เสียงไซเรนแจ้งเตือนดังไม่เว้นวัน ซากอาคารที่ถูกทำลายและขีปนาวุธที่ยังคงพุ่งเป้าเข้าสู่ใจกลางเมือง
นี่คือภาพสะท้อนของสงครามที่ยืดเยื้อกว่า 3 ปี กลายเป็นบาดแผลที่หยั่งรากลึก วันนี้ยูเครนถูกเปรียบเสมือน “ผู้ป่วยอาการสาหัส” ที่ยังไร้ทางรักษา
ยูเครนในภาวะวิกฤติหนักสุดในรอบ 3 ปี
“วันนี้ยูเครนอยู่ในสภาพที่เลวร้ายที่สุดตั้งแต่สงครามเริ่มต้น”
พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นถึงสถานการณ์ปัจจุบัน

แต่สิ่งที่ทำให้หลายฝ่ายต้องจับตามองคือท่าทีของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เลือกลดบทบาทสนับสนุนยูเครนลงอย่างชัดเจน ทรัมป์ยืนยันว่าเขาจะไม่ช่วยยูเครนแบบ “ให้เปล่า” อีกต่อไป แต่ต้องแลกกับสิทธิ์การเข้าถึงแร่หายาก หรือแรร์เอิร์ธ (Rare Earth) ภายในประเทศ

ผู้เชี่ยวชาญมองว่า การเปลี่ยนท่าทีของสหรัฐฯ อาจนำไปสู่การรัฐประหารในยูเครน หรือแย่ที่สุด—ยูเครนอาจต้องยอมสูญเสียดินแดนที่ถูกรัสเซียยึดครอง
ติดตามบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่ ทันโลก Special: อนาคต "ยูเครน" แขวนบนเส้นด้าย ทรัมป์ ฉะ เซเลนสกีเป็นเผด็จการ ทิศทางสงครามพลิกสุดขั้ว
ยุโรปตบเท้าเข้าเคียฟ ขณะทรัมป์เอนเอียงรัสเซีย
เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 3 ปีสงครามรัสเซีย-ยูเครน ผู้นำชาติยุโรปและแคนาดาเดินทางเยือนกรุงเคียฟ เพื่อย้ำจุดยืนว่ายังคงสนับสนุนยูเครน แม้ว่าการเมืองโลกจะผันผวนอย่างหนักหลังทรัมป์เข้ารับตำแหน่ง

ในขณะเดียวกัน รองนายกรัฐมนตรียูเครนเปิดเผยว่าขณะนี้อยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการเจรจากับสหรัฐฯ ซึ่งอาจเปิดทางให้สหรัฐฯ เข้าถึงทรัพยากรแร่หายากในยูเครน แลกกับการสนับสนุนทางทหาร
ทรัมป์เองพยายามเดินหน้ารักษาสัญญาที่ให้ไว้ตอนหาเสียงว่าเขาจะ “ยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครนให้เร็วที่สุด” แต่วิธีที่เขาใช้กลับทำให้หลายชาติยุโรปร้อน ๆ หนาว ๆ เพราะดูเหมือนว่าเขากำลังโน้มเอียงไปทางรัสเซีย
“คุณควรยุติมันแล้ว…คุณไม่ควรเริ่ม (สงคราม) คุณสามารถบรรลุข้อตกลงได้”
โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวโทษว่ายูเครนเป็นฝ่ายเริ่มจุดไฟสงคราม

ไม่เพียงเท่านั้น ทรัมป์ยังกล่าวหาประธานาธิบดีเซเลนสกีว่าเป็น “เผด็จการ” ทำให้หลายฝ่ายมองว่าสหรัฐฯ เริ่มหมดใจกับยูเครนแล้ว
ยูเครนเปรียบเสมือนผู้ป่วยอาการวิกฤต
“วันนี้ยูเครนเจียนอยู่เจียนตาย”
พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก เปรียบเทียบชะตากรรมของยูเครน เสมือนเป็นคนไข้ที่ล้มป่วยมานานกว่า 3 ปี หมอใหญ่ที่เคยดูแล—หมายถึงสหรัฐฯ—วันนี้กลับไม่มีเวลาให้ และเมื่อหมอใหญ่ไม่มา ทำให้หมอที่เหลือต้องมาสุมหัวกันว่าจะเอายังไง ยาก็ไม่มี ทำให้วันนี้ ยูเครนตกอยู่ในภาวะที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่สงครามเริ่มต้นขึ้น
ศัตรูที่เคยเผชิญหน้ากัน วันนี้กลับมาสวมกอดกัน ขณะที่ทั่วโลกไปไม่ถูก ทำให้ยูเครนอยู่ในสภาพที่ไม่มีทางเลือก พล.อ.นิพัทธ์ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า ทรัมป์และปูตินอาจมีการพูดคุยลับกันมาก่อนแล้ว โดยเป็นการเจรจาเรื่องผลประโยชน์ทางการเมืองที่ยังไม่ถูกเปิดเผย ซึ่งอาจเป็นตัวแปรสำคัญต่ออนาคตของยูเครน

“ดินแดนทั้งหมดของยูเครน ไล่ไปตั้งแต่ดอนบาส 5 แคว้นลงไปถึงไครเมีย ซาปอริซเซีย เคอร์ซอน รัสเซียจะได้ไป” พล.อ.นิพัทธ์ กล่าวเสริม
ขณะที่ผู้สังเกตการณ์ชี้ว่า ความเปลี่ยนแปลงที่จะเห็นในปีนี้จะมีผลประโยนชน์ทางการเมืองเป็นตัวแปร ซึ่งเค้าลางดังกล่าวเริ่มปรากฏเป็นรูปเป็นร่างแล้ว เมื่อประธานาธิบดีเซเลนสกี มีท่าทีคล้ายรับสภาพ ยอมแลกเปลี่ยนดินแดนกับรัสเซีย และจะยอมลาออกเพื่อแลกกับการรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิกนาโต

อนาคต “เซเลนสกี” ยูเครนเสี่ยงรัฐประหาร?
ดร.อดุลย์ กำไลทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านรัสเซีย วิเคราะห์ว่า หากเซเลนสกียังแข็งข้อกับทรัมป์ อาจเกิดรัฐประหารในยูเครน เพื่อเปลี่ยนแปลงผู้นำ หรืออย่างน้อยที่สุด อาจมีการสร้างกระแสให้มีการเลือกตั้งใหม่

แม้ว่าปัจจุบันชาวยูเครนจำนวนมากยังสนับสนุนเซเลนสกี แต่ก็ต้องจับตาดูว่าสหรัฐฯ จะดำเนินเกมการเมืองอย่างไร เพราะในอดีต สหรัฐฯ เคยมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนผู้นำของหลายประเทศมาแล้ว หรือแม้แต่รัสเซียเองก็เคยอยู่เบื้องหลังในการสนับสนุนผู้นำที่มีจุดยืนฝักใฝ่รัสเซียให้ขึ้นสู่อำนาจ เช่น ในยุคของ วิกเตอร์ ยานูโควิช

ความสูญเสียที่ประเมินค่าไม่ได้
สำนักข่าว CNN รายงานว่า ยูเครนสูญเสียดินแดนไปแล้ว 11% ตั้งแต่ปี 2565 และแม้ว่ายูเครนจะสามารถคว้าชัยในภูมิภาคคาร์คีฟ และเคอร์ซอนได้ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยความสูญเสียมหาศาล ในพื้นที่ทางตะวันออกในโดเนตสก์และบัคมุต
ข้อมูลจากหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ รายงานว่าพลเมืองยูเครน 12,000 คน เสียชีวิตจากสงคราม และมีผู้คนบาดเจ็บอีกกว่า 29,000 คน นอกจากนี้ชาวยูเครน 6.3 ล้านคนต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่น ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเยอรมนีและโปแลนด์
ท่ามกลางการแข่งขันของชาติมหาอำนาจ ผลกระทบที่แท้จริงกลับตกอยู่กับประชาชนที่ยังไม่รู้ว่าความโหดร้ายนี้จะจบลงเมื่อไร
ติดตามชมรายการทันโลก กับ Thai PBS วันจันทร์ - พฤหัสบดี เวลา 21.00 – 21.30 น. ทางช่อง Thai PBS หมายเลข 3 หรือรับชมออนไลน์ผ่านทาง www.thaipbs.or.th/Live และชมย้อนหลังได้ที่ https://www.thaipbs.or.th/program/Tanloke
ที่มา:
- บทสัมภาษณ์ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ที่สถานีโทรทัศน์ Thai PBS เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 68
- บทสัมภาษณ์ ดร.อดุลย์ กำไลทอง เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 68
- https://edition.cnn.com/2025/02/23/world/charts-ukraine-war-status-dg/index.html
- https://www.cbsnews.com/news/ukraine-3-year-russia-invasion-anniversary-trump/