รวมเรื่องราว "เหรียญทองซีเกมส์ไทย" ในความทรงจำ


จับกระแสวงการกีฬา

8 พ.ค. 66

สันทัด โพธิสา

Logo Thai PBS
รวมเรื่องราว "เหรียญทองซีเกมส์ไทย" ในความทรงจำ

มหกรรมกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 32 เริ่มต้นขึ้นแล้ว… 

โดยประเทศกัมพูชา รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขัน ซึ่งหากย้อนเวลากลับไปกว่า 64 ปี การแข่งขันกีฬาซีเกมส์ได้รับการจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2502 ครั้งนั้นประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ และใช้ชื่อการแข่งขันว่า กีฬาแหลมทอง (Southeast Asian Peninsular Games) หรือ เซียปเกมส์ (SEAP Games) มีประเทศเข้าร่วมแข่งขัน 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ลาว เวียดนาม และเมียนมา แข่งขันกันใน 12 ชนิดกีฬา มีนักกีฬาเข้าร่วมกว่า 527 คน

ผ่านมากว่า 64 ปี กีฬาแหลมทองถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “กีฬาซีเกมส์” และจัดติดต่อกันมากว่า 32 ครั้ง โดยประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันครบทุกครั้ง นอกจากจะถูกบันทึกว่าเป็นประเทศที่เป็นเจ้าเหรียญทอง รวมกว่า 2,345 เหรียญแล้ว ซีเกมส์หลายครั้งที่ผ่านมา ไทยยังมีเหล่านักกีฬาที่คว้า “เหรียญทอง” ที่เป็นความทรงจำอยู่มากมาย ไทยพีบีเอสนำเรื่องราว “เหรียญทองซีเกมส์ไทย” ในความทรงจำ มาบอกเล่ากัน

ธีรัช โพธิ์พานิช ราชาเหรียญทองยิมนาสติกซีเกมส์

“ยิมนาสติก” เป็นหนึ่งชนิดกีฬาที่ได้รับความสนใจในกีฬาซีเกมส์ ซึ่งนักกีฬาจากประเทศไทย ประสบความสำเร็จในกีฬาชนิดนี้เป็นอย่างมาก หนึ่งในนักกีฬายิมนาสติกที่อยู่ในความทรงจำแฟนกีฬาชาวไทย นั่นคือ ธีรัช โพธิ์พานิช เจ้าตัวเข้าร่วมการแข่งขันยิมนาสติกในกีฬาซีเกมส์หนแรกเมื่อปี 2524 ในซีเกมส์ครั้งที่ 11 ประเทศฟิลิปปินส์ 

แต่ซีเกมส์ที่สร้างชื่อให้กับธีรัช คือซีเกมส์ครั้งที่ 13 ที่ประเทศไทย ธีรัชทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม คว้าเหรียญทองไปได้ 6 เหรียญ จากประเภททีม, บุคคลรวมอุปกรณ์, ม้าหู, ฟลอร์เอ็กซ์เซอร์ไซส์, บาร์คู่ และบาร์เดี่ยว แถมเจ้าตัวยังได้ชื่อว่าเป็น “ราชาเหรียญทอง” เพราะลงแข่งขันในซีเกมส์ไปทั้งหมด 5 สมัย คว้าเหรียญทองรวมไปได้ทั้งหมด 22 เหรียญ

ศรสวรรค์ ภู่วิจิตร เงือกสาวขวัญใจชาวไทยในซีเกมส์

ผู้ชมทีวีอาจรู้จัก ศรสวรรค์ ภู่วิจิตร ในฐานะพิธีกร ผู้ประกาศข่าวกีฬา แต่หากย้อนกลับไปกว่า 33 ปี อาย-ศรสวรรค์ คือนักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติไทยที่เข้าร่วมแข่งขันในกีฬาซีเกมส์ โดยซีเกมส์ครั้งแรกของเธอเกิดขึ้นในปี 2530 ที่ประเทศอินโดนีเซีย สามารถคว้ามาได้ 2 เหรียญทอง 

ต่อมาในซีเกมส์ครั้งที่ 15 ปี 2532 ที่ประเทศมาเลเซีย ศรสวรรค์สามารถคว้ามาได้อีก 2 เหรียญทอง จากการว่ายกบ 100 และ 200 เมตร กระทั่งซีเกมส์ครั้งที่ 16 ในปี 2534 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ เธอสามารถคว้า 3 เหรียญทอง จากการว่ายกบ 100 และ 200 เมตร รวมทั้งเหรียญทองในการว่ายผลัดผสม 4x100 เมตร ซึ่งถือเป็นเหรียญทองสำคัญที่คว้ามาได้ ด้วยความสำเร็จที่ได้รับ ทำให้ผู้คนขนานนามเธอว่า ราชินีจ้าวสระ

เรวดี ศรีท้าว ลมกรดสาวในตำนานซีเกมส์

อีกหนึ่งตำนานนักกีฬาไทยที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในกีฬาซีเกมส์ เธอคือ เรวดี ศรีท้าว อดีตนักกรีฑาระยะสั้นและระยะกลาง เธอเข้าร่วมแข่งขันในกีฬาซีเกมส์หนแรกที่ประเทศสิงคโปร์ ปี 2526 ก่อนที่ในปี 2528 ซีเกมส์ครั้งที่ 13 ที่ประเทศไทย เรวดีสามารถคว้ามาได้ 3 เหรียญทอง

แต่ซีเกมส์ครั้งที่สร้างชื่อจนเป็นตำนาน คือซีเกมส์ครั้งที่ 16 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ เรวดีสามารถคว้ามาได้ 3 เหรียญทอง จากการวิ่งระยะ 400 เมตร, 4x100 เมตร และ 4x400 เมตร และที่สำคัญ เธอยังคว้ารางวัล “นักกีฬายอดเยี่ยมฝ่ายหญิง” ประจำซีเกมส์หนนั้นอีกด้วย

สืบศักดิ์ ผันสืบ นักเซปักตะกร้อผู้มีเอกลักษณ์

กีฬาที่ประเทศไทย “ผูกขาด” แชมป์เหรียญทองซีเกมส์มายาวนานอีกประเภท นั่นคือ เซปักตะกร้อ และหนึ่งในนักกีฬาเซปักตะกร้อที่อยู่ในความทรงจำของแฟนกีฬาชาวไทย คงต้องยกให้กับ สืบศักดิ์ ผันสืบ 

ถ้าใครยังจำกันได้ โจ้-สืบศักดิ์เป็นนักตะกร้อทีมชาติไทยที่มีเอกลักษณ์ในการเสิร์ฟ ทีเด็ดทีขาดอยู่ที่การใช้ “หลังเท้า” ในการหวดลูกตะกร้อมออกไปอย่างหนักหน่วงและแม่นยำ มีส่วนช่วยทำให้ทีมเซปักตะกร้อทีมชาติไทย คว้าเหรียญทองในกีฬาซีเกมส์ติดต่อกันเรื่อยมา 

โจ้-สืบศักดิ์ลงแข่งขันซีเกมส์ครั้งแรกในปี 2540 ในซีเกมส์ครั้งที่ 19 ประเทศอินโดนีเซีย พร้อมกับคว้าเหรียญทองมาครอง ก่อนที่เจ้าตัวจะทำสถิติลงแข่งเซปักตะกร้อในซีเกมส์ติดต่อกันถึง 7 สมัย (ครั้งที่ 19 - ครั้งที่ 25) โดยสามารถคว้าเหรียญทองทั้งประเภททีมชุดและทีมเดี่ยวรวมกันไปได้ถึง 12 เหรียญเลยทีเดียว

วิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์ เจ้าแห่งวอลเลย์บอลหญิงซีเกมส์

ที่สุดของกีฬาอีกประเภทในการแข่งขันซีเกมส์ นั่นคือ วอลเลย์บอลประเภทหญิง ซึ่งทีมชาติไทยถือว่าเป็นเจ้าเหรียญทองซีเกมส์มาหลายยุคหลายสมัย โดยสามารถคว้าเหรียญทองมาได้ทั้งหมด 14 เหรียญ หนึ่งในนักกีฬาตัวชูโรง คือ วิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์ หรือกัปตันกิ๊ฟ ขวัญใจกองเชียร์กีฬาชาวไทย 

กิ๊ฟ-วิลาวัณย์ สามารถคว้าเหรียญทองซีเกมส์ได้ถึง 10 สมัยติดต่อกัน โดยเธอได้เหรียญทองครั้งแรกในซีเกมส์ครั้งที่ 21 ปี 2544 ที่ประเทศมาเลเซีย จากนั้นสามารถป้องกันแชมป์ซีเกมส์ไว้ได้ติดต่อกันอีก 9 ครั้ง 

คือในครั้งที่ 22 ที่เวียดนาม ปี 2546, ครั้งที่ 23 ที่ฟิลิปปินส์ ปี 2548, ครั้งที่ 24 ที่ไทย ปี 2550, ครั้งที่ 25 ที่ลาว ปี 2552, ครั้งที่ 26 ที่อินโดนีเซีย ปี 2554, ครั้งที่ 27 ที่เมียนมา ปี 2556, ครั้งที่ 28 ที่สิงคโปร์ ปี 2558, ครั้งที่ 29 ที่มาเลเซีย ปี 2560 และครั้งที่ 30 ที่ฟิลิปปินส์ ปี 2562 ถือเป็นนักกีฬาวอลเลย์บอลที่ประสบความสำเร็จมากคนหนึ่งของประเทศ


เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง นักฟุตบอลขวัญใจชาวไทยกับลูกโหม่งในตำนานซีเกมส์

เอ่ยชื่อกีฬา “ฟุตบอล” นี่คือกีฬามหาชน และถูกยกให้เป็นการแข่งขันกีฬาอันดับต้น ๆ ประจำซีเกมส์ทุกยุคทุกสมัย ทีมฟุตบอลชายไทยเคยคว้าแชมป์ซีเกมส์มาแล้วทั้งสิ้น 16 ครั้ง มากที่สุดในบรรดาชาติที่เข้าร่วมแข่งขัน แต่หากถามว่า แชมป์เหรียญทองซีเกมส์ครั้งไหนที่เป็นความทรงจำของแฟนกีฬาชาวไทย ต้องยกให้กับนัดชิงชนะเลิศซีเกมส์ครั้งที่ 17 ปี 2536 ที่ประเทศสิงคโปร์ 

ครั้งนั้นเป็นการพบกันของ ทีมชาติไทยกับทีมชาติเมียนมา การแข่งขันดำเนินไปด้วยความตื่นเต้น เร้าใจ ในช่วงท้ายเกม เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง นักเตะกองหน้าวัย 16 ปี (ณ ขณะนั้น) ถูกส่งลงเป็นตัวสำรอง ก่อนที่เจ้าตัวจะโหม่งทำประตูชัยในช่วงทดเวลาบาดเจ็บ ช่วยให้ทีมชาติไทยเฉือนเอาชนะเมียนมาไปได้ 4-3 อย่างสุดมัน เป็นการทวงบัลลังก์แชมป์ซีเกมส์ของไทย หลังจากที่ต้องว่างเว้นมานานถึง 8 ปีด้วยกัน

ทั้งหมดเป็นเรื่องราว “เหรียญทองในความทรงจำ” ที่หยิบยกมาเล่าถึงกัน สำหรับซีเกมส์ครั้งล่าสุดนี้ ขอเป็นกำลังใจให้ทัพนักกีฬาไทยทุกประเภท ให้ลงทำการแข่งขันและทำหน้าที่ให้เต็มที่ที่สุด…

ติดตามความเคลื่อนไหว และอัปเดตผลการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ได้ที่ https://www.thaipbs.or.th/news/focus/SEAGAMES2023 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

นักกีฬาไทยซีเกมส์ 2023 กัมพูชาซีเกมส์ 2023เหรียญทองซีเกมส์
สันทัด โพธิสา
ผู้เขียน: สันทัด โพธิสา

เจ้าหน้าที่เนื้อหาออนไลน์อาวุโส Thai PBS สนใจความเคลื่อนไหวของสังคม ผู้คน และเทรนด์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ และรวมถึงเป็นสมาชิกทาสแมวมายาวนาน

บทความ NOW แนะนำ