กล้องฯ SOHO พบ “ดาวหาง” ดวงที่ 5,000


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

19 เม.ย. 67

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
กล้องฯ SOHO พบ “ดาวหาง” ดวงที่ 5,000

ท่ามกลางแสงแดดที่แผดเผาจากดวงอาทิตย์อันเร่าร้อน ขณะทุกคนกำลังมองหาร่มเพื่อหลบแดดอยู่นั้น ทราบหรือไม่ว่า บนท้องฟ้ายังมีผู้ที่ยืนหยัดท้าทายสุริยเทพอยู่ เขามีนามว่า “SOHO” กล้องโทรทรรศน์อวกาศสำหรับสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์

NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เปิดเผยว่า กล้องโทรทรรศน์อวกาศ SOHO หรือ Solar and Heliospheric Observatory เป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศเพื่อสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์โดยเฉพาะ ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 1995 จากความร่วมมือกันระหว่างองค์การอวกาศยุโรป (ESA) และองค์การนาซา (NASA) ของประเทศสหรัฐอเมริกา มีวงโคจรอยู่ระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ ณ จุดลากรานจ์ (Lagrange) L1 ห่างจากโลก 1.5 ล้านกิโลเมตร

และเมื่อไม่นานมานี้กล้อง SOHO ได้ตรวจพบวัตถุที่เป็นก้อนน้ำแข็งเล็ก ๆ กำลังโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ คาดว่าเป็นดาวหางคาบสั้น ที่มีคาบการโคจรประมาณ 5.3 ปี นับเป็นดาวหางดวงที่ 5,000 พอดี จากที่เคยได้ค้นพบดาวหางมาทั้งหมด

SOHO มีอุปกรณ์ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อป้องกันแสงสว่างจากบริเวณใจกลางดวงอาทิตย์ และเหลือพื้นที่บริเวณขอบไว้สำหรับศึกษาชั้นบรรยากาศโคโรนาอันเบาบางและสังเกตได้ยาก รวมไปถึงสังเกตลักษณะการเกิดลมสุริยะด้วย จากความสามารถนี้ทำให้ SOHO สามารถสังเกตวัตถุอื่น ๆ ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงดวงอาทิตย์ได้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะดาวหางที่กำลัง “slingshot” หรือกำลังเฉียดเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ก่อนที่จะถูกเหวี่ยงตัวออกมา ถือเป็นช่วงที่ดาวหางเคลื่อนที่เข้าไปใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด นักดาราศาสตร์เรียกดาวหางช่วงนี้ว่า “sungrazer” หรือ “ผู้สำรวจดวงอาทิตย์”

ดาวหางที่ค้นพบครั้งนี้เป็นก้อนน้ำแข็งเล็ก ๆ ถูกพบเมื่อวันจันทร์ที่ 25 มีนาคม ค.ศ. 2023 ขณะโคจรผ่านเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์ คาดการณ์กันว่าน่าจะเป็นชิ้นส่วนที่แตกออกมาจากดาวหาง 96P/Machholz ซึ่งเป็นดาวหางขนาดประมาณ 6 กิโลเมตร มีคาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์ 5.3 ปี โดยล่าสุดได้โคจรเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์เมื่อเดือนมกราคม ปี ค.ศ. 2023 และด้วยวงโคจรที่เฉียดเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มาก อาจทำให้ดาวหางแตกตัวออกมา กลายเป็นดาวหางรุ่นลูกหรือไม่ก็รุ่นหลานที่มีขนาดเล็กและยังคงโคจรรอบดวงอาทิตย์ต่อไป

การค้นพบดาวหางดวงที่ 5,000 ของ SOHO เป็นฝีมือของ Hanjie Tan นักศึกษาปริญญาเอกด้านดาราศาสตร์จากกรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก ซึ่งเขาได้เข้าร่วมโครงการ Sungrazer Project เพื่อตามหาร่องรอยของดาวหางกับทาง NASA มาตั้งแต่ขณะเขาอายุได้ 13 ปี ครั้งนี้เขาได้ศึกษาเส้นทางโคจรของดาวหาง 96P/Machholz ที่เฉียดเข้าใกล้ดวงอาทิตย์เมื่อปี ค.ศ. 2023 แล้วค้นพบร่องรอยของฝุ่นขนาดใหญ่ที่ทอดยาวไปทางด้านหน้าและด้านหลังตามแนววงโคจรและค้นพบดาวหางดวงใหม่ในที่สุด จากข้อมูลบ่งชี้ว่าดาวหาง 96P/Machholz ยังคงปล่อยชิ้นส่วนของตัวเองออกมาเรื่อย ๆ จนกลายเป็นดาวหางดวงใหม่ต่อไปอีกมากมาย

ข้อมูลการค้นพบดาวหางทั้งหมด 5,000 ดวงของ SOHO นี้ ไม่ได้เป็นเพียงสถิติเชิงตัวเลขหรือข้อพิสูจน์การค้นพบดาวหางของนักดาราศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นชุดข้อมูลที่มีค่าที่นักดาราศาสตร์สามารถนำไปศึกษาเพิ่มเติมเพื่อค้นหาแนวโน้มวงโคจรของดาวหางดวงอื่น รวมถึงคุณสมบัติต่าง ๆ ของวัตถุที่อยู่ในบริเวณนี้ต่อไป

นอกจากนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่าสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์ส่งผลต่อรูปร่างและลักษณะหางของดาวหางโดยตรง นั่นหมายความว่าการศึกษาดาวหางที่เฉียดเข้าใกล้ดวงอาทิตย์เช่นนี้ จะสามารถช่วยให้นักดาราศาสตร์ศึกษาสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์ที่มองไม่เห็นและสังเกตอิทธิพลของมันผ่านการศึกษาจากดาวหางเหล่านี้ได้


🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : space, nasa, อดิศักดิ์ สุขวิสุทธิ์ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 
 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

กล้องฯ SOHOSOHOSolar and Heliospheric Observatoryกล้องโทรทรรศน์ดวงอาทิตย์อวกาศThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Space - Astronomy
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover : (เซบา บาสตี้)

บทความ NOW แนะนำ