ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

AI จาก Google ช่วยถอดรหัส สร้างเสียงเลียนแบบสื่อสารกับโลมา


Logo Thai PBS
แชร์

AI จาก Google ช่วยถอดรหัส สร้างเสียงเลียนแบบสื่อสารกับโลมา

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2633

AI จาก Google ช่วยถอดรหัส สร้างเสียงเลียนแบบสื่อสารกับโลมา
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

Google พัฒนา AI แบบจำลองใหม่ ฟังและสร้างเสียงเลียนแบบโลมาได้อย่างแม่นยำ ซึ่งช่วยเปิดทางสู่ความเข้าใจการสื่อสารของสัตว์ และอาจนำไปสู่การอนุรักษ์ระบบนิเวศทางทะเลอย่างยั่งยืนในอนาคต

แบบจำลองระบบปัญญาประดิษฐ์นี้มีชื่อว่า “DolphinGemma” พัฒนาโดยทีมวิจัยของ Google DeepMind หน่วยงานด้าน AI ของบริษัท Google ร่วมกับนักชีววิทยาทางทะเลจากหลายสถาบันทั่วโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อใช้เทคโนโลยีในการศึกษารูปแบบการเปล่งเสียงของโลมาปากขวด (Common bottlenose dolphins)

งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับความร่วมมือจาก The Dolphin Communication Project และมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งรวบรวมข้อมูลเสียงจากโลมาในพื้นที่ควบคุมเป็นเวลาหลายปี เสียงเหล่านี้ถูกแปลงเป็นคลื่นความถี่และจัดหมวดหมู่เพื่อให้ AI ศึกษาอย่างมีระบบ

DolphinGemma_Keyword1_RD3_V02.width-1000.format-webp.webp
ภาพ 1 - ตัวอย่างการใช้เสียงของแม่โลมาเรียกลูกกลับหลังกินอาหารเสร็จ

DolphinGemma ใช้ปัญญาประดิษฐ์แบบ “Generative model” ที่เรียนรู้จากเสียงจริงของโลมา แล้วสร้างเสียงเลียนแบบขึ้นใหม่ได้อย่างใกล้เคียง ไม่ใช่แค่ฟังและวิเคราะห์เสียงเท่านั้น แต่ยัง “ตอบกลับ” ด้วยเสียงคล้ายโลมา ช่วยให้การศึกษาชีววิทยาเปลี่ยนจากแค่สังเกต มาเป็นการโต้ตอบกับสัตว์ทะเลโดยตรง

ความท้าทายสำคัญในการศึกษาภาษาโลมาคือการเข้าใจความหมายของเสียง ซึ่งมีความซับซ้อนและแปรเปลี่ยนตามบริบท นักวิจัยระบุว่าแม้โลมาจะเปล่งเสียงที่มีรูปแบบคล้ายคลึงกัน แต่เสียงเดียวกันอาจมีความหมายแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ด้วยเหตุนี้ แบบจำลอง AI จึงต้องฝึกฝนจากข้อมูลที่หลากหลาย รวมถึงบริบทของพฤติกรรมที่เกิดขึ้นควบคู่กันไป เช่น การว่ายเวียน การสัมผัส และตำแหน่งของโลมาในฝูง เพื่อให้เข้าใจเจตนาในการเปล่งเสียงได้ลึกซึ้งขึ้น

DolphinGemma_Keyword2_RD3_V01.width-1000.format-webp.webp
ภาพ 2 - ภาพการทดสอบเสียงนกหวีดเบื้องต้นของ DolphinGemma

ผลลัพธ์เบื้องต้นแสดงให้เห็นว่า DolphinGemma สามารถระบุลักษณะเฉพาะของเสียงที่โลมาใช้ เช่น คลื่นความถี่ รูปแบบเสียงที่ซ้ำกัน และการขึ้นลงของโทนเสียง ทีมวิจัยสามารถจำแนกเสียงที่ใช้เรียกเพื่อนในฝูง เสียงตอบสนองในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน และเสียงที่ใช้ในกิจกรรมการเล่น นักวิทยาศาสตร์ยังคาดหวังว่าเทคโนโลยีนี้จะนำไปสู่การพัฒนาแบบจำลองที่ใช้ศึกษาสัตว์ชนิดอื่น ๆ ได้ในอนาคต เช่น วาฬ เพนกวิน หรือช้าง ซึ่งมีพฤติกรรมทางเสียงที่ซับซ้อนไม่แพ้กัน

แม้ว่าโครงการนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ก็ถือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการเชื่อมต่อระหว่างมนุษย์กับสัตว์ผ่านเทคโนโลยี นักวิจัยเน้นย้ำว่า DolphinGemma ยังไม่ใช่ “ตัวแปลภาษาโลมา” โดยสมบูรณ์ แต่เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เข้าใกล้การเข้าใจเสียงและเจตนาของโลมาได้มากขึ้น ความร่วมมือระหว่างวิทยาศาสตร์ชีวภาพกับเทคโนโลยี AI อาจกลายเป็นกุญแจสำคัญในการอนุรักษ์ระบบนิเวศทางทะเล และเปิดประตูสู่การสื่อสารข้ามสายพันธุ์ในอนาคตได้

เรียบเรียงโดย ขนิษฐา จันทร์ทร

ที่มาข้อมูล: google, artificialintelligence, techcrunch, arstechnica
ที่มาภาพ: google, ภาพ 1, ภาพ 2
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

Thai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech TechnologyDolphinGemmaAI
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด