“ปลาหมอสีคางดำ” หรือ “ปลาหมอคางดำ” เคสล่าสุดที่แสดงให้เห็นถึงความน่ากลัวของ “เอเลียนสปีชีส์” (Alien Species) ว่าส่งผลต่อระบบนิเวศอย่างร้ายแรง เพื่อย้ำเตือนให้ผู้คนเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ Thai PBS และ Thai PBS Sci & Tech จึงนำขอผลกระทบและภัยคุกคามจาก “เอเลียนสปีชีส์” ที่อาจนำมาสู่การสูญพันธุ์ของสัตว์อื่นมาเป็นความรู้ เพื่อที่จะได้ร่วมมือกันแก้ปัญหา “Alien Species” อย่างจริงจัง
รู้จัก “เอเลียนสปีชีส์” (Alien Species)
“เอเลียนสปีชีส์” (Alien Species) ถือเป็นสาเหตุอันดับ 1 ที่ทำให้เกิดความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศ จากกรณีพบนกยูงอินเดียในป่าห้วยขาแข้งหรือแม้แต่การระบาดของอีกัวนาเขียวในจังหวัดลพบุรีที่ผ่านมา สัตว์เหล่านี้ล้วนเป็นสัตว์ต่างถิ่นที่หากอยู่รอดในระบบนิเวศนั้น ๆ ได้ จะกลายเป็นการรุกรานที่ส่งผลกระทบวงกว้างต่อระบบนิเวศ
“เอเลียนสปีชีส์” (Alien Species) คือ สิ่งมีชีวิตต่างถิ่น ที่ไม่ได้มีต้นกำเนิด ชนิดพันธุ์อยู่ในประเทศไทย อาจนำเข้ามาด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ไม่ว่าจะเพื่อการเกษตร การเพาะเลี้ยง หรือเป็นสัตว์เลี้ยงในทางด้านเศรษฐกิจ แต่หาก “เอเลียนสปีชีส์” เหล่านี้อยู่ผิดที่ผิดทางย่อมส่งผลกระทบมากกว่าสร้างประโยชน์
📌อ่าน : ชวนรู้จัก “เอเลียน สปีชีส์” คืออะไร ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในไทยอย่างไร ?
“เอเลียนสปีชีส์” ผลกระทบและภัยคุกคาม
ปัจจุบันการแพร่ระบาดของ “เอเลียนสปีชีส์” (Alien Species) ส่วนใหญ่ เกิดจากการนำเข้ามาโดยมนุษย์ไม่ว่าจะเกิดจากความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจทั้งสิ้น สัตว์เหล่านี้ล้วนแต่เป็นจุดเริ่มต้นของภัยคุกคามความหลากหลายทางชีวภาพที่ทำให้ระบบนิเวศเกิดการเปลี่ยนแปลง เกิดการปนเปื้อนระหว่างพันธุกรรม และยังเป็นการนำโรคสู่สัตว์ป่า
ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อระบบนิเวศจาก “เอเลียนสปีชีส์” (Alien Species) ซึ่งเป็นการรบกวนระบบนิเวศทำให้โครงสร้างดั้งเดิมเกิดการเปลี่ยนแปลง กระทบต่อห่วงโซ่อาหารของสัตว์ผู้ล่า เช่น แย่งแหล่งอาหาร แย่งพื้นที่ขยายพันธุ์ เป็นต้น
นอกจากนั้นยังส่งผลกระทบต่อพันธุกรรมสัตว์ป่าในด้านความอยู่รอดของพันธุกรรมดั้งเดิม การปนเปื้อนจากพันธุกรรมแปลกปลอม หากมีการขยายพันธุ์เกิดขึ้นจะส่งผลให้คุณภาพของพันธุกรรมต่ำ เป็นยีนด้อย สุขภาพไม่แข็งแรง มีอายุสั้น ส่งผลให้พันธุกรรมดั้งเดิมค่อย ๆ หายไป หรือสูญพันธุ์ในที่สุด และยังเป็นการนำโรคสู่สัตว์ป่าในพื้นที่ที่มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่ หากมีพันธุกรรมแปลกปลอม ล้วนแต่เป็นปัจจัยเสี่ยงในการนำโรคจากสัตว์เลี้ยงสู่สัตว์ป่าทั้งสิ้น
การควบคุมพันธุกรรมแปลกปลอมหรือ “เอเลียนสปีชีส์ในระบบนิเวศ” จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อโครงสร้างของระบบนิเวศต่อพันธุกรรมดั้งเดิมในพื้นถิ่น และป้องกันการนำโรคสู่สัตว์ป่า เพื่อไม่ให้นำไปสู่การสูญพันธุ์
กรณี “ปลาหมอคางดำ” (ปลาหมอสีคางดำ) ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ควรรับมือแบบไหน
นณณ์ ผาณิตวงศ์ ผู้หลงใหลในสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศและปลาน้ำจืดไทย ผู้ก่อตั้ง siamensis.org กลุ่มสาธารณะที่แชร์ความรู้ ธรรมชาติวิทยา กล่าวว่า “ปลาหมอคางดำ” (ปลาหมอสีคางดำ) เป็นสัตว์ที่มีความพิเศษสามารถปรับตัวอาศัยอยู่ได้ทั้ง 3 น้ำ คือน้ำกร่อย ป่าชายเลน และน้ำเค็ม บริเวณที่กระแสน้ำไหลไม่แรง มีความยืดหยุ่นสูงกินทั้งพืช และสัตว์น้ำวัยอ่อน รวมถึงกุ้งตัวเล็ก ๆ แถมยังกระจายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วอีก นับว่าถ้าได้หลุดไปอยู่ในพื้นที่ไหนแล้วก็อยู่ได้สบาย
แต่เพราะความสามารถพิเศษนี้อาจจะทำให้สัตว์ท้องถิ่นเดิมไม่สามารถอยู่ได้ และยังสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศและสังคม กรมประมงฯ จึงออกประกาศห้ามเพาะสัตว์น้ำต่างถิ่น หรือเอเลียนสปีชีส์ 13 ชนิด เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 64 ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “ปลาหมอคางดำ” (ปลาหมอสีคางดำ)
อาจารย์นณณ์กล่าวว่า ทำไรไม่ได้แล้วกรณี “ปลาหมอคางดำ” (ปลาหมอสีคางดำ) ไม่สามารถห้ามการกระจายพันธุ์ของปลาได้อีกแล้วเพราะมันหลุดไปในระบบเปิด ทำได้แค่ผ่อนหนักเป็นเบา เช่น อาจจะทำแข่งขันตกปลาหรือเจอเป็นฝูงต้องล้อมจับมา มีการเอามาใช้ประโยชน์รับซื้อเป็นเรื่องราว แต่จะห้ามไม่ให้แพร่กระจายเป็นไปไม่ได้แล้ว
“การเก็บเอเลียนสปีชีส์ (Alien Species) ที่หลุดออกจากพื้นที่แล้วยากมาก มีตัวอย่างทำได้ไม่กี่ที่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่จำกัด พื้นที่ปิด เช่น หนูที่ไปแพร่พันธุ์บนเกาะแล้วก็ไปไล่กินไข่นก เขาก็ปล่อยยาเบื่อทั้งเกาะ แต่อย่างไทยไม่ได้ ปลาหมอคางดำ (ปลาหมอสีคางดำ) หลุดไปในระบบเปิดหมดปากอ่าวหมดแล้ว”
ปลาหมอคางดำ (ปลาหมอสีคางดำ) เป็นตัวที่โหดมากที่สุดที่เคยเห็นมา ไม่ใช่ว่าประเทศไม่มีปลากลุ่มชนิดนี้อยู่ เรามีปลานิล ตามเขตน้ำกร่อย มีปลาหมอเทศ ถ้าป่าชายเลนตอนในมีปลาหมอมายัน แต่ปลาหมอคางดำสามารถชนะปลาหมอเทศจนแถบจะสูญพันธุ์เลย แล้วก็กระจายพันธุ์เร็วมาก
“อย่างปลานิลก็มีอยู่ทั่วประเทศ และไม่ใช่ปลาที่ขยายพันธุ์จนครอบครองพื้นที่เต็มไปหมด คืออยู่ร่วมไปกับปลาท้องถิ่นได้ แต่หมอคางดำคืออยู่ตัวเดียวเต็มไปหมด ซึ่งไม่เคยเห็นเหมือนกัน”
ในระบบนิเวศที่สมบูรณ์เอเลียนสปีชีส์ (Alien Species) จะเข้าไปอยู่ได้ยากมาก ยกตัวอย่างป่าเขาใหญ่ที่สมบูรณ์หรือว่าแหล่งน้ำลำธารที่ดี ๆ จะไม่ค่อยมีเอเลียนสปีชีส์ เพราะว่าจะมีเจ้าถิ่นค่อยจัดการอยู่ แต่ปากแม่น้ำบ้านเราไม่ค่อยสมบูรณ์ ปลาถูกจับจนจำนวนลดลง ปลาที่เป็นผู้ล่าขนาดใหญ่ เช่น ปลากะพงขาว ปลากะพงแดง ซึ่งอาจะจะมาช่วยเราได้ถูกจับจนจะสูญพันธุ์ ดังนั้นพอมีกลุ่มปลาอย่างหมอคางดำที่กินทุกอย่าง ยืดหยุ่นมาก กินพืชก็ได้ สัตว์เล็ก สัตว์ใหญ่ หรือซากก็ดี แล้วอยู่ที่ไหนก็ได้และยังเพิ่มจำนวนเร็วอีก เพราะว่าไม่ได้มีข้อจำกัดในการกินอยู่ของมัน เด็ดตรงที่อยู่สามน้ำได้อีกเลยไปกันใหญ่เลย
“ส่วนตัวมองว่าธรรมชาติมันไม่ได้ชอบน้ำทะเลหรอก ชอบน้ำกร่อยมากกว่า ผมใส่หมุดไว้ที่พัทยาเจอที่โอเชียนมารีน่า ซึ่งมองดูมันก็ไม่ชอบเท่าไหร่ ดูเซ็ง ๆ แต่อยู่ก็ได้ ยกตัวอย่างน้ำเสียที่บางแสน กลายเป็นพื้นที่ว่างหมดละ ถ้าปลาท้องถิ่นกลับมาไม่ทันมีเอเลียนพวกนี้เต็มไปหมดก็ยากละ”
ยกตัวอย่าง “เอเลียนสปีชีส์” (Alien Species) สัตว์ท้องถิ่นมีการวิวัฒนาการการอยู่ร่วมกันมานาน เหมือนทีมกีฬาที่ฝึกกันมานาน ก็จะรู้ทางที่จะหลบหลีก เกิดบาลานซ์ แต่พอมีแปลก ๆ เข้ามาอย่างเอเลียนสปีชีส์เข้ามา ใส่เข้าไปในระบบนิเวศ ซึ่งมันไม่เคยมี ประเทศไทยยังโชคดีที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง เรามีความยืดหยุ่นในการรองรับ ในการโยนเอาสัตว์บางชนิดเข้าไปก็ไม่เดือดร้อนอะไร นานทีถึงจะมีแปลก ๆ แบบนี้มา
📌อ่าน : บทสนทนาว่าด้วยเรื่อง ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกรานและแนวทางการรับมือ กับ นณณ์ ผาณิตวงศ์
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า, นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน (หมอล็อต) นายสัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech