปั่น” ตามมาตรา 116 และ “ดูหมิ่นกษัตริย์” ตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา จากการกระทำ 3 เหตุการณ์ ได้แก่ “1.กดไลก์รูปภาพในเฟซบุ๊กที่มีเนื้อหาเป็นการดูหมิ่นสถาบันฯ 2.คัดลอกและแชร์รูปภาพประชดเสียดสีสุนัขทรงเลี้ยงในเฟซบุ๊ก และ 3.คัดลอกและแชร์รูปภาพแผงผังเปิดโปงทุจริตอุทยานราชภักดิ์ ซึ่งเป็นการต่อต้านการทำงานของรัฐและปลุกปั่นยุยงให้เกิดความไม่สงบ”

โปรดสังเกตว่าเหตุการณ์ (1) (กดไลก์) และ (2) (สุนัขทรงเลี้ยง) นั้นเป็นเหตุการณ์ที่ปรากฏเพิ่มเติมหลังการจับกุม ตรวจค้นบ้านพัก ยึดคอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือของนายฐนกรไปตรวจสอบ ซึ่งทั้งในข่าวกรองของทหารที่พล.ต.วิจารณ์ จดแตง หัวหน้าส่วนปฏิบัติการคณะทำงานด้านกฎหมาย คสช. กล่าวถึง และในการให้สัมภาษณ์เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 9 ธันวาคม ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็กล่าวถึงเฉพาะเหตุการณ์ (3) (แผนผังทุจริต) เท่านั้น ส่วนด้าน พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก็ให้สัมภาษณ์กับสื่อในช่วงประมาณก่อนบ่ายสามโมงของวันเดียวกัน ว่าทหารกำลังสอบสวนอยู่ และกล่าวถึงเฉพาะการกระทำที่เข้าข่ายความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ สำหรับข้อหาอื่นพล.ต.อ.ศรีวราห์กล่าวว่ายังต้องรอการตรวจสอบหลักฐาน โดยไม่ได้พูดถึงความผิดตามมาตรา 112 และ 116 แต่อย่างใดเช่นกัน

หลังการจับกุมข้างต้น พล.ต.ต.ชยพล ฉัตรชัยเดช ผู้บังคับการกองแผนงานอาชญากรรม สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ หนึ่งในชุดสอบสวนคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กล่าวว่า “ตามกฎหมายนั้นผู้ใดที่กดถูกใจ หรือร่วมแสดงความคิดเห็นในเพจเฟซบุ๊กหรือในข้อความที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย ก็จะต้องมีความผิดร่วมไปด้วย” และประกาศเตรียมดำเนินคดีต่อผู้ดูแลกลุ่มและสมาชิกของกลุ่มเฟซบุ๊กที่นายฐนกรนำภาพไปเผยแพร่ โดยอยู่ระหว่างรวบรวมรายชื่อสมาชิกที่มีการกดไลก์และแชร์ข้อความหรือรูปภาพที่ “ไม่เหมาะสม” ซึ่งปรากฏต่อมาว่ามีการจับกุมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มเติมตลอดทั้งสองสัปดาห์ที่ผ่านมา

3.การคุกคามการตรวจสอบด้วยข้อหา “หมิ่นประมาท”
ไม่เพียงกรณีการจับกุมนายฐนกร และผู้ใช้อินเตอร์เน็ตอื่นๆ ในช่วงระยะเวลาสองสัปดาห์นี้เท่านั้น ในช่วงที่ผ่านมา ที่รัฐบาล กองทัพ และหน่วยงานของรัฐอื่นๆ พยายามใช้ข้อหา “หมิ่นประมาท” ไม่ว่าจะในรูปแบบการใช้กฎหมาย “หมิ่นประมาทบุคคล” “หมิ่นประมาทกษัตริย์” “ยั่วยุปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา หรือ “นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ” ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ก็ตาม มาคุกคามการนำเสนอข้อมูลเพื่อการตรวจสอบโดยสุจริต โดยปฏิเสธที่จะชี้แจงหรือแสดงหลักฐานว่าข้อมูลที่ถูกนำเสนอนั้นเป็นเท็จอย่างไร และมักเบี่ยงเบนประเด็นการตรวจสอบไปเป็นเรื่องอื่น ด้วยการกล่าวหาลอยๆ ว่า ผู้พยายามเสนอข้อมูลเพื่อการตรวจสอบดังกล่าว ทำไปโดยมีวาระทางการเมืองหรือมีขบวนการสนับสนุนเบื้องหลัง

เช่น เมื่อเดือนสิงหาคม 2557 กรมทหารพรานที่ 14 จ.ยะลา แจ้งความร้องทุกข์ข้อหาหมิ่นประมาทต่อ น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม จากกรณีที่มูลนิธิฯ ออกจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้มีการสอบสวนข้อกล่าวหาว่ามีการทำร้ายร่างกายผู้ถูกควบคุมตัวรายหนึ่ง โดยกล่าวหาว่า น.ส.พรเพ็ญ ทำให้ “กรมทหารพรานที่ 41 จังหวัดยะลา ได้รับความเสื่อมเสียชื่อเสียง” คดีนี้ต่อมาพนักงานอัยการจังหวัดยะลามีคำสั่งไม่ฟ้อง

หรือกรณีเมื่อเร็วๆ นี้ที่ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ หัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีทลายเครือข่ายค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา ให้สัมภาษณ์สื่อเกี่ยวกับการแทรกแซงการดำเนินคดีผู้ที่เกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ และการถูกข่มขู่คุกคาม จากกลุ่มผู้มีอิทธิพลเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ว่ากำลังปรึกษา พล.ต.อ.ศรีวราห์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อพิจารณาว่าการแสดงออกดังกล่าวเข้าข่ายหมิ่นประมาทหรือไม่

คดีสำคัญอีกคดีหนึ่งในเรื่องนี้ คือคดีที่กองทัพเรือเป็นโจทก์ยื่นฟ้องหมิ่นประมาทและความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ต่อ นายอลัน จอร์น มอริสัน และน.ส.ชุติมา สีดาเสถียร สองผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ออนไลน์ภูเก็ตหวาน จากการเสนอรายงานข่าวขบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งแม้ต่อมาหลังจากสู้คดีมาสองปี ศาลจังหวัดภูเก็ต มีคำพิพากษายกฟ้อง แต่ภูเก็ตหวานก็ตัดสินใจ จะปิดตัวลงในวันที่ 31 ธันวาคมที่จะถึงนี้ เนื่องจากบรรยากาศไม่สามารถนำเสนอข่าวได้อย่างรอบด้านและตรงไปตรงมาได้ ยังมีสังคมบางส่วนที่ไม่เข้าใจการทำงาน อีกทั้งถูกข่มขู่เป็นระยะ กรณีเช่นนี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความไม่มีอิสระในการทำงานของสื่อ บรรยากาศของความหวาดกลัว และการถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน

4.ความเห็นเครือข่ายพลเมืองเน็ต
การกระทำและความเห็นของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องเป็นปัญหาต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนหลายประการ อีกทั้งได้ตีความกฎหมายจนเกินตัวบท เครือข่ายพลเมืองเน็ตมีความเห็นดังนี้

4.1 การกดไลก์ไม่ใช่การเผยแพร่หรือสนับสนุน

เครือข่ายฯยืนยันจุดยืนเดิมตามแถลงการณ์ “คลิกไลก์ไม่ใช่อาชญากรรม” เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2554 และมีความเห็นเพิ่มเติมดังนี้
แม้การเผยแพร่เนื้อหาที่เข้าข่าย “ยั่วยุปลุกปั่น” ตามมาตรา 116 และ “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา อาจถูกศาลตัดสินให้เป็นความผิด แต่การแสดงออกถึงความรู้สึกต่อเนื้อหาดังกล่าว ไม่มีฐานความผิดตามกฎหมาย อีกทั้งไม่ถือเป็นการสนับสนุน เพราะการสนับสนุนต้องเกิดขึ้นก่อนหรือเกิดขึ้นขณะที่กระทำความผิด และผู้สนับสนุนต้องมีการกระทำบางอย่างในการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการกระ ทำความผิด ซึ่งการกดไลก์นั้นไม่เข้าเงื่อนไขใดเลย

นอกจากนี้การกดไลก์ก็ไม่ใช่การเผยแพร่เนื้อหาซ้ำ แม้จะมีโอกาสที่ระบบซอฟต์แวร์ของเว็บไซต์สื่อสังคมจะทำการเผยแพร่เนื้อหาที่ถูกกดไลก์ต่อไปโดยอัตโนมัติ แต่การกระทำดังกล่าวไม่ได้เป็นเจตนาของผู้กดไลก์ ผู้กดไลก์ไม่ได้มีอำนาจควบคุมใดๆ ในการทำงานของซอฟต์แวร์ดังกล่าว อีกทั้งจะสั่งให้ระงับการเผยแพร่ก็มิได้ มากไปกว่านั้น ผู้กดไลก์ไม่มีอำนาจควบคุมเนื้อหาของข้อความต้นทางที่ตนกดไลก์ ซึ่งสามารถถูกแก้ไขโดยผู้สร้างข้อความนั้นๆ ได้ทุกเมื่อ ทำให้ข้อความที่แสดงให้เห็น ณ เวลาหนึ่ง อาจแตกต่างไปจากเวลาที่ผู้ใช้กดไลก์

4.2 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 ไม่ใช่เรื่อง “หมิ่นประมาท”
ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา มาตรา 14 (1) ของ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งระบุให้การ “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน” เป็นความผิด ถูกนำไปใช้ในการฟ้องหมิ่นประมาทจำนวนมาก ทั้งที่เจตนารมณ์ของมาตรานี้ เขียนขึ้นเพื่ออุดช่องว่างที่ความผิดฐานปลอมแปลงเอกสารในประมวลกฎหมายอาญา ยังไม่รวมการปลอมแปลงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์

“ข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม” และ “ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ” ในมาตราดังกล่าวตามเจตนารมณ์ของผู้ร่างกฎหมาย จึงหมายถึงข้อมูลอย่างอีเมลปลอมหรือเว็บไซต์แอบอ้าง อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ตีความมาตรานี้ในทางที่ครอบคลุมการหมิ่นประมาทด้วย ส่งผลให้มาตรา 14 (1) นี้ถูกใช้ในทางที่ผิดเพื่อฟ้องร้องด้านเนื้อหา โดยจุดอ่อนสำคัญก็คือมาตราดังกล่าวมิได้ยกเว้นกรณีที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต หรือทำไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งเป็นข้อยกเว้นโทษฐานหมิ่นประมาทในกฎหมายอาญา

คดีที่กองทัพเรือเป็นโจทก์ยื่นฟ้องหมิ่นประมาทและความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ต่อหนังสือพิมพ์ออนไลน์ภูเก็ตหวาน ถือเป็นคดีสำคัญที่ศาลพิจารณาตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย โดยศาลระบุว่า “เจตนารมณ์ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ไม่ได้มุ่งเอาผิดกับความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ที่ได้บัญญัติไว้แล้วในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328”

เครือข่ายพลเมืองเน็ตเรียกร้องให้ระงับการใช้มาตรา 14 ของ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ในการฟ้องร้องที่เกี่ยวกับเนื้อหาการแสดงออกในทุกกรณี

อินเตอร์เน็ตเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ทางสังคมที่เราทุกคนอยู่ร่วมกัน ทั้งภาครัฐ ผู้ให้บริการ และพลเมืองเน็ตจะต้องมีบทบาทร่วมกันในการรักษาพื้นที่นี้เพื่อประโยชน์สาธารณะ บนพื้นฐานของการรักษาสิทธิพลเมืองและปกป้องสิทธิมนุษยชน

ทั้งนี้ยังย้ำด้วยว่า การกดไลค์ไม่ใช่การเผยแพร่หรือสนับสนุน และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 ไม่ใช่เรื่องหมิ่นประมาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง