ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เดิมพันแรก! บททดสอบ "ลอว์เรนซ์ หว่อง" สิงคโปร์เลือกตั้ง 3 พ.ค.

ต่างประเทศ
2 พ.ค. 68
20:00
142
Logo Thai PBS
 เดิมพันแรก! บททดสอบ "ลอว์เรนซ์ หว่อง" สิงคโปร์เลือกตั้ง 3 พ.ค.
3 พ.ค. ชาวสิงคโปร์กว่า 2.7 ล้านคน จะเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ถือเป็นบททดสอบสำคัญของ "ลอว์เรนซ์ หว่อง" ผู้นำรุ่นที่ 4 ว่าจะเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชนได้มากน้อยแค่ไหน

ความสำคัญของการเลือกตั้งในสิงคโปร์ครั้งนี้ ไม่ได้อยู่ที่ว่าใครจะชนะ แต่อยู่ที่ ผู้ชนะจะเสียที่นั่งเพิ่มจากเดิมอีกหรือไม่ หากประเมินจากการเลือกตั้ง 5 ครั้งหลังสุด พรรครัฐบาลสูญเสียที่นั่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ในรอบนี้ ผู้นำสิงคโปร์ ออกมาร้องขอคะแนนเสียงจากประชาชนผ่านหลายเวที

การเลือกตั้งทั่วไปในวันเสาร์นี้ (3 พ.ค.2568) ถือเป็นสนามเลือกตั้งแรกที่จะมาวัดฝีมือของ "ลอว์เรนซ์ หว่อง" ในฐานะผู้นำพรรค PAP พรรครัฐบาลตลอดกาลของสิงคโปร์ หลังรับไม้ต่อมาจาก "ลี เซียน ลุง" เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งผู้นำรุ่นที่ 4 ของสิงคโปร์คนนี้ เดินสายหาเสียงเลือกตั้งในเวลาแค่ 9 วัน ไปมาแล้วถึง 20 จุด

ผู้นำสิงคโปร์ เลือกลงพื้นที่หาเสียงช่วงโค้งสุดท้ายภายในอาคารการเคหะ เมื่อไม่กี่วันก่อน ซึ่งมีกลุ่มผู้สนับสนุนจำนวนมากรอต้อนรับ โดยประเด็นเรื่องที่พักอาศัยที่ประชาชนเข้าถึงได้ ถือเป็น 1 ในปัจจัยสำคัญที่จะชี้ขาดผลการเลือกตั้งทั่วไปในครั้งนี้

ทั้งนี้ ในวันพรุ่งนี้ ชาวสิงคโปร์กว่า 2,700,000 คน จากทั้งหมด 6,000,000 คน จะเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยมีผู้สมัครรับเลือกตั้ง 211 คน ช่วงชิงเก้าอี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 97 ที่นั่ง ใน 33 เขต

แต่จุดที่น่าสนใจ คือ ถึงแม้จะมีพรรคการเมืองลงชิงชัยมากถึง 11 พรรค แต่ PAP ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล กลับเป็นเพียงพรรคเดียวที่มีผู้สมัครลงแข่งขันชิงเก้าอี้ในทั้ง 97 ที่นั่ง และผู้สมัครจากพรรคนี้มีสัดส่วนคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของทั้งหมด ขณะที่พรรคอันดับ 2 อย่าง พรรค Workers' Party หรือ WP ลงแย่งเก้าอี้ สส. แค่ 26 ที่นั่งเท่านั้น

บริษัทวิจัย YouGov ของอังกฤษ จัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นชาวสิงคโปร์เกือบ 2,000 คน เมื่อปลายเดือน มี.ค. โดยให้ระบุถึง 3 ประเด็นที่คิดว่าสำคัญที่สุด และพบว่า ค่าครองชีพมีคะแนนนำโด่งที่ร้อยละ 72 ตามมาห่าง ๆ ด้วยประเด็นข้อกังวลเรื่องการประกันสุขภาพและประชากรสูงวัย หลังจากมีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2573 สิงคโปร์จะมีผู้สูงอายุคิดเป็น 1 ใน 4 ของทั้งประเทศ

ส่วนการจัดหาที่พักที่ประชาชนต้องเป็นเจ้าของได้และเข้าถึงได้ ถือเป็นข้อกังวลอันดับที่ 3 โดยรัฐบาลตระหนักดีถึงปัญหานี้ จึงซื้อใจชาวสิงคโปร์ด้วยการประกาศสร้างแฟลตการเคหะเพิ่มอีกมากกว่า 50,000 แห่ง ในช่วง 3 ปี นับจากนี้ ขณะที่ 1 ใน 5 ของผู้ตอบแบบสำรวจ กังวลเรื่องการเจริญเติบโตและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ หลังจากมาตรการกำแพงภาษีของสหรัฐฯ ส่งผลกระทบไปทั่วโลก โดยเฉพาะกับสิงคโปร์ที่พึ่งพิงการค้าเป็นหลัก

กลุ่มผู้สนับสนุนพรรค WP ต่างโบกลูกโป่งรูปค้อนสีเหลือง สัญลักษณ์ของพรรค ท่ามกลางบรรยากาศคึกคัก ในการหาเสียงครั้งสุดท้ายเมื่อวานนี้ ซึ่งเวทีนี้เป็นเวทีใหญ่ครั้งแรกของพรรค WP ในรอบ 10 ปี หลังจากการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อปี 2563 จัดขึ้นในช่วงวิกฤตโควิด-19

โดยแกนนำพรรคฝ่ายค้านออกมาเรียกร้องให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนด้วยความหวัง ไม่ใช่ความหวาดกลัว เพื่อเป็นการตอบโต้ผู้นำสิงคโปร์ ซึ่งเตือนว่า การลงคะแนนเลือกผู้สมัครจากพรรคฝ่ายค้านเข้ามาทำหน้าที่ในสภา จะทำให้รัฐบาลอ่อนแอ และเรียกร้องให้ชาวสิงคโปร์เลือกผู้สมัครที่มีประสบการณ์ มีทักษะ รวมทั้งได้รับความไว้วางใจและมีความสัมพันธ์อันดีกับทั้งสหรัฐฯ และจีน เพื่อช่วยพาประเทศก้าวผ่านวิกฤต

สำหรับการเมืองสิงคโปร์แล้ว แม้ว่าพรรคฝ่ายค้านจะมีเสียงสนับสนุนที่เพิ่มมากขึ้น แต่นั่นก็อาจจะไม่ได้สะท้อนถึงเสียงในสภาที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดไปด้วยในตัว เนื่องจากระบบการเลือกตั้งไม่ได้เอื้อให้กับพรรคอื่น ๆ นอกจากพรรครัฐบาล ขณะที่ท่าทีของผู้นำสิงคโปร์เองก็ชี้ให้เห็นถึงความกังวลของพรรค PAP ได้อย่างชัดเจน

ถ้ามองย้อนไปในการเลือกตั้งทั่วไป 5 ครั้งหลังสุด จะเห็นว่า พรรครัฐบาลสูญเสียที่นั่งในสภาให้กับพรรคฝ่ายค้านเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะเมื่อปี 2563 ที่พรรคฝ่ายค้านหลักทำสถิติคว้ามาได้มากถึง 10 ที่นั่ง และปัจจุบัน ชาวสิงคโปร์เริ่มมองหาทางเลือกใหม่ ๆ ทางการเมือง โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งพรรค WP ตั้งเป้าหมายระยะยาวอยู่ที่การครองเก้าอี้ให้ได้ 1 ใน 3 ของทั้งสภา

ขณะที่ตัวชี้วัดที่ชัดเจนอีกอย่างหนึ่งถึงมนต์ขลังของพรรค PAP ก็คือ คะแนน popular vote ซึ่งในการเลือกตั้ง 4 ครั้งหลังสุด จะเห็นว่า PAP ได้คะแนนไม่ถึงร้อยละ 70 โดยเฉพาะการเลือกตั้งในปี 2554 ซึ่งได้รับ popular vote ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ได้รับเอกราชเมื่อปี 2508

ผลสำรวจความคิดเห็นหลายสำนักชี้ตรงกันว่า พรรครัฐบาลน่าจะยังคว้าชัยในศึกเลือกตั้งครั้งนี้ไปได้แบบสบาย ๆ เช่นเคย แต่คะแนน popular vote อาจจะอยู่ที่หลักมากกว่าร้อยละ 60

จุดนี้สอดคล้องกับนักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งที่ประเมินว่า ลอว์เรนซ์ หว่อง และพรรครัฐบาล น่าจะได้รับคะแนนอยู่ที่ราว ๆ ร้อยละ 60-65 แต่ถ้าต่ำลงมามากกว่านี้ อาจตีความได้ว่า ความเชื่อมั่นของชาวสิงคโปร์ต่อรัฐบาลหนึ่งเดียวของประเทศ กำลังสั่นคลอนลงอย่างหนักหรือไม่

จุดแข็งที่ทำให้ PAP เรืองอำนาจมาตลอดช่วงกว่า 60 ปีที่ผ่านมา หนีไม่พ้น เรื่องธรรมาภิบาลและการเมืองที่มีเสถียรภาพ อันนำมาสู่การค้าการลงทุนและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ แต่มนต์ขลังที่ว่านี้กำลังเสื่อมถอยไป พร้อม ๆ กับการเมืองแบบผูกขาดที่กำลังตกยุคลงไปเรื่อย ๆ หรือไม่ พรุ่งนี้น่าจะได้รู้กันว่า ผลการเลือกตั้งจะสะท้อนเสียงชาวสิงคโปร์ออกมาอย่างไร

วิเคราะห์โดย : ทิพย์ตะวัน ธีรนัยพงศ์

อ่านข่าวอื่น : 

สธ.ชื่นชม นพ.นนชยา สกัดแอนแทรกซ์ทัน หยุดเชื้อเนื้อดิบระบาด

"อช.พีพี" ชี้แจง กรณีคราบเขม่าทะเลเกาะปอดะ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง