ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เหตุใด ? สายการบินจึงไม่อนุญาตให้โหลด “แบตเตอรี่” ใด ๆ ใต้เครื่อง


Logo Thai PBS
แชร์

เหตุใด ? สายการบินจึงไม่อนุญาตให้โหลด “แบตเตอรี่” ใด ๆ ใต้เครื่อง

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1509

เหตุใด ? สายการบินจึงไม่อนุญาตให้โหลด “แบตเตอรี่” ใด ๆ ใต้เครื่อง
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

สายการบินทุกสายการบินไม่อนุญาตให้โหลดหรือนำแบตเตอรี่ใด ๆ ก็ตามโหลดใต้ท้องเครื่อง เนื่องจากเหตุผลทางด้านความปลอดภัย ซึ่งระเบียบปฏิบัตินี้เป็นสิ่งที่เราได้ยินกันมาตลอด และก็ดูจะสมเหตุสมผลดีเนื่องจากแบตเตอรี่มีความเสี่ยงที่จะติดไฟหรือเกิดระเบิดขึ้นได้ และหากถูกโหลดใต้ท้องเครื่อง จะไม่มีใครสามารถควบคุมเพลิงได้ ในขณะที่หากนำขึ้นห้องโดยสาร หากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น เราสามารถควบคุมเพลิงได้เอง

อย่างไรก็ตาม ทราบหรือไม่ว่าเครื่องบินพาณิชย์ในสมัยนี้มีระบบควบคุมเพลิงใน “Cargo Compartment” หรือที่เก็บของใต้ท้องเครื่องแบบอัตโนมัติแล้ว แต่เหตุใดเราจึงยังไม่สามารถนำแบตเตอรี่เข้าใต้ท้องเครื่องได้เช่นเดิม

แบตเตอรี Li-ion ซึ่งใช้โดยคอมพิวเตอร์พกพาและอุปกรณ์อื่น ๆ อีกมากมาย

แบตเตอรี่นั้นมีหลายชนิดมาก แต่หนึ่งในชนิดที่มีความนิยมที่สุดก็คือลิเทียม-ไอออน (Lithium Ion หรือ Li-ion) ซึ่งปัจจุบันถูกใช้งานในผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์แทบทุกชิ้น เช่น โทรศัพท์มือถือ แบตเตอรี่สำรอง หรือคอมพิวเตอร์พกพา โดยที่ความนิยมของแบตเตอรี่ Li-ion นั้นมาจากต้นทุนที่ต่ำและความหนาแน่นของพลังงาน (Energy Density) ที่สูง จึงทำให้เราสามารถมีแบตเตอรี่ที่ใช้งานได้นานและราคาถูก

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในข้อเสียของแบตเตอรี่ Li-ion คือ ความไวไฟ แบตเตอรี่ Li-ion นั้นหากถูกเจาะจะสามารถเกิดเปลวไฟขึ้นได้อย่างง่ายดาย หรือหากเกิดไฟฟ้าลัดวงจรก็อาจเกิดเปลวไฟได้เช่นกัน

ระบบถังควบคุมเพลิงโดยแก๊ส Halon ซึ่งใช้กันในเครื่องบินพาณิชย์

ระบบควบคุมเพลิงบนเครื่องบินใต้ท้องเครื่องนั้นเป็นระบบการควบคุมเพลิงด้วยระบบแก๊สดับไฟ อย่างไรก็ตาม การเกิดไฟไหม้ของแบตเตอรี่ “Li-ion” นั้นรุนแรงและดับได้ยาก เนื่องจากปฏิกิริยาทางเคมีของสารเคมีในแบตเตอรี่เมื่อเกิดเพลิงไหม้ ทำให้ไฟไหม้จากแบตเตอรี่ Li-ion นั้นจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนกว่าสารเคมีในแบตเตอรี่จะทำปฏิกิริยาจนหมด

ระบบควบคุมเพลิงใต้ท้องเครื่องบินนั้นถูกออกแบบมาให้ดับไฟที่ “ดับแล้วดับเลย” เช่นไฟไหม้กระเป๋าเดินทางทั่วไป ไม่ใช่ไฟไหม้จากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ซึ่งดับแล้วก็ติดใหม่ได้

แผนที่การบินของ UPS Airline เที่ยวบินที่ 6 ซึ่งตกหลังจากเกิดไฟไหม้ขึ้นจากแบตเตอรี่

ด้วยเหตุนี้ สายการบินทุกสายการบินจึงห้ามโหลดแบตเตอรี่ชนิดใด ๆ ก็ตาม โดยตีเสียว่าแบตเตอรี่ทุกชนิดเป็นแบตเตอรี่ Li-ion ที่มีความไวไฟสูง เพื่อป้องกันการเกิดไฟไหม้ขึ้นบนเครื่องบิน

ความอันตรายของไฟไหม้ใต้ท้องเครื่องบินนั้นไม่ใช่ผู้โดยสารโดยตรงแต่เป็นระบบไฟฟ้าและสายไฟต่าง ๆ ใต้ท้องเครื่องบินที่สำคัญ เช่น ระบบควบคุมเครื่องบิน (Flight Control) ที่อาจเสียหายได้จากไฟ และอาจเป็นเหตุให้นักบินเสียการควบคุมของเครื่องบินได้ นอกจากนี้ ควันจากไฟไหม้อาจรั่วเข้ามาในห้องโดยสารรวมถึงห้องนักบินได้ ทำให้นักบินไม่สามารถมองเห็นได้

กรณีตัวอย่างก็คือเที่ยวบินขนส่งสินค้า UPS เที่ยวบินที่ 6 ซึ่งเกิดไฟไหม้ในห้องเก็บของใต้เครื่องจนระบบควบคุมของเครื่องบินเสียหายและนักบินถูกควันไฟบังจนไม่สามารถควบคุมเครื่องบินได้ และเครื่องบินก็ตกในที่สุด เหตุการณ์ไฟไหม้ในเที่ยวบินดังกล่าวเกิดจากการติดไฟเองของหนึ่งในแบตเตอรี่ Li-ion จากแบตเตอรี่ทั้งหมด 81,000 ก้อนที่เที่ยวบินดังกล่าวขนอยู่ ทำให้ไฟนั้นลามอย่างรวดเร็ว

ระบบ Outflow Valve และ Pressure Relief Value สำหรับการควบคุมแรงดัน

ในปัจจุบัน เที่ยวบินขนส่งสินค้าที่จำเป็นต้องขนแบตเตอรี่ Li-ion เป็นจำนวนมาก มีมาตรการความปลอดภัยใหม่เพื่อป้องกันการติดไฟของแบตเตอรี่ใต้เครื่อง เช่น การออกคำแนะนำให้นักบินลดความดันภายในห้องเก็บของลงและเพิ่มความสูงของเครื่องบินทันทีเพื่อลดแรงดันอากาศ ซึ่งจะทำให้เพลิงขาดออกซิเจนและดับลงในที่สุด

เรียบเรียงโดย โชติทิวัตถ์ จิตต์ประสงค์

🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

โหลดแบตเตอรี่โหลดแบตเตอรี่ใต้เครื่องแบตเตอรีแบตเตอรี่แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนแบตเตอรีลิเทียม-ไอออนเครื่องบินสายการบินเทคโนโลยีTechnologyInnovationนวัตกรรมThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Innovation Tech World
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด