กนช.อนุมัติผันน้ำ 2 โครงการ ตั้งเป้าเพิ่มน้ำพื้นที่ชลประทาน-เขื่อน

สิ่งแวดล้อม
12 ม.ค. 59
10:52
226
Logo Thai PBS
กนช.อนุมัติผันน้ำ 2 โครงการ ตั้งเป้าเพิ่มน้ำพื้นที่ชลประทาน-เขื่อน
คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) สั่งศึกษาโครงการผันน้ำ 2 โครงการ วงเงินรวม 64,000 ล้านบาท โดยตั้งเป้าให้สามารถเพิ่มน้ำในเขื่อนภูมิพลให้ได้ปีละ 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนสถานการณ์น้ำในขณะนี้ 4 เขื่อนหลักยังมีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคและบริโภค

นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) อนุมัติให้กรมทรัพยากรน้ำและกรมชลประทานเตรียมความพร้อมรับมือกับปัญหาภัยแล้งระยะยาว 2 โครงการ ได้แก่ โครงการผันน้ำจากลำน้ำยวงสาขาของแม่น้ำสาละวินไปยังเขื่อนภูมิพล เพื่อเติมน้ำในเขื่อนภูมิพลที่มีช่องว่างประมาณปีละ 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตร จากที่เขื่อนมีศักยภาพรับน้ำเพิ่มได้อีกประมาณปีละ 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตร

สำหรับโครงการนี้คาดว่าต้องใช้งบประมาณ 50,000 ล้านบาท โดยการดำเนินการในโครงการนี้จะต้องผ่านขั้นตอนทำการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ประมาณ 1 ปีก่อนจะเริ่มการก่อสร้างได้

ส่วนโครงการที่ 2 คือโครงการผันน้ำจากห้วยหลวง จ.หนองคาย ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่เชื่อมต่อจากแม่น้ำโขง เพื่อให้สามารถเพิ่มน้ำในพื้นที่ชลประทานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีอยู่ประมาณ 300,000 ไร่ โดยปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นจะสามารถส่งต่อน้ำไปใช้ในแหล่งเก็บน้ำอื่นๆในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ส่วนสถานการณ์น้ำในปัจจุบันพบว่าจาก 925 อำเภอทั่วประเทศ มีอำเภอที่อาจจะต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้งตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2559 จำนวน 548 อำเภอ หรือประมาณร้อยละ 59

 

สำหรับในพื้นที่ กทม.มีการใช้น้ำประมาณวันละ 6 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยใช้น้ำจากลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 ล้านลูกบาศก์เมตรและลุ่มน้ำแม่กลอง 2 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งแม้จะมีปริมาณน้ำเพียงพอในการรับมือกับช่วงภัยแล้ง แต่เนื่องจากมีแนวโน้มว่าปริมาณฝนจะตกน้อยลงเรื่อยๆจนถึงเดือนพฤษภาคม 2559 จึงต้องขอความร่วมมือประชาชนให้ประหยัดน้ำ โดยเฉพาะภาคครัวเรือนที่มีการใช้น้ำในสัดส่วนสูงที่สุดของ กทม.และปริมณฑล คือร้อยละ 49 ภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 32 และราชการใช้น้ำร้อยละ 19

 

นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปริมาณการกักเก็บน้ำล่าสุดในเขื่อนหลักทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำคงเหลือ 3,726 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำที่เหลืออยู่ต้องใช้เพื่อการอุปโภค บริโภคและรักษาระบบนิเวศน์ ป้องกันการรุกล้ำของน้ำเค็ม ส่วนการทำเกษตรยังคงแนะนำให้งดการเพาะปลูก โดยเฉพาะพืชที่ใช้น้ำมาก เช่น ข้าว ส่วนกิจกรรมที่จะต้องขอความร่วมมือให้เกษตรกรชะลอออกไปคือ การเพาะเลี้ยงกุ้งและปลา โดยเฉพาะในพื้นที่แม่น้ำและลำคลองธรรมชาติ เนื่องจากการระบายน้ำออกจากเขื่อนที่ลดลงอาจทำให้การเลี้ยงกุ้งและปลาในกระชังได้รับผลกระทบ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง