ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

10 เรื่องน่ารู้ “หมายจับ” ผู้กระทำผิดกฎหมาย


Insight

สันทัด โพธิสา

แชร์

10 เรื่องน่ารู้ “หมายจับ” ผู้กระทำผิดกฎหมาย

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1740

10 เรื่องน่ารู้ “หมายจับ” ผู้กระทำผิดกฎหมาย

 

ข่าวใหญ่ที่ผู้คนทั้งประเทศให้ความสนใจ คงหนีไม่พ้น กลุ่มธุรกิจ “ดิไอคอนกรุ๊ป” ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยล่าสุด เจ้าหน้าที่ตำรวจ “ออกหมายจับ” เหล่าผู้บริหารกว่า 18 คน

 Thai PBS รวบรวมเรื่องราว การออกหมายจับ และข้อพึงปฏิบัติที่ควรรู้ มาบอกกัน

1.หากถูกดำเนินคดี สิ่งแรกที่ได้รับคือ “หมายเรียก” 

เจ้าหน้าที่ตำรวจจะส่งหมายเรียกให้กับบุคคลที่จะดำเนินคดี โดยจะส่งไปที่บ้านของบุคคลดังกล่าวตามทะเบียนราษฎร์ ซึ่งจะส่งมากที่สุดเพียงสองครั้ง ถ้าไม่ไปตามนัด จะขอศาลเพื่อออกหมายจับ

2.”หมายจับ” คืออะไร ?

“หมายจับ” คือ หนังสือที่ศาลอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือพนักงานฝ่ายปกครอง จับกุมผู้ต้องหา หรือจำเลย ที่กระทำความผิด หรือเชื่อว่าได้กระทำความผิด โดยผู้ที่จะออกหมายจับได้ คือ ศาล เท่านั้น

3.สาเหตุที่ออกหมายจับ ต้องมีลักษณะอย่างไร ?

ตามกฎหมายอาญาในมาตรา 66 ระบุไว้ว่า เหตุที่จะออกหมายจับได้มีหลัก ๆ 2 ประการ คือ 

  • เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่า บุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญา ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 3 ปี
  • เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่า บุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญา และมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี หรือ จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือ ก่อเหตุอันตรายประการอื่น

4.กรณีเป็น “หมายจับปลอม” มีวิธีสังเกตอย่างไร ?

หมายจับที่ถูกต้องตามกฎหมาย ต้องออกโดยศาล และมีข้อสังเกต ดังนี้

  • วันเดือนปีที่ออกหมาย ต้องระบุรายละเอียดชัดเจน
  • เหตุที่ออกหมาย ระบุข้อหา ฐานความผิด ตามกฎหมาย
  • สังเกตตัวสะกด รูปประโยค ข้อหา หรือฐานความผิดว่าถูกต้องหรือไม่  หากมีการสะกดตัวอักษรผิดหลายจุด ตัวอักษรและการพิมพ์ไม่สอดคล้องกันตลอดทั้งหมายจับ อาจเข้าข่ายต้องสงสัยว่าเป็น “หมายจับปลอม” 
  • สามารถโทรศัพท์ตรวจสอบไปยังศาล ซึ่งเป็นสถานที่ออกหมาย โดยระบุชื่อ เลขที่หมายจับ วันเดือนปีที่ออกหมาย และเหตุที่ออกหมาย เพื่อให้เจ้าหน้าที่ช่วยตรวจสอบว่าเป็นหมายจับที่ออกโดยศาลจริงหรือไม่

5.หมายจับมีอายุการใช้งานเท่าไร ?

ตามกฎหมายอาญา มาตรา 68 หมายจับคงใช้ได้อยู่จนกว่าจะจับได้ เว้นแต่ความผิดอาญาตามหมายนั้นขาดอายุความหรือศาลซึ่งออกหมายนั้นได้ถอนหมายคืน

6.หมายจับใช้ภาพถ่ายตามทะเบียนราษฎร์

แต่หากเป็นกรณีการออกหมายจับบุคคลที่ยังไม่รู้จักชื่อ ตามกฎหมายอาญา มาตรา 67 กำหนดว่า สามารถทำได้ แต่ต้องบอกรูปพรรณของผู้นั้นให้ละเอียดเท่าที่จะทำได้

7.ผู้ที่ถูกหมายจับต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ?

หลังจากได้รับหมาย ขั้นตอนต่อมาคือ รับทราบข้อกล่าวหา ส่วนขั้นตอนการเข้าให้ปากคำ พนักงานสอบสวนต้องแจ้งสิทธิให้ผู้ต้องหาทราบก่อนเสมอ รวมทั้งพนักงานสอบสวนต้องไม่ทำการใด ๆ ที่เป็นการให้คำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง ทรมาน ใช้กำลังบังคับ หรือกระทำโดยมิชอบ เพื่อจูงใจให้ผู้ต้องหาให้การอย่างใด ๆ 

ในกระบวนการนี้ ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความ หรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจ เข้าฟังการสอบปากคำได้

8.ผู้ที่ถูกออกหมายจับ สามารถทำเรื่องขอประกันตัวได้หรือไม่ ?

ผู้ที่ถูกออกหมายจับ หรือเป็นผู้ต้องหา สามารถยื่นเรื่องขอประกันตัวได้ 3 กรณี 

  1. ขอประกันตัวระหว่างชั้นฝากขัง คือ ขณะเป็นผู้ต้องหายังไม่ได้ถูกสั่งฟ้องคดี
  2. ขอประกันตัวในศาลชั้นต้น คือ กรณีอัยการเป็นโจทก์ฟ้องได้ยื่นฟ้องต่อศาลชั้นต้นแล้ว หรือกรณีที่ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องเอง ศาลชั้นต้นได้มีการไต่สวนมูลฟ้องและมีการประทับรับฟ้องแล้ว
  3. ขอประกันตัวชั้นอุทธรณ์หรือฎีกา เมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาลงโทษจำเลยตามความผิดอาจมีการขอประกันตัวได้

9.ใครคือผู้ที่มีสิทธิยื่นคำร้องขอประกันตัว ?

ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอประกันตัว แบ่งเป็น 2 กรณี คือ 

  1. ผู้ต้องหาหรือจำเลย 
  2. ผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง  เช่น บุพการี  ผู้สืบสันดาน  คู่สมรส  ญาติพี่น้อง  ผู้บังคับบัญชา

10.การถูกสั่งขังของผู้ต้องหา มีกี่แบบ?

ตามกฎหมายอาญา มาตรา 87 ระบุเรื่องการสั่งขังผู้ต้องหา ดังนี้

  • ความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลมีอำนาจสั่งขังได้ครั้งเดียว มีกำหนดไม่เกิน 7 วัน
  • ความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินกว่า 6 เดือน แต่ไม่ถึง 10 ปี หรือปรับเกินกว่า 500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลมีอำนาจสั่งขังหลายครั้งติด ๆ กันได้ แต่ครั้งหนึ่งต้องไม่เกิน 12 วัน และรวมกันทั้งหมดต้องไม่เกิน 48 วัน
  • ความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป จะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม ศาลมีอำนาจสั่งขังหลายครั้งติด ๆ กันได้ แต่ครั้งหนึ่งต้องไม่เกิน 12 วัน และรวมกันทั้งหมดต้องไม่เกิน 84 วัน

แหล่งข้อมูล

  • ประมวลกฎหมายอาญา
  • ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

หมายเรียกหมายจับการออกหมายจับดิไอคอนกรุ๊ปกฎหมาย
สันทัด โพธิสา

ผู้เขียน: สันทัด โพธิสา

เจ้าหน้าที่เนื้อหาออนไลน์อาวุโส Thai PBS สนใจความเคลื่อนไหวของสังคม ผู้คน และเทรนด์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ และรวมถึงเป็นสมาชิกทาสแมวมายาวนาน

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด