เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นที่ห้างสรรพสินค้ากลางเมือง ใครคนหนึ่งจับจ่ายเงินอย่างที่เขาทำทุกสัปดาห์เพื่อสร้างความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นอาหารการกินจนถึงกระเป๋าแบรนด์เนมตามไลฟ์สไตล์ของคนเมือง ทว่าบางสิ่งบางอย่างพลันเกิดขึ้น
“บอสแจ็คกี้" สิทธิพงษ์ ประเสริฐนิกรกุล เจ้าของสโมสรวอลเลย์บอล “ประเสริฐนิกรกุล” (PSNKK CLUB) ไม่อยากใช้ชีวิตทุกเสาร์ – อาทิตย์แบบนี้อีก จึงเกิดเป็นสโมสรวอลเลย์บอล จากคนชอบดู กลายเป็นเจ้าของทีม เพียง 3 ปี ทีมเล็ก ๆ ก็พัฒนาสู่ทีมใหญ่ จนก้าวสู่ “แชมป์วอลเลย์บอลสาวเหล็ก 2024” ที่ผ่านมาได้สำเร็จ มากกว่านั้น ยังพาทีมชุดใหญ่จบอันดับ 3 ของวอลเลย์บอลไทยแลนด์ลีก 2024 – 2025 อีกด้วย
Thai PBS จับเข่าพูดคุยกับ “โค้ชส้มโอ” หรือที่ลูกทีมรวมถึงประธานสโมสรเรียกเธอว่า “แม่ส้มโอ” นภัสภณ กริชยานนท์ ในฐานะโค้ช ผู้ช่วยโค้ช และตัวแทนของทีม จากวันที่ก่อตั้ง ถึงวันที่ให้โอกาสเด็กนักกีฬามากมาย สู่วันที่ประสบความสำเร็จ ต้องผ่านอะไรมาบ้าง
นับหนึ่งจากความรักสู่การให้โอกาส
“เราเคยคุยกับแม่แจ็ค ประธานสโมสรประเสริฐนิกรกุล เรื่องจุดเริ่มต้นของการทำทีมจริง ๆ เกิดจากการที่แม่แจ็คเข้ากรุงเทพฯ ทุกอาทิตย์ เพื่อมาเที่ยว มาชอปปิงของแบรนด์เนม จนรู้สึกอิ่มตัว และอยากมอบโอกาสให้คนอื่นบ้าง” โค้ชส้มโอย้อนเล่าถึงวันแรก ๆ ของทีม PSNKK CLUB
นักธุรกิจที่มีธุรกิจหลากหลายในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ สนใจกีฬาวอลเลย์บอลในวัยเด็ก ทำให้หลายปีที่ผ่านมา ทางบริษัทได้เป็นผู้สนับสนุนให้ทีมวอลเลย์บอลหลายทีมด้วยกัน เมื่อความคิดที่อยากจะปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ในทุกเสาร์ - อาทิตย์ จากการเข้าเมืองมาค้นหาความสุข สู่การได้อยู่กับคนรักและให้โอกาสคนอื่น กระทั่งเบ่งบานกลายเป็นทีมวอลเลย์บอลที่มีโค้ชส้มโอเข้ามาปลุกปั้นในช่วงเริ่มแรก
“พี่แจ็คอยากมอบโอกาสให้น้อง ๆ และเราก็เห็นมาตลอดสามปี เขาหมดเม็ดเงินไปเยอะมาก เพราะการทำทีมมันไม่มีกำไร แต่มันคือแพสชันที่จริงจัง พอลงทุนเสร็จปุ๊บ เราก็ต้องวางแผนว่าสิ่งที่เราได้รับกลับมาคืออะไร แต่เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่เราให้ก็คือทางสโมสรมอบโอกาสให้น้อง ๆ ที่มีความสามารถและมีศักยภาพทางด้านกีฬาวอลเลย์บอล ซึ่งเป็นนโยบายที่ทางพี่แจ็คบอกกับเราตั้งแต่เริ่มต้น”
เมื่อเจาะลงไปในปัญหา เยาวชนเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่ออบายมุขหลากรูปแบบ ยาเสพติด การพนัน จนถึงอาชญากรรม แต่หากมีพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ได้ทำสิ่งที่ให้คุณค่ากับตัวเอง เส้นทางชีวิตอาจเปลี่ยนไป
“มีเคสที่พี่แจ็คเขาต้องดูแลส่งเรื่องเรียน หรือดูแลทุกอย่าง เพื่อให้โอกาสเด็กที่ทางบ้านไม่สามารถสนับสนุนเรื่องการเรียนได้ ซึ่งเด็กหลายคนมีความสามารถ มีศักยภาพ และเขาอยากเรียนด้วยแต่ขาดโอกาสเท่านั้น”
จากวันแรกที่ทีม PSNKK CLUB ลงทำการแข่งขัน มีบอสแจ็คกี้หรือแม่แจ็ค ทำหน้าที่ประธานสโมสร ส่วนโค้ชส้มโอ รับหน้าที่หลายบทบาท ทั้งดูแลเรื่องหลังบ้าน และเรื่องหน้างานในสนาม จนทีมเริ่มเดินสายแข่งขันเก็บประสบการณ์ ก่อนจะทำผลงานได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ประสานกับกลุ่มผู้เล่นอดีตทีมชาติ ที่มาช่วยให้ทีมน้องใหม่นี้กลายเป็นทีมที่ได้รับการจับตามองในวงการมากขึ้น
ระเบียบวินัยคือหัวใจของความสำเร็จ
จากทีมวอลเลย์บอลเดินสาย สู่ทีมระดับอาชีพที่เข้าร่วมศึกวอลเลย์บอลไทยแลนด์ลีก การพัฒนาอย่างเป็นระบบถือเป็นสิ่งสำคัญ โดยระยะเวลาเพียง 3 ปี ทีมเดินสายทีมนี้ได้ปูรากฐานสู่การเป็นทีมวอลเลย์บอลระดับอาชีพของประเทศ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย
“ทุกอย่างไม่ได้เกิดขึ้นแบบปุบปับ ทุกอย่างมีการวางแผน เวลาเราจะทำอะไร เราต้องคาดหวังว่าสิ่งที่จะได้รับกลับมา เพราะทุกอย่างคือการลงทุน” โค้ชส้มโอเล่าถึงเบื้องหลังความสำเร็จ โดยหัวใจสำคัญหนึ่งคือ ระเบียบวินัย
เพราะการทำทีมกีฬาคือการต้องรวมผู้คนที่มีความหลากหลายเข้าไว้ด้วยกัน เรื่องระเบียบวินัย จึงมีความจำเป็น และต้องเกิดขึ้นผ่านข้อตกลงของการอยู่ร่วมกัน
การที่เรามีสโมสรที่ทุกคนอยู่ด้วยกันได้ ต้องมีกฎระเบียบและแนวทางปฏิบัติที่หากทำได้แล้ว เราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขและสโมรสก็เดินไปข้างหน้าได้ด้วย
ระเบียบวินัยมีตั้งแต่ระดับของความร่วมมือจนถึงกฎเหล็กต้องห้าม โค้ชส้มโอเผยถึงประสบการณ์คุมทีมเยาวชนและมองว่า เด็ก ๆ ยุคนี้มักมีโลกส่วนตัวสูง ยิ่งมีมือถือ มีเกม ยิ่งใช้เวลากับโลกส่วนตัวมากขึ้น หากเรื่องวินัยไม่ผ่าน เวลาพักผ่อนจะไม่เพียงพอสำหรับการเป็นนักกีฬา
“ความยากของการทำทีมกีฬาคือการรวมตัว ต่างคนก็ต่างที่มาและมีความคิดเป็นของตัวเอง ยิ่งเป็นนักกีฬาเยาวชน ยิ่งมีโลกส่วนตัวสูง สิ่งที่อยู่กับเขามากที่สุดคือโทรศัพท์มือถือ รองลงมาคือเกม เราไม่ได้ปิดกั้นเรื่องการใช้โทรศัพท์ แต่ต้องรู้จักเวลา ส่วนฝึกซ้อมต้องเต็มที่ เวลาพักผ่อนต้องเพียงพอ และเมื่อถึงเวลาส่วนตัวเราก็ไม่เคยก้าวก่าย”
สปิริตคือหัวใจที่ทำให้ผู้คนหลงรัก
หากระเบียบวินัยคือหัวใจของความสำเร็จสำหรับทีมกีฬา สิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือ สปิริต การทุ่มเทอย่างเต็มที่ย่อมทำให้เกิดผลงานที่ดี และทำให้ผู้คนหลงรัก และนี่คือหัวใจของทีมกีฬาในระดับอาชีพที่ต้องเล่นเพื่อคนดู เป็นการเล่นที่มากกว่าเพื่อความสุขของตัวเอง
“เราสอนนักกีฬาทุกคนเสมอว่า เราต้องแพ้ให้เป็น และชนะอย่างสมศักดิ์ศรี เวลาเราแพ้ ใครเราก็ต้องยินดีกับคนที่ชนะ เพราะเวลาเราชนะ เราก็อยากให้คนร่วมยินดีกับเราเช่นกัน”
ช่วงเวลาที่ยากที่สุดของการทำทีมคือเส้นทางการทำทีมสู่ไทยแลนด์ลีก ทุกอย่างค่อย ๆ ถูกวางแผน ผ่านการปรึกษากันระหว่างทีมงานเบื้องหลังจนถึงประธานสโมสร มีทะเลาะกันบ้างในแนวทาง แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่มีความสุข
“เวลามีอะไรเราก็ปรึกษา วางแผนในการทำงานร่วมกัน บางครั้งทะเลาะกันบ้าง น้อยใจกันบ้าง ตามประสาคนแก่ขี้น้อยใจ” โค้ชส้มโอเล่าพลางหัวเราะ
“ช่วงที่ยากที่สุดคือช่วงที่เริ่มต้นทำทีมแข่งในไทยแลนด์ลีก เพราะไม่ใช่เรื่องที่เราทำเพื่อความสนุก แต่มันมีความคาดหวังร่วมด้วย เราต้องเล่นเพื่อผู้ชม แต่ก็มีความสุข เพราะคนดูซื้อตั๋วมาเพื่อดูเรา เราต้องให้เกียรติคนดู สปิริตนักกีฬาต้องมี ต้องเล่นให้สมศักดิ์ศรี ต้องมีศรัทธา มีแพสชันในการเล่นวอลเลย์บอลของตัวเอง”
ถ้านักกีฬาไม่มีมีแพสชัน ไม่มีทางที่จะทำให้ทีมประสบความสำเร็จ อย่าลืมว่ากีฬาวอลเลย์บอลเป็นกีฬาที่เล่นเป็นทีม ไม่มีทางที่ใครจะเก่งคนเดียวแล้วทำได้ทุกอย่าง มันคือฟันเฟืองที่ประกอบกัน จนทำให้ทีมประสบความสำเร็จ
เมื่อย้อนกลับไปในวันแรก ๆ ทีมเริ่มต้นด้วยกองเชียร์ที่เป็นคนกันเอง ยอดไลก์มาจากนักกีฬาและทีมงาน ทีม PSNKK CLUB ค่อย ๆ เก็บเอาชื่อเสียงและความนิยม เดินสายคว้าแชมป์ทีละรายการ จนเป็นที่รู้จักทั่วประเทศ
“จากคนติดตาม 10 – 20 คน เมื่อสามปีที่แล้ว จนทุกวันนี้มีแฟนคลับชาวต่างชาติให้ความสนใจ มีแฟนคลับชาวลาวที่เชียร์เรา ล่าสุดเป็นชาวนอร์เวย์ ส่งจดหมายมาชื่นชม อยากมาดูเราแข่ง บางคนอยากร่วมทีม มีคนในยุโรปหรือแถบสแกนดิเนเวียเข้ามารู้จักเราจริง ๆ มาซัพพอร์ตเรา มาซื้อเสื้อ มาตามเชียร์”
ความหลากหลายทางเพศในแวดวงกีฬา จากวันที่ปิดกั้นสู่วันที่เปิดรับ
วอลเลย์บอลสาวเหล็ก 2568 ที่กำลังจะเปิดฉากในวันที่ 11 พ.ค.68 นอกจากความเร้าใจของการแข่งขันวอลเลย์บอลแล้ว ยังมีความสนุกสนานจากสีสันการแสดงออกของกลุ่มหลากหลายทางเพศ (Gender Diversity)
แต่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศกับวงการกีฬา ที่ผ่านมาหากย้อนเวลากลับไปในอดีต ยังไม่เป็นที่ยอมรับนัก โดยเฉพาะหากย้อนไปในช่วงเวลาที่โค้ชส้มโอยังเป็นนักกีฬาวอลเลย์บอลอยู่
“ในยุคสมัยนั้นมีนักกีฬาวอลเลย์บอลที่เป็นเพศทางเลือกเยอะ แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ นักกีฬาวอลเลย์บอลฝีมือดีแต่เวลาอยู่ในทีมชาติ คุณทำเพื่อชาติ ต้องรักษาภาพลักษณ์ให้ชาติด้วย”
ยุคที่ความหลากหลายทางเพศยังไม่เป็นที่ยอมรับ เพียงไว้ผมยาวอาจถูกนำมาล้อเลียน ซึ่งในชีวิตของโค้ชส้มโอก็ประสบกับเรื่องราวเหล่านี้ แถมเจ้าตัวยังมีอีกบทบาทในชีวิตของการเป็นลูกชายคนโตในครอบครัวคนจีน เรื่องความหลากหลายทางเพศถือเป็นสิ่งต้องห้าม
“เอ็งทำอะไร รู้ไหมอายคนเขา เอ็งไม่ห่วงป๊าบ้างเลย จะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน” โค้ชส้มโอย้อนเล่าถึงประโยคของพ่อ หลังทราบว่าเขาแอบแต่งหญิงออกไปเที่ยว “มันเป็นคำพูดที่ทำให้เรารู้สึกผิดมาก ผิดที่ฉันเกิดมาเป็นแบบนี้ เคยตั้งคำถามกับตัวเอง ทำไมเวลาฉันไปไหน ฉันถึงเป็นตัวตนของตัวเองไม่ได้”
โค้ชส้มโอผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นมาด้วยความพยายามเป็นตัวเองอย่างดีที่สุด เขาดูแลชีวิตตัวเองให้ดี ทั้งไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดทุกชนิด ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ และเดินหน้าสู่ความเป็นนักกีฬาอย่างจริงจังตั้งแต่อายุ 12 ปี
“เรารักในวอลเลย์บอล เป็นกีฬาแรกที่เล่น เคยลองตะกร้อแล้ว เตะฟุตบอลแล้วก็ไม่ใช่ฉัน ฉันรักวอลเลย์บอล ชอบมัน หลงใหลมัน มันเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต”
ชีวิตนักกีฬาของโค้ชส้มโอเริ่มต้นตั้งแต่ประเทศไทยยังไม่มีลีกวอลเลย์บอล โชคดีที่ครอบครัวสนับสนุนเรื่องการเงิน ทำให้เธอสามารถใช้ชีวิตในฐานะนักวอลเลย์บอลได้อย่างเต็มที่ แต่การเป็นนักกีฬาวอลเลย์บอลกลับสิ้นสุดลงจากอาการบาดเจ็บที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
“รายการสุดท้ายที่เล่นน่าจะอายุ 33 – 34 ปี ได้รางวัลมือเซ็ตยอดเยี่ยมประจำรายการนั้น แต่โชคร้ายมีอาการเจ็บที่เข่า มันเจ็บจนขับรถไม่ได้แล้ว ถ้าไม่หยุดเล่นอาจจะถึงขั้นต้องนั่งวีลแชร์ไปตลอดชีวิต เราเลยไม่ฝืนแล้ว ลองเปลี่ยนเป้าหมายจากการเป็นนักกีฬามาดูเขาเล่นก็มีความสุขเหมือนกัน สุดท้ายจึงเปลี่ยนบทบาทตัวเอง ผันตัวมาเป็นโค้ช”
จากนักกีฬา มาสู่ความเป็นโค้ช โค้ชส้มโอมองว่า ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นวงการหรืออาชีพใด ค่อนข้างเปิดรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น โอกาสกลายเป็นของคนที่มีความสามารถ ท่ามกลางพื้นที่ที่อนุญาตให้แสดงตัวตนที่แท้จริงของตัวเองได้
“ยุคนี้เปิดมากแล้ว ไม่ว่าคุณจะเป็นเพศอะไร ขอให้คุณมีความสามารถ คุณแสดงตัวตนได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องปกปิดอีกต่อไป การเล่นกีฬาต้องเล่นอย่างมีความสุข เล่นกีฬาแต่ไม่ได้เป็นตัวเอง ถามว่าความสุขมันอยู่ตรงไหน การได้เป็นตัวเองบนสนามแข่งขันถือเป็นความสุขอย่างแท้จริง”
ในโลกของกีฬา ความหลากหลายทางเพศมีข้อถกเถียงกันหลายข้อ ทั้งความเป็นชาย - หญิง หรือการแยกประเภทเป็นกลุ่มเพศทางเลือกเท่านั้น โค้ชส้มโอมองผ่านประสบการณ์ตัวอว่า เพศในกีฬา ควรมีความเรียบง่าย แบ่งเพียงแค่ 2 เพศ แต่ให้โอกาสกับผู้มีความสามารถอย่างเท่าเทียม
การแยกประเภทเพื่อเพิ่มพื้นที่การแสดงออก ถือเป็นเรื่องดี แต่ส่วนตัวแล้วยังอยากให้ทุกคนสามารถเข้าร่วมการแข่งขันได้ตามเพศของตัวเอง ไม่ว่าจะเพศอะไร ถ้าเรามีความสามารถ เราแค่เข้ารับการคัดเลือก และใช้ความสามารถของเราเท่านั้นเอง
จากวันแรกของ PSNKK CLUB ที่เริ่มต้นด้วยความรักสู่การให้โอกาส และเป็นโอกาสที่เปิดให้ทุกคนรวมถึงผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศได้มีพื้นที่แสดงความสามารถของตัวเอง เวลาเพียง 3 ปี ทีละก้าวสู่ความสำเร็จ จากแพชชั่น ระเบียบวินัย สปิริตและการได้เป็นตัวเอง นำไปสู่บทสรุปของการเป็นที่รักของผู้คนได้