“การมีส่วนร่วมทางการเมือง” เรื่องสำคัญใกล้ตัวที่เราทุกคนต้องใส่ใจ เพราะส่งผลกระทบกับคนไทยทุกคน ดังนั้น ไทยพีบีเอสจึงขอนำเหตุผลว่า ทำไม ? “เรา” จึงต้องมีส่วนร่วมทางการเมือง ในระบอบประชาธิปไตย มาให้ได้ทราบ
เพราะการปกครองระบอบประชาธิปไตยคือ การปกครองที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน โดยประชาชนจะมีส่วนร่วมในการปกครองตนเอง แต่ในทางปฏิบัตินั้นไม่สามารถกระทำได้ จึงเกิดรูปแบบการปกครองระบอบผ่านระบบตัวแทน เช่น ส.ส. เป็นต้น ดังนั้น “การเลือกตั้ง” จึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด
“การเลือกตั้ง” คือการที่ประชาชนเลือกผู้แทนขึ้นทำหน้าที่แทนตัวเอง แล้วผู้แทนเหล่านั้นมีหน้าที่ร่วมกันกำหนดทั้งผู้ปกครอง (รัฐบาล) นโยบาย และวิธีการปฏิบัติตามนโยบายการที่ประชาชนทำหน้าที่ปกครองด้วยตนเองโดยตรง หรือการเลือกผู้แทนเข้าไปทำหน้าที่แทนตนเองนั้น เป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้กระบวนการทางการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยทุกกระบวนการ ทุกระดับ และทุกมิติ ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม การปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ต้องมีคุณสมบัติที่เอื้อหรือสนับสนุนต่อหลักการประชาธิปไตย เช่น มีความสนใจ กระตือรือร้นที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยมีส่วนร่วมทางการเมือง หรือติดตาม ควบคุม และตรวจสอบการทำงานของรัฐอย่างจริงจัง หรืออาจกล่าวได้ว่า ประชาชนต้องมีวัฒนธรรมทางการเมืองตามแนวทางที่ว่า กิจกรรมทางการเมืองการปกครองเป็นหน้าที่ซึ่งทุกคนต้องเอาใจใส่รับผิดชอบ
ทำไม ? “เรา” ต้องมีส่วนร่วมทาง “การเมือง”
ก็เพื่อเป็นหลักประกันว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง นอกจากนี้ประชาชนยังมีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลทั้งโดยตรง ด้วยตนเอง และโดยผ่านตัวแทนที่ประชาชนเลือกตั้งให้เข้าไปทำหน้าที่ผู้แทน
นอกจากนี้การมีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครองของประชาชน เป็นหัวใจสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทน เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงทัศนะและมีส่วนร่วม ในการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ที่จะมีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเอง
ประโยชน์การมีส่วนร่วมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย
1. คุณภาพของการตัดสินใจดีขึ้น เนื่องจากกระบวนการปรึกษาหารือกับสาธารณชนจะช่วยสร้างความกระจ่าง ให้กับวัตถุประสงค์และความต้องการของโครงการหรือนโยบาย และบ่อยครั้งที่การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนนำมาสู่การพิจารณาทางเลือกใหม่ ๆ ที่น่าจะเป็นคำตอบที่มีประสิทธิผลที่สุดได้
2. ใช้ต้นทุนน้อยและลดความล่าช้าลง แม้ว่าการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมจะต้องใช้เวลาและค่าใช้จ่ายมากกว่าการตัดสินใจฝ่ายเดียว แต่การตัดสินใจฝ่ายเดียวที่ไม่คำนึงถึงความต้องการแท้จริงของประชาชน อาจนำมาซึ่งการโต้แย้งคัดค้านหรือการฟ้องร้องกัน อันทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงในระยะยาว เกิดความล่าช้า และความล้มเหลวของโครงการได้ในที่สุด
3. การสร้างฉันทามติ การมีส่วนร่วมของประชาชนจะสร้างข้อตกลงและข้อผูกพันอย่างมั่นคงในระยะยาวระหว่างกลุ่มที่มีความแตกต่างกัน ช่วยสร้างความเข้าใจระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ลดข้อโต้แย้งทางการเมืองและช่วยให้เกิดความชอบธรรมต่อการตัดสินใจของรัฐบาล
4. การนำไปปฏิบัติง่ายขึ้น การเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ทำให้ประชาชนมีความรู้สึกของการเป็นเจ้าของการตัดสินใจนั้น และทันทีที่การตัดสินใจได้เกิดขึ้น พวกเขาก็อยากเห็นการเกิดผลในทางปฏิบัติและยังอาจเข้ามาช่วยกันอย่างกระตือรือร้น
5. การหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าที่เลวร้ายที่สุด เพราะการเปิดโอกาสให้ฝ่ายต่าง ๆ เข้ามาแสดงความต้องการและข้อห่วงกังวลตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ จะช่วยลดโอกาสของการโต้แย้งและการแบ่งฝ่าย ที่จะเป็นปัจจัยให้เกิดการเผชิญหน้าอย่างรุนแรงได้
6. การคงไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือและความชอบธรรม เนื่องจากกระบวนการตัดสินใจที่โปร่งใสและเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม จะสร้างความน่าเชื่อถือต่อสาธารณชนและเกิดความชอบธรรม โดยเฉพาะเมื่อต้องมีการตัดสินใจในเรื่องที่มีการโต้แย้งกัน
7. การคาดการณ์ความห่วงกังวลและทัศนคติของสาธารณชน เพราะเมื่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้มาทำงานร่วมกับสาธารณชนในกระบวนการมีส่วนร่วม จะได้รับรู้ถึงความห่วงกังวล และมุมมองของสาธารณชนต่อการทำงานขององค์กร ซึ่งจะทำให้เจ้าหน้าที่สามารถคาดการณ์ปฏิกิริยาตอบสนองของสาธารณชนต่อกระบวนการ และการตัดสินใจขององค์กรได้
8. การพัฒนาภาคประชาสังคม ประโยชน์อย่างหนึ่งของการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน คือ ทำให้ประชาชนมีความรู้ ทั้งในส่วนของเนื้อหาโครงการและกระบวนการตัดสินใจของรัฐ รวมทั้งเป็นการฝึกอบรมผู้นำ และทำให้ประชาชนได้เรียนรู้ทักษะการทำงานร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต
ผลเสียต่อสังคมและประเทศชาติ หากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและมีส่วนร่วมทางการเมือง
1. ขาดกระบวนการตรวจสอบโดยประชาชน
2. ได้ตัวแทนที่ไม่ได้และไม่เป็นตัวแทนของประชาชนส่วนใหญ่
3. การทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติขาดประสิทธิภาพ
4. อำนาจผูกขาดตกแก่นักการเมืองกลุ่มเดิม หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ทำให้ประเทศไม่พัฒนา ผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนเสียหาย
5. เกิดการฉ้อราษฎร์บังหลวง เนื่องจากขาดการตรวจสอบจากองค์กรอิสระต่าง ๆ
การมีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นรากฐานสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากระบบการปกครองประชาธิปไตยแบบผู้แทนโดยประชาชนเลือกผู้แทน (รัฐบาล) เข้ามาทำหน้าที่แทนตนเอง ยังไม่สามารถสนองตอบและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยได้อย่างทั่วถึง
ดังนั้นการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน จึงมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมบทบาทของผู้แทน เพื่อให้ผู้แทนซึ่งทำหน้าที่แทนประชาชนได้เข้าใจปัญหาและความต้องการของประชาชน การเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองไม่ใช่เฉพาะเป็นการเลือกผู้แทนเข้าไปทำหน้าที่แทนตนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการควบคุม ตรวจสอบ ติดตามการทำงานของรัฐบาล หน่วยงานของรัฐ รวมทั้งมีส่วนร่วมในกระบวนตัดสินใจของรัฐบาลในนโยบายการบริหาร ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ และวิถีชีวิตของประชาชนคนไทยทุกคน
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร