1 พฤษภาคม วันแรงงานแห่งชาติ หนึ่งในฟันเฟืองโลกการทำงาน นั่นคือ แรงงานต่างด้าว ซึ่งปัจจุบัน ถือเป็นแรงขับเคลื่อนในหลายภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย
Thai PBS รวมเรื่องน่ารู้ “แรงงานต่างด้าว” หากนายจ้างจะจ้างแรงงานต่างด้าว ต้องดำเนินการอย่างไร ? สวัสดิการค่าแรงต่าง ๆ รวมถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับเป็นอย่างไร
เข้าใจประเภทของ “แรงงานต่างด้าว”
ตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่าวด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 มีการกำหนดให้นายจ้างจะจ้างแรงงานต่างด้าวต้องดำเนินการ “ขออนุญาต” โดยแบ่งแรงงานต่างด้าวออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่
1. คนต่างด้าวระดับฝีมือ ชำนาญการ (ม.59)
คนต่างด้าวที่มีถิ่นอยู่ในประเทศไทย หรือได้รับอนุญาตให้เข้ามาในประเทศได้เป็นการชั่วคราวตามกฎหมายคนเข้าเมืองที่ไม่ใช่นักท่องเที่ยว ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกำหนด
2. คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานตาม MOU แรงงานกัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม
ปัจจุบันประเทศไทยได้มีการทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการจ้างแรงงานระหว่างรัฐ (MOU) กับ 4 ประเทศด้วยกัน ได้แก่ ประเทศกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม โดยแรงงานที่มีสัญชาติกัมพูชา ลาว และพม่าสามารถทำงานได้ 2 ลักษณะ คืองานกรรมกร และงานรับใช้ในบ้าน ขณะที่แรงงานจากเวียดนามสามารถทำได้เฉพาะงานกรรมกร และต้องทำงานก่อสร้างและกิจการประมงทะเลเท่านั้น
3. คนต่างด้าวที่เข้ามาด้วยกฎหมายส่งเสริมการลงทุน (ม.62)
คนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานเพื่อส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายเช่น กฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรม หรือกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียม
4. คนต่างด้าวประเภทชนกลุ่มน้อย (ม.63/1)
คนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทยแต่ไม่มีสัญชาติไทยตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ และกระทรวงมหาดไทยได้ออกเอกสารรับรอง เช่น กลุ่มชาติพันธุ์
5 คนต่างด้าวที่ต้องเดินทางไป - กลับตามฤดูกาล (ม.64)
คนต่างด้าวที่มีสัญชาติชายแดนติดกับประเทศไทย ปัจจุบันได้แก่ กัมพูชา และพม่า ที่เข้ามาในประเทศไทยด้วยบัตรผ่านแดน (Border Pass) จะเข้ามาทำงานได้เฉพาะในพื้นที่จังหวัดติดชายแดนเท่านั้น และทำได้ครั้งละไม่เกิน 3 เดือน สามารถทำงานเฉพาะงานกรรมกรและงานรับใช้ในบ้าน
ขั้นตอน “นายจ้างแรงงานต่างด้าว” ขออนุญาตอย่างไรบ้าง ?
นายจ้างแรงงานต่างด้าวจะขอใบอนุญาตทำงานให้คนต่างด้าวมีขั้นตอนแตกต่างกันไปตามประเภทของแรงงาน ดังนี้
การขออนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าวระดับฝีมือ ชำนาญการ
1. คนต่างด้าว (หรือชาวต่างชาติ) ต้องมีคุณสมบัติครบตามหลักเกณฑ์ ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในประเทศเป็นการชั่วคราวอย่างถูกต้อง เช่น มีวิซ่าเข้าประเทศ (Non-Immigrant VISA) ไม่ใช่ได้รับอนุญาตเข้ามาในฐานะนักท่องเที่ยว ต้องไม่ใช่งานที่กฎหมายห้าม ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย เช่น ไม่เป็นโรคต่าง ๆ รวมถึงไม่เคยรับโทษจำคุกภายในระยะเวลา 1 ปี เป็นต้น และต้องได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจากหน่วยงานในประเทศไทย
2. จัดเตรียมเอกสารให้ครบถ้วน ประกอบไปด้วย
- คำขอรับใบอนุญาตทำงาน (แบบ ตท.1) 1 ชุด กรณีแรงงานต่างด้าวไม่ได้อยู่ในประเทศให้ใช้คำขอรับใบอนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว (แบบ ตท.3) แทน
- รูปถ่ายคนต่างด้าว ขนาด 3X4 ซม.ไม่เกิน 3 เดือน จำนวน 1 ชุด
- หนังสือเดินทางฉบับจริง พร้อมสำเนา 1 ชุด
- สำเนาการได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว
- สำเนารับรองวุฒิการศึกษา หรือหนังสือรับรองการทำงานจากผู้ที่เคยเป็นนายจ้าง
- สำเนาใบอนุญาตประกอบวิชาชีพหรือหนังสือรับรอบจากสภา/สมาคมวิชาชีพหรือหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายของประเทศไทย 1 ชุด
- ใบรับรองแพทย์ รับรองว่าไม่มีลักษณะต้องห้าม 1 ฉบับ
- หนังสือมอบอำนาจจากแรงงานต่างด้าวที่ติดอากรแสตมป์ 10 บาท 1 ฉบับ และสำเนาบัตรประชาชนของผู้ที่ได้รับมอบอำนาจคนไทย 1 ฉบับ (กรณีคนต่างด้าวไม่ได้ยื่นด้วยตัวเอง)
- หนังสือรับรองการจ้างงาน 1 ฉบับ
- นายจ้างเป็นคนไทยให้แนบสำเนาบัตรประชาชนของนายจ้าง หรือหากเป็นนิติบุคคลให้แนบสำเนาหนังสือรับรองนิติบุคคล และสำเนาบัตรประชาชนกรรมการผู้มีอำนาจ หรือหากเป็นส่วนราชการให้แนบสำเนาบัตรข้าราชการ 1 ฉบับ กรณีนายจ้างเป็นคนต่างด้าวให้แนบสำเนาใบอนุญาตทำงานของนายจ้าง หากไม่มีใบอนุญาตทำงานต้องให้สถานทูตไทยรับรองการมอบอำนาจให้กรรมการหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งลงนามแทน 1 ฉบับ
3. ยื่นเอกสารต่อเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัด 76 จังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานคร โดยเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบความครบถ้วนก่อนพิจารณาและสรุปความเห็นต่อนายทะเบียน นายทะเบียนจะพิจารณาและลงนามใบอนุญาตทำงาน จากนายจ้างแรงงานต่างด้าว หรือแรงงานต่างด้าวที่ยื่นเรื่องดำเนินการชำระค่าธรรมเนียมเพื่อรับใบอนุญาตทำงาน
การขออนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานตาม MOU แรงงานกัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม
1. นายจ้างต้องยื่นคำร้องขอนำเข้าแรงงานต่างด้าว และคนต่างด้าวต้องขอรับใบอนุญาตทำงาน ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัด 76 จังหวัด / สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานคร
2. จัดเตรียมเอกสารให้ครบถ้วน ได้แก่
- แบบคำร้องนำเข้าแรงงานต่างด้าวตามบันทึกความเข้าใจ (MOU) 1 ฉบับ
- หนังสือแสดงความต้องการแรงงาน 1 ฉบับ
- หนังสือแต่งตั้งบริษัทจัดหางานหรือตัวแทนของประเทศต้นทาง 1 ชุด
- ตัวอย่างสัญญาจ้างแรงงาน 1 ชุด
- หนังสือมอบอำนาจของนายจ้าง พร้อมบัตรประชาชนของผู้มอบหรือผู้รับมอบ กรณีเป็นนิติบุคคลแนบสำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลพร้อมสำเนาบัตรประชาชนของกรรมการผู้มีอำนาจ 1 ชุด
3. นายจ้างยื่นเอกสารให้เจ้าหน้าที่พิจารณารายละเอียดเพื่อเสนอให้ผู้มีอำนาจลงนามในหนังสือส่งคำร้อง ขอนำเข้าแรงงานต่างด้าวให้ทางการของประเทศต้นทาง ประเทศต้นทางจะดำเนินการรับสมัครและคัดเลือกแรงงาน จัดทำบัญชีรายชื่อของคนต่างด้าวพร้อมสำเนาหนังสือเดินทางของคนต่างด้าวให้แก่นายจ้าง
4. นายจ้างยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว ประกอบไปด้วยเอกสาร
- แบบคำขอรับใบอนุญาตทำงาน (แบบ ตท.2) 1 ฉบับ
- หนังสือรับรองการจ้าง 1 ฉบับ
- สำเนาหนังสือเดินทาง 1 ฉบับ
- บัญชีรายชื่อคนต่างด้าว ระบุด่านที่จะเดินทางเข้ามา 1 ฉบับ
- สัญญาจ้างแรงงานต่างด้าว 1 ฉบับ
- หนังสือมอบอำนาของนายจ้าง 1 ชุด (กรณีนิติบุคคลให้แนบสำเนาหนังสือรับรองนิติบุคคล และสำเนาบัตรประชาชนกรรมการผู้มีอำนาจ)
- หลักฐานแสดงการเป็นนายจ้าง กรณีนายจ้างคนไทยเป็นสำเนาบัตรประชาชน กรณีนายจ้างเป็นคนต่างด้าว ให้ใช้สำเนาใบอนุญาตทำงานของนายจ้าง หรือใช้ Notary Public หรือสถานทูตไทยรับรอบ 1 ชุด
5. เมื่อยื่นขออนุญาตพร้อมชำระค่าธรรมเนียม แล้วสำนักงานจัดหางานจะมีการแจ้งการอนุญาต แรงงานต่างด้าวใน MOU (กัมพูชา ลาว และพม่า) จะเข้ารับการตรวจลงตราอนุญาตเข้าเมืองและต้องเข้ารับการอบรมก่อนเข้าทำงาน ก่อนรับใบอนุญาตทำงาน ณ ศูนย์แรกรับเข้าทำงาน โดยแรงงานแต่ละสัญชาติจะเข้าอบรมตามศูนย์ที่แตกต่างกันไป เมื่อแรงงานต่างด้าวผ่านการอบรมและได้รับใบอนุญาติแล้ว นายจ่างต้องแจ้งการจ้างคนต่างด้าวภายใน 15 วัน
กรณีการขอรับใบอนุญาตสำหรับแรงงานต่างด้าวประเภทอื่น ๆ มีขั้นตอนใกล้เคียงกัน โดยแรงงานกลุ่มคนต่างด้าวที่ต้องเดินทางไป - กลับตามฤดูกาล (ม.64) จะมีขั้นตอนและเอกสารที่ต้องใช้น้อยอยู่ เนื่องจากเข้ามาทำงานในระยะเวลาสั้น ๆ ไม่เกิน 3 เดือน
หน้าที่ของ “นายจ้างแรงงานต่างด้าว” ต้องทำอะไรบ้าง ?
หลังรับแรงงานต่างด้าวเข้าทำงานแล้ว นายจ้างยังมีหน้าที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ดังนี้
แจ้งการจ้างงานและเลิกจ้างต่อนายทะเบียน โดยต้องแจ้งถึงลักษณะการทำงานภายใน 15 วันนับจากที่รับแรงงานต่างด้าวเข้าทำงาน นอกจากนี้นายจ้างยังต้องแจ้งการออกจากงานของแรงงานต่างด้าวกับนายทะเบียนภายใน 15 วัน เช่นกัน พร้อมระบุสาเหตุที่ออกจากงาน
ดูแลสิทธิความปลอดภัยของแรงงานต่างด้าวให้ครบถ้วน โดยแรงงานต่างด้าวก็ได้รับสิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจ้างแรงงานต่างด้าวด้วย ได้แก่
- สิทธิในการได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่าค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด
- สิทธิในเวลาทำงานและพักผ่อน โดยทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน หรือ 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีเวลาพักอย่าง 1 ชั่วโมงเมื่อทำงานเกิน 5 ชั่วโมง และได้รับเงินค่าล่วงเวลา
- สิทธิในการลาหยุด เช่น วันหยุดประจำสัปดาห์อย่างน้อย 1 วัน วันหยุดตามประเพณีต่าง ๆ อย่างน้อย 13 วันต่อปี รวมวันแรงงาน วันลาพักร้อนหลังทำงานครบ 1 ปี วันลาป่วยตามความจำเป็น
- สิทธิในการได้รับความคุ้มครองสุขภาพ แรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนถูกต้อง จะได้รับการคุ้มครองจากประกันสังคม หรือประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว (นายจ้างหรือแรงงานต่าวด้าวสามารถทำแยกมีทั้งของเอกชนและโดยกระทรวงสาธารณสุข) มีสิทธิรับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลที่กำหนด
- สิทธิในการได้รับความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน นายจ่างต้องจัดสถานที่ทำงานที่ปลอดภัย มีอุปกรณ์ป้องกันอันตราย หากบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ตัวแรงงานต่างด้าวหรือครอบครัวต้องได้รับเงินชดเชย
- สิทธิการเลิกจ้างและค่าชดเชย แรงงานต่างด้าวมีสิทธิเหมือนแรงงานไทยในการได้รับเงินชดเชยจากการถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด และการเลิกจ้างโดยไม่บอกล่วงหน้า
ห้ามดำเนินการเกี่ยวกับการจ้างแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย นายจ้างห้ามรับแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตเข้าทำงาน ห้ามให้ทำงานนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตทำงาน และห้ามยึดใบอนุญาตทำงานหรือเอกสารสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว
การจ้างแรงงานต่างด้าวอย่างถูกต้องตามกฎหมายนั้นช่วยให้นายจ้างได้ประโยชน์มากมาย ทั้งได้คนทำงานที่มีคุณภาพตามความต้องการ สามารถตรวจสอบที่มาของแรงงานได้หากประสบปัญหา นอกจากนี้หากมีการวางแผนสำหรับการจ้างงานอย่างถูกต้องจึงช่วยให้แผนการดำเนินการจ้างงานและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
อ้างอิง
- พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
- กรมจัดหางาน