การเรียนผังเมืองโบราณฯ กับการวางผังเมืองเพื่ออนาคต
เวลาปกติเป็นเส้นทางคมนาคม แต่ยามน้ำหลากคลองสาขาย่อยกว่าร้อยสายจะเปลี่ยนเป็นทางระบายน้ำ เป็นความพิเศษของผังเมืองอยุธยา ที่ รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม ยกเป็นตัวอย่างในวิชาการศึกษาผังเมืองโบราณในประเทศไทย และเอเชียอาคเนย์ ให้นิสิตสถาปัตยกรรมศาสตร์ การวางแผนภาคและเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำความเข้าใจกับแนวคิดผังเมืองในอดีต ที่ให้ความสำคัญกับวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ เปรียบเทียบกับการวางผังเมืองปัจจุบัน
นอกจากการเรียนทฤษฎี 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ การลงพื้นที่ย่านเก่าที่ประสบปัญหาการเปลี่ยนแปลงจากโครงการพัฒนาต่างๆ ยังทำให้ว่าที่นักวางผังเมือง เรียนรู้การออกแบบผังเมืองให้สอดคล้องกับวิถีของผู้คน วิชาการสมัยใหม่แม้เป็นส่วนสำคัญที่ตอบโจทก์การพัฒนาพื้นที่อยู่อาศัย หากการเรียนรู้อดีต จะทำให้บุคลากรด้านผังเมืองรุ่นใหม่เข้าใจสภาพภูมิศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรมดั้งเดิม ซึ่งสามารถปรับใช้ในการอยู่อาศัยอย่างยั่งยืนในอนาคต
วิชาการวางผังเมืองเริ่มสอนในประเทศไทยเกือบ 40 ปี ที่ผ่านมาให้ความสำคัญกับความรู้เรื่องผังเมืองโบราณฯ ในฐานะวิชาเลือกที่ช่วยเสริมทักษะวิชาชีพ หากในปัจจุบันเริ่มมีการประยุกต์วิชานี้ในลักษณะบูรณาการ เช่น การแลกเปลี่ยนความรู้จากผู้เชี่ยวชาญด้านมานุษยวิทยา และโบราณคดี รวมถึงมีการลงพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกแบบผังเมืองให้เข้ากับวิถีชุมชน ถือเป็นอีกหนึ่งความหวังในการพัฒนาระบบผังเมืองอย่างยั่งยืนในอนาคต
แท็กที่เกี่ยวข้อง: