อาจารย์ มธ.เสนอแก้ไขกฎกระทรวงรับมือแผ่นดินไหว
รศ.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ประธานอนุกรรมการสาขาผลกระทบต่อแผ่นดินไหว และแรงลม วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ วสท. แสดงความเป็นห่วง รอยต่อแผ่นเปลือกโลกบริเวณตอนเหนือของหมู่เกาะอันดามัน ในมหาสมุทรอินเดีย จนถึงประเทศพม่าซึ่งเป็นรอยเลื่อนที่มีการสะสมพลังงาน และยังไม่เคยเกิดการไถลตัว ในอนาคตอาจเกิดแผ่นดินไหวขนาด 8 - 9 ริกเตอร์ได้ ส่งผลให้เกิดคลื่นสึนามิ ทำให้ 6 จังหวัดอันดามันของไทยได้รับผลกระทบโดยตรงภายใน 2 ชั่วโมง พร้อมกันนี้ ต้องเฝ้าระวังรอยเลื่อนในภาคเหนือ และภาคตะวันตก เนื่องจากเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6 ริกเตอร์ขึ้นไปได้
รศ.อมร พิมานมาศ อาจารย์จากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอให้ปรับปรุงกฎกระทรวงมหาดไทย "กำหนดการรับน้ำหนักความต้านทาน ความคงทนของอาคารและพื้นที่ดิน ที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว ปี2550" ใน 4 ประเด็นหลัก โดยให้ขยายควบคุมอาคารที่ก่อสร้างใหม่ที่ต่ำกว่า 15 เมตร จะต้องออกแบบโครงสร้างรองรับแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว ประกาศเพิ่มพื้นที่ดินอ่อนจากเดิม 5 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ให้ครอบคลุม 14 จังหวัด ซึ่งมีชั้นดินอ่อนเช่นกัน รวมทั้งให้เพิ่มพื้นที่เฝ้าระวังพื้นที่แผ่นดินไหวในจังหวัดภาคอีสานเหนือ คือ จังหวัดสกลนคร อุดรธานี และหนองคาย และสุดท้ายเสนอให้ควบคุมการออกแบบโครงสร้างในระบบอุตสาหกรรม เช่น การออกแบบถังบรรจุสารคเมี ต้องสามารถรองรับการเกิดแผ่นดินไหวได้
รศ.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยภัยธรรมชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนกกับการรายงานแผ่นดินไหวขนาด 2 - 3 ริกเตอร์ ที่จังหวัดภูเก็ต เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นปกติ และไม่มีอันตราย ความแรงสั่นขนาดนี้เทียบได้เท่ากับแรงสั่นสะเทือนเมื่อรถบรรทุกวิ่งผ่าน แต่ถ้าเกิดแผ่นดินไหวขนาด 4 - 5 ริกเตอร์ขึ้นไป หน่วยงานที่รับผิดชอบควรมีคำเตือนออกมา เพราะเป็นระดับที่ทำให้บ้านเริ่มร้าว และถ้วยชามเริ่มแตกได้
ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและผู้อำนวยโรงพยาบาล 22 จังหวัด ที่อยู่ในพื้นเสี่ยงแผ่นดินไหวเตรียมความพร้อมฝ้าระวังเหตุ โดยเฉพาะ 7 จังหวัดภาคใต้ เพราะขณะนี้ยังเกิดเหตุอาฟเตอร์ช็อคเป็นระยะ เบื้องต้นสั่งการให้นำรถพยาบาลฉุกเฉิน 6 ล้อ จำนวน 3 คัน ไปเตรียมพร้อมให้บริการในจังหวัดภูเก็ต พร้อมทั้งจัดหาพื้นที่ปลอดภัยจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม กรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน นอกจากนี้ ยังสั่งการให้โรงพยาบาลป่าตองเร่งประเมินความเสียหายโครงสร้างอาคารผู้ป่วย ภายใน 3 วัน เพื่อดำเนินการซ่อมแซม หรือ หากซ่อมแซมไม่ได้ ก็ต้องอพยพผู้ป่วยออกจากตัวอาคาร
แท็กที่เกี่ยวข้อง: